พิษเศรษฐกิจลามไปถึงสัตว์ป่า "เสือ" ของกลางที่ตำรวจจับมาจากพวกลักลอบขาย เริ่มขาดแคลนอาหาร
โดยเฉพาะลูกเสือที่ต้องกินนมชนิดพิเศษกระป๋องละเกือบพันบาท งบประมาณที่มีก็ไม่พอซื้อจนต้องประกาศขอรับบริจาคจากผู้มีจิตเมตตา หน.สถานีเพาะเลี้ยงฯเผยกว่าจะเลี้ยงจนหย่านมต้องใช้งบฯถึงตัวละ 2 หมื่น ขณะที่ผอ.สำนักอนุรักษ์ฯโอดค่าจ้างจนท.พิทักษ์ป่าไม่พอเลี้ยงชีพแล้ว ต้องให้ลูกน้องหันหน้าพึ่งวัด เป็นลูกศิษย์พระแลกข้าวก้นบาตร
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นายพรชัย ปทุมรัตนาธาร หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า
เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วสถานีได้รับมอบลูกเสือโคร่ง อายุประมาณ 2 เดือน จำนวน 6 ตัว เป็นสัตว์ของกลางที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้ ระหว่างเตรียมนำส่งออกนอกประเทศในเขต จ.มุกดาหาร ทำให้ล่าสุดสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง มีสัตว์จำพวกเสือ ที่ต้องดูแลรวมทั้งสิ้น 23 ตัว ค่อนข้างเป็นภาระหนักด้านอาหาร ที่จะนำมาเลี้ยงสัตว์ของกลางเหล่านี้ โดยเฉพาะลูกเสือทั้ง 6 ตัว รวมทั้งลูกเสือตัวอื่นๆ ที่ตกลูกออกมาระหว่างรอศาลตัดสิน
เนื่องจากต้องเลี้ยงดูด้วยนมชนิดพิเศษ แตกต่างจากนมที่ใช้เลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นๆ เพราะสัตว์อื่นสามารถใช้นมชนิดเดียวกับที่เลี้ยงมนุษย์ได้ แต่สำหรับลูกเสือต้องใช้นมชนิดพิเศษที่ทำขึ้นสำหรับเลี้ยงแมวโดยเฉพาะ เนื่อง จากสังเคราะห์มาเพื่อสัตว์จำพวกแมวและเสือโดยเฉพาะ ถ้าหากนำนมอื่นๆ มาใช้เลี้ยงอาจจะทำให้ลูกเสือตาบอดได้ อย่างไรก็ตามปัญหาที่สำคัญมากในขณะนี้คือราคาของนมดังกล่าวค่อนข้างแพง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเจียดงบประมาณไปซื้อนมมาเลี้ยงเสือจำนวนมากในแต่ละเดือน
"ราคานมแมวที่จะต้องใช้เลี้ยงเสือมีราคาสูงมาก ตกกระป๋องละ 990 บาท ที่ผ่านมาเราพบว่าเสือแต่ละตัวมีต้นทุนในการเลี้ยงดูจนกว่าจะหย่านมถึงตัวละ 20,000 บาท ถือว่าเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ถ้าเทียบกับงบประมาณที่ได้รับจัดสรร เพราะที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐอยากที่จะจัดงบประมาณให้ แต่เมื่อเราทำเรื่องของบฯ ไปก็จะมีคำถามกลับมาว่า ในปีต่อไปต้องการงบประมาณเท่าไหร่ ซึ่งเราก็ไม่สามารถตอบได้ เพราะจำนวนสัตว์ขึ้นอยู่กับการจับกุม ที่บอกไม่ได้ว่าจะมีจำนวนมากน้อยแค่ไหนในแต่ละปี ทำให้งบประมาณที่ได้มาไม่สมดุลกับจำนวนสัตว์ อย่างไรก็ตามเราพยายามเจียดงบฯ ที่มีหาซื้อนมมาเลี้ยงลูกเสือ รวมทั้งยังขอรับบริจาคจากผู้ที่มีใจรักสัตว์นำนมมาบริจาคให้ แต่ก็ถือว่ายังน้อยอยู่มาก" นายพรชัยกล่าว
อุทยาน-ไร้งบ ค่านมป้อนลูกเสือ
ด้านนายสามารถ สุมโนจิตราภรณ์ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า
เรื่องของงบประมาณสำหรับซื้ออาหารเลี้ยงสัตว์ของกลางยังคงเป็นปัญหาอยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ จะได้งบประมาณด้านนี้คืนมาแล้ว 5 ล้านบาท รวมกับเงินที่หลายฝ่ายพยายามหามาเพิ่มเติมอีก 2 ล้านบาท รวมเป็น 7 ล้านบาทก็เพียงพอในปีเดียวเท่านั้น ในปีต่อๆ ไปยังเป็นปัญหาอยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะพยายามประกาศขอบริจาคจากบุคคลที่รักสัตว์ เป็นจำพวกอาหารสัตว์ต่างๆ เหล่านี้ แต่ก็ยังถือว่าไม่เพียงพอ ตนก็เข้าใจว่าในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้มนุษย์เองก็ลำบากอยู่แล้ว ทำให้เรื่องบริจาคมีจำนวนน้อย สำนักอนุรักษ์ฯ เองได้พยายามช่วยเหลือตัวเองอยู่ แต่ถ้าหากมีผู้มีจิตศรัทธาและพอที่จะช่วยเหลือได้ช่วยบริจาคอาหารหรือนมแมวให้สัตว์และลูกเสือได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี และถือเป็นความช่วยเหลือกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ขณะนี้ด้วย
ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากล่าวด้วยว่า
นอกจากปัญหาเรื่องของนมเสือ อาหารสัตว์แล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่ตนคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ ก็คือเรื่องงบประมาณค่าจ้าง ค่าแรงของเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 400 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำเพื่อตรวจรักษาและลาดตระเวนป้องกันการล่าสัตว์ป่า เนื่องจากได้งบประมาณมาน้อยมาก ตกไร่ละ 3.75 บาทต่อไร่เท่านั้น ทำให้ล่าสุดตนจำเป็นต้องปลุกขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่เหล่านั้น พร้อมกับแนะนำให้ใช้ชีวิตอย่างประหยัดที่สุด เพื่อจะได้มีกำลังใจในการดูแลรักษาป่าและสัตว์ป่าต่อไป
"ตอนนี้ผมบอกให้ลูกน้องหันหน้าพึ่งวัดกันแล้ว เจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องตื่นตั้งแต่เช้ามืดเพื่อไปเป็นลูกศิษย์วัด เดินตามพระบิณฑบาตตอนเช้า หลังจากพระฉันเช้าเสร็จก็จะได้กินอาหารก้นบาตร พร้อมกับขอบริจาคส่วนที่เหลือเป็นเสบียงที่จะนำไปลาดตระเวนในป่า แต่ก่อนหน้านั้นก็จะต้องช่วยพระทำงาน ล้างจาน กวาดลานวัด ก่อนจะเข้าป่าก็ขอพรจากพระเสียก่อน ซึ่งพอจะทำให้อยู่ได้ แต่สำหรับบางหน่วยที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีวัดอยู่ก็ค่อนข้างลำบากหน่อย เพราะไม่มีวัดที่จะให้เข้าไปอาศัยเป็นลูกศิษย์ได้ ตอนนี้อาจจะขอบริจาคเป็นปลาร้าหลายๆ ไห เพื่อจะให้เจ้าหน้าที่นำไปเป็นอาหาร รวมทั้งเป็นเสบียงเข้าป่าด้วย ในยุคนี้ก็เป็นเรื่องลำบาก เพราะน้ำมันก็ขึ้น เศรษฐกิจไม่ดี ทั้งสัตว์ที่อยู่ในเมืองและคนอยู่ป่าก็จำเป็นจะต้องปรับตัวไปด้วย" นายสามารถกล่าว
วันเดียวกัน เวลา 13.30 น. พ.ต.อ.ธิติ แสงสว่าง ผกก.ฝป.1 ปทส. พ.ต.ท.ณัฐกฤษณ์ ด้วงพูล สว.ฝป.1 พร้อมเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่ง เข้าตรวจค้นที่บ้านเลขที่ 4/009 ซอยแจ้งวัฒนะ 14 แยกซอยแสนหวี 3 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ หลังสืบทราบว่าที่บ้านหลังดังกล่าวมีการลักลอบขายสัตว์ป่าและสัตว์สงวนผิดกฎหมาย
เมื่อไปถึงพบบ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น เนื้อที่ 50 ตารางวา หน้าบ้านมีกรงขนาดใหญ่ ภายในพบหมีควาย ตัวใหญ่น้ำหนักราว 150 ก.ก. 1 ตัว อีเห็นข้างลาย 3 ตัว นกแขกเต้าอกแดง 2 ตัว นกเงือก 1 ตัว จระเข้คาแมน 1 ตัว นางอาย 1 ตัว ปะการังแห้ง 50 ชิ้น โดยมีนายศรีสกุล เกลี้ยงมีศรี อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 595 ซอยมีศรี 3 ต.ในเมือง อ.เมือง จ. นคร ราชสีมา เจ้าของบ้านหลังดังกล่าว รับเป็นเจ้า ของสัตว์ทั้งหมด
พ.ต.อ.ธิติกล่าวว่า
การเข้าตรวจค้นครั้งนี้สืบเนื่อง จากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปทส.สืบทราบว่า นายศรีสกุลลักลอบขายสัตว์ป่าต้องห้ามและสัตว์ที่ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ โดยบ้านหลังนี้เป็นแหล่งซุกซ่อนสัตว์ป่า จึงติดต่อล่อซื้อลูกหมีควาย 1 ตัว และลูกหมีหมาอีก 1 ตัว ราคาตัวละ 15,000 บาท จากนายศรีสกุล โดยนัดหมายมาดูสินค้าและจ่ายเงินกันในวันนี้ที่บ้านเลขที่ 70/446 ซอยสามัคคี 58/18 ถนนสามัคคี ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะแสดงตัวเข้าจับกุม พร้อมทั้งยึดหมีควายและหมีหมา ลิงแสม 2 ตัว ไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นก็ขออนุมัติหมายค้นเข้าตรวจค้นเพิ่มอีก 2 จุด คือที่บ้านหลังนี้ และเข้าตรวจสอบที่ร้านอาหารแอดโฮม ในซอยแจ้งวัฒนะ 12 ก็พบปะการังทั้งไทยและต่างประเทศอีก 3 ตู้
จากการสอบสวนนายศรีสกุลอ้างว่า
มีใบอนุญาตครอบครองหมีควาย 2 ตัวไว้ ส่วนใบอนุญาตครอบครองหมีควายกับหมีหมาที่ถูกเจ้าหน้าที่ล่อซื้อนั้นหายไป แต่สัตว์ป่าชนิดอื่นไม่สามารถหาใบอนุญาตมายืนยันได้