นายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า
หอการค้าได้รับการร้องเรียนจากหอการค้าจังหวัด ผู้ประกอบการค้าปลีกและค้าส่งรายย่อยจากทั่วประเทศถึงผลกระทบจากการขยายตัวธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้ค้าปลีกรายย่อย (โชห่วย) ที่เดิมมีมากถึง 300,000-400,000 ราย แต่ปัจจุบันปิดตัวไปแล้วมากกว่า 100,000 ราย ขณะที่ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ได้ขยายสาขาเพิ่มจาก 1,400 แห่ง เป็น 6,000 แห่งทั่วประเทศ
ดังนั้นหอการค้าไทยต้องการให้รัฐบาลเร่งออกพ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ. ...ช่วยดูแลปัญหาธุรกิจค้าปลีกค้าส่งโดยเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นผู้ค้ารายย่อยจะอยู่ไม่ได้ ทั้งนี้แม้การขยายสาขาของผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่หากไม่ดูแลสถานการณ์อย่างเหมาะสม จะทำให้การค้าปลีกค้าส่งของประเทศไทยถูกผูกขาดจากผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย
“หอการค้าไทยจะจัดทำเอกสารข้อเท็จจริงต่าง ๆเกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้ อย่างละเอียดโดยได้รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงทั้งจากภาคราชการนักวิชาการ หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ และประชาชนทั่วไปเพื่อให้สังคมเป็นผู้พิจารณาและร่วมกันกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งรัฐต้องออกกฎหมายค้าปลีกค้าส่งโดยเร็วเพื่อดูแลปัญหาค้าปลีกค้าส่งที่ขณะนี้มีการขยายตัวมาก หากปล่อยไว้ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศสัดส่วนถึง 14% ของจีดีพี จะกลายเป็นธุรกิจที่ถูกผูกขาด”
ที่ผ่านมา คณะกรรมการค้าส่งและค้าปลีกของ หอการค้าไทยได้รับทราบและติดตามปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่กับผู้ค้าปลีกและค้าส่งรายย่อย
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า
ได้ร่วมประชุมกับกลุ่มสมัชชาตลาดสด เพื่อหาแนวทางเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ตลาดสดทั่วประเทศ ที่ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการขยายของกลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่มาก โดยแนวทางแก้ไขจะเน้นการรวมกลุ่มแบบคลัสเตอร์ของแม่ค้าพ่อค้าที่ขายผลิตภัณฑ์คล้ายกัน หรือกลุ่มที่มีพื้นที่ใกล้กัน หันมาใช้ทรัพยากร โกดัง วิธีบริหารจัดการ การขนส่ง หรือการสั่งซื้อสินค้าร่วมกัน เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มอำนาจต่อรองกับผู้ขาย รวมถึงการปรับปรุงสาธารณูปโภค สุขอนามัยให้ได้มาตรฐาน.