สธ.เตือนภัยด้วงก้นกระดกพิษร้ายผิวหนังอักเสบตาบอด



โฆษกกระทรวงสาธารณสุขเตือนภัย "ด้วงก้นกระดก" มีมากช่วงฤดูฝน

ระวังอย่าจับเล่น ตี หรือขยี้ จะถูกปล่อยสารอันตราย "เพเดอริน" ทำให้ปวดแสบปวดร้อน พุพอง รายที่แพ้รุนแรงอาจมีไข้ ปวดเส้นประสาทกล้ามเนื้อนานหลายเดือน หากพิษเข้าตาอาจตาบอดได้ แนะหากถูกพิษให้ใช้น้ำสะอาดแอมโมเนียเช็ดออกและรีบไปพบแพทย์


อันตรายจากแมลงตัวเล็กๆ ที่มีมากในช่วงฤดูฝนชนิดนี้ คือ ด้วงก้นกระดก หรือที่เรียกว่า ด้วงปีกสั้น หรือด้วงก้นงอน (Rove beetle) เปิดเผยจาก นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา

โฆษกกระทรวงสาธารณสุขว่า
 
ในช่วงฤดูฝนจะมีด้วงก้นกระดกชุกชุมกว่าฤดูอื่น ด้วงชนิดนี้เป็นแมลงที่มีประโยชน์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชตามธรรมชาติ แต่มีพิษชื่อว่า เพเดอริน (Paederin) อยู่ทั่วตัว การปล่อยน้ำพิษจะออกมาในกรณีที่ด้วงตกใจ ถูกตี ถูกบีบ หรือถูกบดขยี้ เป็นการป้องกันตัว ด้วง 1 ตัวจะมีสารพิษอยู่ในตัวประมาณ 0.025 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว เมื่อคนไปสัมผัสจะมีฤทธิ์ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อ ทำให้เกิดผื่นแพ้ต่อผิวหนังอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มีอาการอักเสบ แสบร้อน พุพอง มีรายงานผู้ป่วยทั้งในและต่างประเทศ แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต


 โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า
 
ด้วงชนิดนี้ชอบออกมาเล่นไฟในยามค่ำคืน ลักษณะด้วงก้นกระดกมีขนาดเล็ก ความยาวเพียง 4-7 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นแมลงตัวยาวๆ ส่วนหัวมีสีดำ ปีกสีน้ำเงินเข้ม ลำตัวมีสีดำสลับส้ม มักจะกระดกส่วนท้องขึ้นๆ ลงๆ เมื่อเกาะบนพื้น ชอบอาศัยตามกองมูลสัตว์ กองไม้และบินเข้ามาเล่นแสงไฟในบ้านเรือน พบด้วงชนิดนี้ได้ทั่วโลก มากที่สุดที่อเมริกาเหนือ ซึ่งมีถึง 3,100 ชนิด ในประเทศไทยคาดว่ามีประมาณ 20 ชนิด ตามปกติด้วงก้นกระดกจะไม่กัดหรือต่อยคน แต่คนจะได้รับพิษหากไปสัมผัส จับมาเล่น หรือตบตี บี้จนน้ำพิษแตกออกมา





หลังจากคนสัมผัสพิษ อาการจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณที่สัมผัสพิษ

โดยหลังสัมผัสใน 24 ชั่วโมงแรก ผิวจะมีผื่นแดง คัน แสบร้อนผิวหนัง และเกิดเป็นแผลพุพองภายใน 48 ชั่วโมง มีการอักเสบขยายวงใหญ่ขึ้น จากนั้นจึงตกสะเก็ดภายใน 8 วัน อาจทำให้เกิดแผลเป็นได้ ในรายที่เป็นรุนแรงผิวหนังจะอักเสบหลายแห่ง คล้ายงูสวัด อาจมีอาการไข้ ปวดเส้นประสาท ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน เป็นผื่น บวมแดงติดต่อกันหลายเดือน หากพิษเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้


 นพ.สุพรรณกล่าวว่า
 
จากการติดตามพิษของด้วงก้นกระดก ในไทยเคยมีรายงานระบาดใน พ.ศ.2536 พบในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในโรงงาน จ.สมุทรปราการ เกิดอาการผิวหนังอักเสบเฉียบพลัน มีผู้ป่วย 27 ราย ครั้งที่ 2 พบที่ จ.นครสวรรค์ ใน พ.ศ.2549 ที่หอพักนักศึกษาหญิง พบผู้ป่วย 113 ราย และพบที่ จ.พระนครศรีอยุธยา 30 ราย ในปีเดียวกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีผื่นแดงเป็นทางยาว ปวดแสบปวดร้อน ลักษณะคล้ายรอยไหม้ บางรายอักเสบจนเป็นตุ่มหนอง ส่วนที่ต่างประเทศเคยมีรายงานที่เมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ.2512 มีคนโดนพิษด้วงเกิดอาการรุนแรง 2,000 กว่าคน ที่อินเดียใน พ.ศ.2548 มีผู้ป่วย 123 คน  

 "ในการป้องกันด้วงก้นกระดก ขอให้ประชาชนระมัดระวัง โดยเฉพาะเด็กๆ อย่าจับด้วงมาเล่น ไม่ตบหรือตีเมื่อด้วงบินมาเกาะตามตัว หากถูกพิษให้ล้างด้วยน้ำเปล่า ฟอกสบู่ หรือเช็ดด้วยแอมโมเนีย และควรไปพบแพทย์" โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์