ในที่สุดคนขับรถแท็กซี่ก็ได้เฮ เมื่อกระทรวงคมนาคม อนุมัติให้รถแท็กซี่มิเตอร์ปรับขึ้นราคาค่าบริการได้ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นแก่ผู้ขับรถแท็กซี่
การอนุมัติดังกล่าว จะมีผลก็ต่อเมื่อมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะลงประกาศได้ภายในสัปดาห์นี้
โดยรายละเอียดของการปรับขึ้นค่าโดยสาร คือ ระยะทาง 1 กม.แรก คิดค่าโดยสาร 35 บาท จากเดิมระยะทาง 2 กม.แรกคิด 35 บาท หลังจากนั้นจะขึ้นค่าโดยสาร กม.ละ 50 สตางต์ แบ่งเป็นระยะทาง กม.ที่ 2 ขึ้นไปถึง กม.ที่ 12 คิด กม.ละ 5 บาท จากเดิม 4.50 บาท ระยะทาง กม.ที่ 12 ขึ้นไปถึง กม.ที่ 20 คิด กม.ละ 5.50 บาท จากเดิม 5 บาท ระยะทาง กม.ที่ 20 ขึ้นไปถึง กม.ที่ 40 คิด กม.ละ 6 บาท จากเดิม 5.50 บาท ระยะทาง กม.ที่ 40 ขึ้นไปถึง กม.ที่ 60 คิด กม.ละ 6.50 บาท จากเดิม 6 บาท ระยะทาง กม.ที่ 60 ขึ้นไปถึง กม.ที่ 80 คิด กม.ละ 7.50 บาท จากเดิม 7 บาท และระยะทาง กม.ที่ 80 ขึ้นไปคิด กม.ละ 8.50 บาท จากเดิม 8 บาท ซึ่งในกรณีที่รถติดจะคิดค่าโดยสารนาทีละ 1.50 บาท จากเดิม 1.25 บาท หากเรียกใช้บริการจากศูนย์แท็กซี่ต้องจ่ายเพิ่มจากราคาที่มิเตอร์ 20 บาท และต้องจ่ายเพิ่มอีก 50 บาท หากเรียกจากท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สำหรับการจ้างเดินทางไปต่างจังหวัดก็ให้ใช้ราคาตามมิเตอร์ ห้ามคิดเป็นราคาเหมา
เมื่อนำมาคำนวณค่าโดยสารอัตราใหม่เทียบกับราคาเดิม พบว่า ราคาใหม่จะแพงขึ้นจากราคาเดิมเป็นขั้น ๆ และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ในช่วง 5-15 บาท ยิ่งวิ่งระยะทางไกลก็จะต้องจ่ายแพงขึ้น ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร (ดูตาราง)
นายชัยรัตน์ สงวนชื่อ รักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า การปรับค่าโดยสารรถแท็กซี่ครั้งนี้ ประชาชนจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาเที่ยวละ 5-8 บาทเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่จะนั่งแท็กซี่ช่วงระยะสั้นตั้งแต่ 2-12 กม. ถือว่าไม่มาก ซึ่งการขึ้นค่าโดยสารครั้งนี้ถือว่าเหมาะสมแล้ว แม้ว่าแท็กซี่ที่วิ่งให้บริการในปัจจุบันประมาณ 65,000 คัน จะเป็นรถใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงทั้งหมด แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ปรับราคามานานมากแล้วตั้งเดือน พ.ย. 2539 จนถึงวันนี้ผ่านมากว่า 12 ปีแล้ว จนราคาก๊าซแอลพีจีขยับตัวสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ในช่วงภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าเช่ารถ ค่าเชื้อเพลิง ค่าล้างรถ ค่าอาหารของผู้ขับขี่แท็กซี่สูงขึ้นด้วย รวมเฉลี่ยตกกะละ 1,500 บาท ซึ่งเป็นค่าเชื้อเพลิงประมาณ 300-500 บาท ค่าเช่ารถประมาณ 500 บาท เมื่อมีการปรับอัตราค่าโดยสารใหม่ ทำให้ผู้ขับขี่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงวันละ 100 บาท หรือราว ๆ 3,000-4,000 บาทต่อเดือน ก็สามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ในระดับหนึ่ง
นายชัยรัตน์ กล่าวต่อว่า หลังจากประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร
สำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI-METER) ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ผู้ขับขี่รถแท็กซี่มิเตอร์สามารถนำมิเตอร์ไปจูนโปรแกรมราคาค่าโดยสารใหม่ และต้องให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตรวจสอบรับรองมิเตอร์ก่อนจึงจะออกวิ่งรับผู้โดยสารได้ โดยแท็กซี่ที่ผ่านการตรวจรับรองจะมีตราประทับที่บริเวณสลักของมิเตอร์และจะมีสติกเกอร์รับรองมิเตอร์ติดอยู่ที่ประตูรถให้ผู้โดยสารเห็นเด่นชัด ทั้งนี้ผู้ขับขี่รายใดจะไม่นำมิเตอร์ไปจูนใหม่ โดยจะเก็บค่าโดยสารตามอัตรามิเตอร์เก่าก็ได้ แต่ห้ามบวกราคาเพิ่มเองจากมิเตอร์เก่า เพราะถือว่ามีความผิดที่เก็บค่าโดยสารเกินจากราคามิเตอร์ สำหรับการนำมิเตอร์ไปจูนใหม่จะใช้เวลาคันละ 20 นาที โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจูน 500-600 บาท
การปรับขึ้นค่าแท็กซี่ครั้งนี้ แม้หน่วยงานภาครัฐจะมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าเหมาะสม และยืนยันว่าผู้โดยสารจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเพียงเล็กน้อย
แต่ในความรู้สึกของประชาชนที่อยู่ในสภาวะข้าวยากหมากแพงที่ของทุกอย่างยกพาเหรดกันขึ้นราคา จะเห็นด้วยหรือไม่ หากคนนั่งแท็กซี่รับภาระไม่ไหว ปรับพฤติกรรมไปนั่งรถเมล์แทน ความหวังที่แท็กซี่จะมีรายได้เพิ่มคงไม่เป็นอย่างที่คิด ดีไม่ดีจะกลายเป็นการซ้ำเติมทั้งผู้โดยสารและคนขับแท็กซี่.