เปิดรับจำนำข้าว วันแรก 6 จังหวัด

จากการที่รัฐบาลมอบหมายให้ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทั่วประเทศ

เพื่อช่วยเหลือชาวเกษตรกรผลักดันให้ราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากขณะนี้ข้าวเปลือกนาปรังราคาตกต่ำเหลือตันละประมาณ 9,000 บาท จากที่ก่อนหน้านั้นเคยพุ่งทะลุถึงตันละ 12,000-15,000 บาท โดยให้เริ่มเปิดรับจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. เป็นต้นไปนั้น
นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ว่า การเปิดรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังในวันแรกคือวันที่ 15 มิ.ย.  ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง สำหรับบรรยากาศการเปิดรับจำนำข้าวเปลือกในวันแรกนั้น สามารถเปิดจุดรับจำนำข้าวได้ 6 จังหวัด คือ จ.พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท สุโขทัย นครปฐม สุพรรณบุรี และพิจิตร มีเกษตรกรนำข้าวมาจำนำไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี และยังเป็นการเตรียมความพร้อมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คาดว่าการเปิดรับจำนำข้าวเปลือกในวันต่อๆไป สถานการณ์และความพร้อมต่างๆจะดีขึ้น  

นายธีรพงษ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรบางรายมาหารือเพื่อขอปลูกข้าวนาปรังอีก 1 รอบ


โดยจะเริ่มเพาะปลูกทันทีหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวในรอบนี้แล้ว และคาดว่าจะเก็บเกี่ยวข้าวได้ในเดือน ก.ย. เพราะเห็นว่าขายข้าวได้ราคา ซึ่งได้คำแนะนำไปว่า การดำเนินการอะไร ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ที่สำคัญในช่วงเดือน ก.ค. และเดือน ส.ค. ของทุกปีเป็นช่วงน้ำหลากเกรงว่าจะเกิดน้ำท่วมได้แม้จะเป็นพื้นที่ในเขตชลประทานก็ตาม จึงขอให้เกษตรกรระมัดระวังเรื่องเหล่านี้ด้วย หากเกิดขาดทุนขึ้นมาจะกลายเป็นหนี้สิน
 

นายธีรพงษ์กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีกระแสข่าวออกมาว่าจะมีโรงสีข้าวบอยคอต ไม่เข้าร่วมโครงการนี้


ขอ ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริงเนื่องจากพิจารณาว่า โรงสีข้าว แห่งใดจะสามารถเข้าร่วมโครงการได้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงสีข้าวและคณะกรรมการพิจารณาในระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเป็นประธานในการพิจารณา ซึ่งล่าสุดมีโรงสีข้าวขอเข้าร่วมโครงการแล้ว 280-300 แห่ง ผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติแล้ว 186 แห่ง ในจำนวนนี้ คณะกรรมการพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการได้แล้ว 119 แห่ง และสามารถดำเนินการได้ ทันที 79 แห่ง ส่วนที่เหลือที่ยังไม่ได้อนุมัติ เพราะขาดคุณสมบัติ เช่น ขอเก็บข้าวที่รับจำนำในรอบนี้ไว้ในที่เดียวกับโครงการรับจำนำในอดีตที่ผ่านมา เป็นต้น
 

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า ในวันแรกของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในส่วนขององค์การคลังสินค้า (อคส.)

สามารถเปิดจุดรับจำนำได้ 5 จุด ใน 4 จังหวัดได้แก่ จ.นครปฐม 2 จุดที่โรงสีกิจประเสริฐ และโรงสีข้าวนิวัฒน์การเกษตร จ.พิจิตร 1 จุด ที่โรงสีข้าว สิงห์โตทองไรซ์เทรด จำกัด จ.พระนครศรีอยุธยา 1 จุด ที่โรงสีข้าวอยุธยาไรซ์มิลล์ และจ.สุโขทัยอีก 1 จุด ที่โรงสีข้าวโชคชัยธัญกิจ เนื่องจากการรับจำนำข้าวเปลือกในครั้งนี้ฉุกละหุก โรงสีข้าวบางแห่งที่สมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวยังไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติจากทางจังหวัด จึงไม่สามารถเปิดจุดรับจำนำได้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. เป็นต้นไป อคส.จะทยอยเปิดจุดรับจำนำข้าวเพิ่มขึ้นจนครบ 100 แห่ง ตามจำนวนโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับในพื้นที่ใดที่ยังไม่มีการเปิดจุดรับจำนำข้าวแนะนำให้เกษตรกรขนข้าวมาขายได้ในจุดรับจำนำที่เปิดไว้แล้วในพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนกรณีที่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ยังไม่สามารถเปิดรับจำนำข้าวได้ ในวันแรก เพราะยังไม่มีความพร้อม เนื่องจาก อ.ต.ก.หยุดรับจำนำข้าวไปตั้งแต่ปี 2546
 

ด้านนายวัฒนา รัตนวงศ์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า

มีโรงสีข้าวเข้าร่วมรับจำนำข้าวในครั้งนี้ทั้งหมดประมาณ 200 แห่ง โดยเข้าร่วมกับ อคส.และ อ.ต.ก.ในปริมาณใกล้เคียงกัน ในพื้นที่เป้าหมายคือภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน เช่น จ.พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ทั้งนี้ขอยืนยันว่าไม่มีการบอยคอตตามกระแสข่าวที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน และมั่นใจว่าการเปิดรับจำนำข้าวเปลือกในครั้งนี้จะไม่มีปัญหาเหมือนกับอดีตที่ผ่านมา 
 

ส่วนนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า


ได้ตรวจสถานการณ์ทั่วไปของการรับจำนำข้าววันแรก ชาวนาส่วนใหญ่จะพอใจในราคาที่ได้รับ โดยราคาข้าวเปลือกความชื้นที่ 25% ขายได้ที่ราคาตันละ 11,500 บาท ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ ขณะที่ราคารับจำนำข้าวเปลือกที่รัฐบาลประกาศตันละ 14,000 บาทนั้น ต้องมีความชื้น 15% ซึ่งส่วนใหญ่ข้าวที่ชาวนาเก็บเกี่ยวจะมีความชื้นสูง เพราะมีฝนตกในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม เรื่องการกำหนดเพดานวงเงินรับจำนำข้าวต่อรายสูงสุดไม่เกิน 350,000 บาทนั้น เป็นปัญหาสำหรับชาวนาบางรายที่ทำนาหลายไร่ จึงได้หารือกับนายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. แล้วได้ข้อสรุปว่า เกษตรกรรายใดที่มีข้าวเกินวงเงินดังกล่าว จะรายงานต่อคณะกรรมการรับจำนำข้าวระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานตรวจสอบว่าเป็นเกษตรกรที่มีที่นามากจริง เพื่ออนุมัติวงเงินเพิ่มเพดานการรับจำนำเป็นไม่เกินรายละ 500,000 บาท 
 

วันเดียวกัน นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง เดินทางไปตรวจการเปิดรับจำนำข้าวเปลือกที่บริเวณโรงสีสิงห์โตทองไรซ์เทรด จำกัด ต.เมืองเก่า อ.เมืองพิจิตร พร้อมเปิดเผยว่า

 
จะนำผลการรับจำนำข้าวเปลือกรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ และนายกรัฐมนตรีคงจะมอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบโครงการรับจำนำข้าวในแต่ละพื้นที่ครบทุกพื้นที่
ด้านนางนันทลักษณ์ มาทำนา อยู่หมู่ 1 ต.เมืองเก่า จ.พิจิตร ซึ่งเป็นเกษตรกรรายแรกที่นำข้าวเปลือกมาจำนำในโครงการดังกล่าว กล่าวว่า รู้สึกพอใจกับราคารับจำนำ โดยได้นำข้าวเปลือกมาจำนำทั้งหมด 5 เกวียน ได้ราคาเกวียนละ 11,109 บาท ส่วนสาเหตุที่จำนำข้าวเปลือกได้ไม่เกินเกวียนละ 14,000 บาท เพราะข้าวของตนมีความชื้นที่ 29.4%

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์