นาโนกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
เครื่องสำอางคือผลิตภัณฑ์สำหรับปกปิดและเสริมแต่งผิวหนังให้สวยงาม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ภายนอกร่างกายเท่านั้น สารนาโนจึงไม่มีความจำเป็นสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม หากองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีอนุภาคในระดับนาโนผสมอยู่ และแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือด อาจก่ออันตรายต่อร่างกายได้ เนื่องจากเครื่องสำอางยังไม่ได้ผ่านการประเมินความเป็นพิษและความปลอดภัย หากเข้าสู่ร่างกาย ทำให้วงการวิทยาศาสตร์และนักวิจัยหลายประเทศพยายามกำหนดให้มีการทดสอบและประเมินความปลอดภัยของเครื่องสำอาง ที่มีการประชาสัมพันธ์ว่าเป็น 'นาโนคอสเมติคส์'
หากพิจารณาถึงประโยชน์และหน้าที่ของเครื่องสำอางตามแต่ละประเภท คุณจะรู้ว่าที่จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องสำอางนาโนเลย เช่น
1. ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า-เช็ดล้างเครื่องสำอาง
หน้าที่หลักของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ คือการชำระล้างผิวหนังให้สะอาด องค์ประกอบหลักของผลิตภัณฑ์นี้ คือสารทำความสะอาดหรือ 'เซอร์แฟคแตน' ซึ่งสิ่งสกปรกที่ปกคลุมผิวหนังชั้นนอกสุดหรืออุดตันรูขุมขนนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบสารเคมีขนาดนาโนเมตรแต่อย่างใด
2. ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นผิว
ผิวหนังของเรามีอยู่ 2 ชั้น ได้แก่ ผิวหนังชั้นนอกสุด ซึ่งก็คือผิวหนังกำพร้า และผิวหนังชั้นใน ซึ่งก็คือผิวหนังแท้ ซึ่งครีมบำรุงผิวโดยทั่วไปจะทำหน้าที่เคลือบผิวหนังชั้นนอกสุด เพื่อป้องกันไม่ให้ความชุ่มชื้นลดลง ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี 'นาโน' เพราะสารรักษาความชุ่มชื้นผิวควรปกคลุมและแทรกอยู่แค่ที่ชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น
3. ผลิตภัณฑ์แต่งแต้มสีสัน
เช่น แป้งฝุ่น รองพื้น สีทาเปลือกตา ดินสอเขียวคิ้ว ลิปสตก ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มีองค์ประกอบสำคัญ คือ ชนิดของสี โดยต้องเป็นสีที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในเครื่องสำอางและอาหารเท่านั้น ส่วนสีที่มีองค์ประกอบของโลหะหนัก เช่น สีเคลือบสีผมหรือสีย้อมผม ต้องผ่านการควบคุมจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์แต่งแต้มสีสันมีไว้เพื่อเสริมแต่งและเคลือบที่ผิวหนังชั้นนอกเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้น ต้องไม่มีองค์ประกอบของสารระดับนาโนเมตรอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะสีที่มีส่วนประกอบของโลหะหนัก เนื่องจากหากผ่านเข้ากระแสเลือด จะกลายเป็นสารก่อมะเร็งชั้นดี
4. ผลิตภัณฑ์ปกป้องร่างกาย
ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องผิวหนังและร่างกายจากสิ่งแวดล้อม เช่น ครีมกันแดด และโลชั่นทากันยุง ซึ่งหน้าที่และประโยชน์ของครีมกันแดดที่จะเกิดสูงสุดนั้น ก็ต่อเมื่อเนื้อครีมเคลือบและปกคลุมผิวหนังอยู่ โดยไม่แทรกซึ่งลงสู่ผิวหนังชั้นใน เนื่องจากเมื่อรังสียูวีตกกระทบผิวหนัง สารกันแดดที่ผิวหนังจะสามารถดูดซับรังสี หรือสะท้อนรังสีออกจากผิวหนังได้ หากครีมกันแดดมีองค์ประกอบของสารกันแดดชนิดนาโน สารดังกล่าวอาจแทรกซึมเข้าสู่ชั้นหนังแท้หรือกระแสเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้
นักวิทยาศาสตร์ได้พบปัญหาของสารกันแดดที่มีอนุภาคเล็กระดับนาโนเมตร ซึ่งสามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือด เนื่องจากพบว่าอาจกลายเป็นสารก่อมะเร็ง จึงมีการวิจัยเพื่อพัฒนาสารกันแดดให้มีอนุภาคที่ใหญ่ขึ้น เช่นเดียวกับโลชั่นทากันยุง ที่ควรเคลือบชั้นผิวหนังเท่านั้นเพื่อไล่ยุง โดยเนื้อโลชั่นต้องไม่ซึมเข้าผิวหนัง เพราะสารไล่ยุงเป็นอันตราย ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าเป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตของเซลล์สมองในเด็ก ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ จึงไม่ควรเป็นเครื่องสำอางนาโนอย่างแน่นอน
5. ผลิตภัณฑ์บำรุงและแก้ไขปัญหาความบกพร่องของผิวหนัง
เช่น ลบริ้วรอยเหี่ยวย่น ชะลอวัย แก้ฝ้าและสิว ทำให้หน้าขาว แก้หน้ามัน และระงับเหงื่อ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มักมีหน้าที่แก้ไขความบกพร่องของผิวหนัง สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ จึงถูกวิจัยให้มีประสิทธิภาพในการนำเข้าสู่เซลล์ผิวหนังชั้นใน เนื่องจากเซลล์ที่มีหน้าที่ต่างๆ มักอยู่ค่อนข้างลึก ระหว่างชั่นล่างสุดของชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ เช่น เม็ดสีที่ทำให้เกิดฝ้า ต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อ และชั้นผิวหนังที่มีหน้าที่แบ่ง (สร้าง) เซลล์ใหม่ อย่างไรก็ตาม สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ แม้จะมีประสิทธิภาพแทรกซึมเข้าสู่ผิวหนังชั้นล่างได้ แต่ก็ไม่ควรเข้าสู่กระแสเลือด ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารที่มีอนุภาคนาโนเป็นองค์ประกอบ
ผู้บริโภคควรฉลาดในการพิจารณาเลือกซื้อเครื่องสำอาง ที่ปราศจากองค์ประกอบของสารนาโน เนื่องจากมีความปลอดภัยไร้กังวลมากกว่า โดยควรรอจนกว่าจะมีการประเมินความปลอดภัยของเครื่องสำอางนาโนมีความปลอดภัย เช่นเดียวกับหลักการประเมินความปลอดภัยทางการแพทย์และยา
ที่มา นิตยสาร 'ฉลาดซื้อ' ฉบับที่ 87 โดยมูลนิธีเพื่อผู้บริโภค เขียนโดย รศ.ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล