กรมสุขภาพจิตเผยไฟใต้ทำ จนท.เครียด-ปชช.ผวาจนชิน

วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่โรงแรมบีพี สมิหลาบีช จ.สงขลา กรมสุขภาพจิตร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยทักษิณ

จัดประชุมวิชาการวิกฤตสุขภาพจิตระดับชาติ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2551 เรื่อง “ฝ่าวิกฤตชายแดนใต้ เพื่อสร้างแรงใจและสันติสุข” มีการบรรยายเสนอผลงานวิชาการและนิทรรศการของนักวิชาการจากกรมสุขภาพจิต มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน มีผู้เข้าร่วมประชุม ประมาณ 500 คน จากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงมหาดไทย ระหว่างวันที่ 25-27 มิ.ย.


 นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า

จากข้อมูลสถานการณ์การเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำเดือน ม.ค. 2550- มี.ค. 2551 พบว่า เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงรวม 1,391 ครั้ง สถานที่เกิดเหตุการณ์ สูงสุด 3 อันดับ คือ บนถนน  บ้านที่อยู่อาศัยส่วนตัว และสถานที่ค้าขายสินค้าและบริการ มีจำนวนผู้บาดเจ็บ 2,763 ราย  เสียชีวิต 735 คน  จังหวัดที่มีอัตราการบาดเจ็บและตายสูงสุด 3 อันดับ คือ จ.ยะลา  นราธิวาส  และ ปัตตานี กลุ่มอายุที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์สูงสุด คือ กลุ่มอายุ 45-59 ปี เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง นับถือศาสนาพุทธ  อาชีพที่เสียชีวิต สูงสุด 3 อันดับ คือ ทหาร เกษตรกร และตำรวจ  สาเหตุที่ทำให้บาดเจ็บสูงสุด  คือ ถูกทำร้ายโดยอาวุธปืน 1,135 ราย เสียชีวิต จำนวน 556 ราย ถูกทำร้ายโดยวัตถุระเบิด 921 ราย เสียชีวิต 65 ราย และใช้ระยะเวลาในการรักษาตัวในโรงพยาบาลรวม 5,895 วัน    เป็นค่าใช้จ่ายรวม 15,503,186 บาท


อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า

สำหรับสภาพจิตใจของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทหาร ตำรวจ และครู ค่อนข้างมีความเครียดตลอดเวลา เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานแต่ละกลุ่มมีความหวาดระแวงสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในขณะที่พี่น้องประชาชนทั่วไป มีความเครียดค่อนข้างต่ำ เนื่องจากสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินโครงการฟื้นคืนสภาพ  เสริมสร้างความเข้มแข็งของจิตใจ โดยมีกิจกรรม เช่น ชีวิตสดใสพลังใจเข้มแข็ง ซึ่งให้การช่วยเหลือในภาพรวม ส่วนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงได้ให้การช่วยเหลือเป็นราย ๆ เช่น ให้บริการปรึกษา ให้การปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้น การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ


“การให้ความช่วยเหลือไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกพื้นที่  เนื่องจากพื้นที่สีแดง ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ยังหวาดผวา หวาดกลัวเมื่อต้องออกไปประกอบอาชีพ ดังนั้นในพื้นที่สีแดงยังคงต้องอาศัยอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ และผู้นำชุมชน ช่วยกันดูแลจิตใจ โดยกรมสุขภาพจิตสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านสุขภาพจิต ให้สามารถปรับตัวและดำเนินชีวิตอยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นได้อย่างมีความมั่นคงทางจิตใจ” นพ.ม.ล.สมชาย กล่าว


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์