ผลสำรวจของเอ็นจีโอในสหรัฐ ที่เผยแพร่เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลกในวันนี้ ระบุว่า
ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีการละเมิดสิทธิของผู้ลี้ภัยมากที่สุดในโลก
(20มิ.ย.) จากผลการสำรวจผู้ลี้ภัยโลกประจำปี 2551 ของคณะกรรมการผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ หรือ ยูเอสซี อาร์ไอ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนของสหรัฐ ที่เผยแพร่เมื่อวานนี้ก่อนวันผู้ลี้ภัยโลก ระบุให้ จีน อินเดีย มาเลเซีย ไทยและบังคลาเทศ อยู่ใน 10 ประเทศที่ละเมิดสิทธิผู้ลี้ภัยอย่างเลวร้ายที่สุดเมื่อปีที่แล้ว ร่วมกับอิรัก เคนย่า รัสเซีย ซูดาน และยุโรป
โดยในรายงานผลการสำรวจได้จัดระดับประเทศเหล่านี้ตั้งแต่ เอ ไปจนถึง เอฟ ซึ่งไทย จีน และมาเลเซีย ถูกจัดอยู่ในประเทศที่ได้เกรดเอฟ ซึ่งเป็นระดับเลวร้ายที่สุด จากการบีบบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยให้ไปอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิต และไม่ได้ให้ความคุ้มครองทางกายแก่ผู้ลี้ภัย
ผู้อำนวยการ ยูเอสซีอาร์ไอ เมอร์ริล สมิธบอกว่า มีรายงานว่า
ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือบางคนที่ถูกจีนส่งกลับประเทศถูกประหารชีวิต ส่วนที่มาเลเซีย ได้มีการบังคับส่งผู้ลี้ภัยจากพม่ามายังไทย ซึ่งบางคนถูกนำมาขายต่อเป็นทาส ผู้ชายจะถูกขายไปทำงานในเรือประมง ส่วนผู้หญิงจะถูกขายให้ซ่องโสเภณีในไทย ขณะที่ไทยก็มีการบังคับส่งกลับผู้อพยพชาวพม่าและลาว
ไทย มาเลเซีย บังคลาเทศและจีน ยังได้เกรดเอฟ ในเรื่องการจับกุมผู้ลี้ภัย และการเข้าถึงกระบวนการศาล นอกจากนี้ ไทย และบังคลาเทศยังได้เกรดเอฟในเรื่องเสรีภาพการเคลื่อนไหวของผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะไทยที่กักบริเวณผู้ลี้ภัย 140,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าและลาว ไว้ในค่ายผู้อพยพ
ขณะที่เนปาล มาเลเซีย และบังคลาเทศก็ได้เกรดเอฟจากการที่รัฐบาลไม่ยอมให้ผู้ลี้ภัยทำงานหาเงินเพื่อดำรงชีวิต
ผลสำรวจระบุด้วยว่า
จำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลกจนถึงเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านคน ซึ่งนับว่ามากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมื่อปีที่แล้วมีผู้ลี้ภัยชาวอิรักกว่า 550,000 คน หลบหนีออกจากประเทศ นอกจากนี้ยังมีชาวอิรักอีกกว่า 2 ล้านคนที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานออกจากบ้านเรือนเพื่อหลบหนีความรุนแรง