..."บุหรี่" ชนิดนี้ไม่มีใบยาสูบเป็นสารผสม มีแต่สารนิโคติน และสารเคมีโพรไพลีนไกลคอลซึ่งบรรจุในรูปแท่ง (cartridge) ควบคุมโดย อิเล็กทรอนิกส์ขนาดจิ๋ว และเทคโนโลยีอะตอม เมื่อผู้สูบสูดบุหรี่ชนิดนี้ ลมจะถูกดูดผ่านเข้าไป...
คอลัมน์ Active Opinion
มีรายงานการเปิดตัวสินค้าใหม่ "บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์" โดยบริษัท โกลเด้น ดรากอน (โฮลดิ้ง) จำกัด (Golden Dragon) เป็นครั้งแรกของโลก ที่เกาะฮ่องกง หวังเจาะกลุ่มคนที่ต้องการเลิกบุหรี่ โดยเฉพาะคนจีนที่ติดบุหรี่สูบกันชนิดมวนต่อวัน นับเป็นหลายซองต่อวัน เนื่องจากตลาดของบุหรี่ถูกต่อต้าน ด้วยเหตุผลของความต้องการสุขภาพที่ดี และค่อยๆ ปิดพื้นที่สกปรกจากมลพิษควันสารพิษดังกล่าว
แต่ไม่ยอมเสียรายได้จากตลาดบุหรี่ที่ทำเงินมหาศาล
งานนี้เพื่อให้รู้เท่าทันบริษัท และพิษภัยตัวใหม่ของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย จึงต้องศึกษาและนำเรื่องมาเล่าแจ้งแถลงไขถึงภัยคุกคามต่อสุขภาพคนไทย แม้ชิ้นงานโฆษณาบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์จะประกาศว่า เพื่อสนองความอยากสิงห์อมควันที่คิดกลับใจ สูบได้เหมือนจริง มีควันพวยพุ่ง แต่ ! ไม่เป็นอันตรายไร้สารนิโคตินก็ตาม
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบต่างๆ ในประเทศไทยได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง "บารากู่"
ปรากฏโฉมเมื่อเดือนมกราคม 2546 ปีถัดมา "บุหรี่ชูรส" เข้ามาเกณฑ์เยาวชนไทยเข้ามาเป็นนักสูบหน้าใหม่ จนบัดนี้นับเป็นเวลา 4-5 ปีแล้วก็ยังไม่ได้กำจัดกัน ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย
เจ้าพ่อต้านบุหรี่ เช่น นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบัน จึงต้องออกมากล่าวว่า
เป็นความเคลื่อนไหวที่จะนำ "อิเล็กทรอนิกส์" (Electronic หรือ E-cigarettes) เข้ามาในไทย อิเล็กทรอนิกส์นี้เริ่มประดิษฐ์คิดค้นในประเทศจีน โดยบริษัท Ruyan ได้แพร่หลายไปทั่วโลกในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา "บุหรี่" ชนิดนี้ไม่มีใบยาสูบเป็นสารผสม มีแต่สารนิโคติน และสารเคมีโพรไพลีนไกลคอลซึ่งบรรจุในรูปแท่ง (cartridge) ควบคุมโดย อิเล็กทรอนิกส์ขนาดจิ๋ว และเทคโนโลยีอะตอม เมื่อผู้สูบสูดบุหรี่ชนิดนี้ ลมจะถูกดูดผ่านเข้าไป การผสมโพรไพลีนไกลคอลเข้าไปก็เพื่อให้ดูคล้ายควันบุหรี่ ชุดบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์นี้มีแบตเตอรี่สำหรับอัดไฟไว้ในเครื่องเพื่อใช้งานเมื่อเจ้าของต้องการสูบ แท่ง (cartridge) แต่ละแท่งบรรจุนิโคติน 18 มิลลิกรัม (มก.) เทียบกับบุหรี่ทั่วไป 1 มวน จะมีนิโคติน 1.2 มก. เจ้าของผลิตภัณฑ์นี้อ้างความดีของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ คือ ไม่มีควันที่มีกลิ่น ลมหายใจผู้สูบไม่มีกลิ่น ฟันไม่เหลือง ไม่มีควันบุหรี่มือสอง ที่สำคัญคือไม่มีสารทาร์ สารพิษ หรือสารก่อมะเร็งและไม่มีเปลวไฟ ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นความจริง เพราะบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ไม่มีใบยาสูบเป็นส่วนประกอบ
คุณหมอหทัยจับผิดผู้ผลิตดังกล่าวว่า
พูดความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะสารนิโคตินในแต่ละแท่งที่ผลิตออกมานั้นมีมากถึง 18 มก. และไม่สามารถทราบได้ว่าผู้สูบจะได้นิโคตินเข้าไปในตัวจำนวนมากน้อยเท่าไร ในการสูบแต่ละครั้งหรือแต่ละวัน ที่สำคัญคือ นิโคตินเป็นสารเสพติดที่มีฤทธิ์สูงเท่าเฮโรอีน และโคเคน เป็นสารที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดอย่างกว้างขวางในหลายอวัยวะ
ในระยะหลังนี้ผู้ผลิตได้นำสารชูรสเข้ามาผสมด้วย โดยจะมีสารสังเคราะห์จากผลไม้ สมุนไพร และอื่นๆ แสดงว่าต้องการ "ล่า" เยาวชนกลุ่มเป้าหมายหลัก
เพื่อร่วมกันดูแล ปกป้องลูกหลานไทย คุณหมอหทัยวอนขอผู้บริหารประเทศว่า ผลิตภัณฑ์นี้ยังมิได้ผ่านการวิจัยอย่างเป็นระบบ จึงไม่ควรอนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายอย่างเด็ดขาด และเชิญชวนให้พ่อแม่ ครอบครัวใส่ใจดูแลลูกหลานอย่าให้ตกเป็นเบี้ยในกระดานของบริษัทบุหรี่ทั้งหลาย เพราะไม่เห็นประโยชน์สักกระผีกที่จะสูบบุหรี่ไม่ว่าชนิดไหน รสชาติใด
เก๋ เท่ แก้เครียดน่ะหรือ ...อย่าไปเชื่อ สูบแล้วไม่คุ้มกับหลายๆ ส่วนของอวัยวะที่ต้องถูกกัดกิน ให้ผุกร่อน และยังทำร้ายคนรอบข้าง คนที่รักด้วย ...โปรดตรองก่อนเถิด