สมิทธเตือน 4ด.ทะเลท่วมกรุงเทพฯแน่

นักวิชาการเสนอรัฐบาล แก้-รับมือปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติควรทำเป็นวาระแห่งชาติ

ระดมมันสมองหาแนวทางรักษาเมืองรักษาคน เผย กรุงเทพฯ ตั้งใกล้รอยเลื่อน เสี่ยงโดนภัยพิบัติเล่นงานได้ง่าย หวั่นพื้นที่พระบรมหาราชวัง-วัดพระแก้ว ทรุดหากเกิดเหตุเพราะสร้างมานานไม่ได้ตอกเสาเข็ม สมิทธ ชี้ กทม.ไม่มีความพร้อมรับมือภัยพิบัติ-ช่วยเหลือประชาชน คาดเดือนส.ค.-ต.ค.นี้ เกิดมรสุมใหญ่ฝั่งอ่าวไทย พัดถล่มหลายพื้นที่ น้ำทะเลหนุนท่วมกรุงเทพฯแน่


ที่สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 4 มิ.ย.

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธาน เปิดสถาบันพัฒนาเมือง กทม. ซึ่งเป็นสถาบันที่มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ประสานงาน ดำเนินการศึกษาค้นคว้า พัฒนาวิจัย เผยแพร่ข้อมูล รวมทั้งการให้บริการความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอย่างครบวงจรแก่หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ โดยมี รศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานกรรมการสถาบันพัฒนาเมือง และ ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร เป็น ผอ.สถาบันพัฒนาเมือง โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่สำนักผังเมือง เลขที่ 44 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงและเขตดินแดง
 
หลังจากการเปิดสถาบันฯ มีการเสวนาเรื่อง “แผนรับมือวิบัติภัยในมหานครกรุงเทพฯ”

โดย นายสมิทธ ธรรมสโรธ ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ศ.ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และนางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าฯ กทม. โดยมี รศ.ดร.วรากรณ์ ดำเนินการรายการ
  
นายสมิทธ กล่าวว่า ปัจจุบันคนเข้า   มาอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้นและภัยที่เกิดจาก    ธรรมชาติก็มีแนวโน้มเกิดขึ้นในเมืองสูงขึ้นเช่นกัน

ซึ่งเมื่อเกิดแล้วก็จะทำให้คนเสียชีวิตจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของตนนั้นมีความเป็นห่วงอยู่ 2 เรื่องคือ เรื่องแผ่นดินไหว เนื่องจากมีรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ 2 แห่ง คือรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์ รวมถึงรอยเลื่อนใต้พื้นที่กรุงเทพฯ เองก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกแม้จะเป็นรอยเลื่อนที่ไม่มีพลังแล้วก็ตาม แต่หากเกิดขึ้นมาจริง ๆ ตนแน่ใจว่าประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกรุงเทพฯ เครื่องมือในการช่วยเหลือต่าง ๆ น้อยมาก 
 


นายสมิทธ กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาน้ำท่วมและพายุนั้นปัจจุบันการเกิดพายุแต่ละครั้ง  มีความเปลี่ยนแปลงของความเร็วลม

เช่น พายุนาร์กีส เป็นการก่อตัวจากมหาสมุทรอินเดีย  ซึ่งไม่เคยเกิดมาก่อน ดังนั้นในอนาคตการเกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ก็น่าเป็นไปได้ โดยในปีนี้ช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.นี้ ตนทำนายว่าจะเกิดมรสุมใหญ่ที่จะพัดเข้ามาทางอ่าวไทยเข้ามาช่วง จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี เพชรบุรี และหากน้ำทะเลมีการยกตัว (Storm Search) สูง 3-4 เมตร เข้ามาสู่แม่น้ำบางปะกง น้ำก็อาจจะทะลักเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ และหากมีการทะลักท่วมเข้าพื้นที่รัศมี 30 กม. ซึ่งอาจถึงพื้นที่คลองประปา หากเป็นเช่นนั้นน้ำประปาก็จะเค็มและไม่สามารถนำมาใช้ได้ ประชาชนก็จะเดือดร้อนทันทีและปัญหาที่จะตามมาก็มีอีกมากจึงต้องหาทางเตรียมรับมือและป้องกันให้ดี
 
ดร.ต่อตระกูล กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็น ห่วงสำหรับกรุงเทพฯ ในการเกิดพิบัติภัยแผ่นดินไหวอีกอย่างหนึ่งที่ตามมาคือ

ผลกระทบกับอาคารต่าง ๆ เนื่องจากเพิ่งมีการกำหนดกฎหมายให้การก่อสร้างอาคารรองรับแรงลมขึ้นในปี 50 ดังนั้นอาคารที่สร้างก่อนกว่า 2,000 แห่ง จึงเป็นอาคารเสี่ยงทั้งหมด นอกจากนี้ในส่วนของโบราณสถานในพื้นที่พระบรมหาราชวังและวัดพระแก้ว เป็นสถานที่ที่ก่อสร้างมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งไม่มีการฝังเสาเข็มตามแบบการก่อสร้างปัจจุบัน จึงน่าเป็นห่วงว่าจะไม่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนได้ก็อาจจะทำให้ทรุดทั้งหมด
  
ดร.ปณิธาน กล่าวว่า ปัญหาพิบัติภัยนั้นตนคิดว่าน่าจะเสนอเป็นวาระแห่งชาติให้ระดมผู้เชี่ยวชาญจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมรับผิดชอบมาร่วมกันแสดงวิสัยทัศน์


เพื่อวางแผนรับมืออย่างจริงจัง ทั้งนี้อาจพิจารณาเสนอให้มีการสร้างถนนใกล้ชายหาดหรือปรับปรุงถนนเดิมที่มีอยู่แล้วยกระดับความสูงเพิ่มขึ้นอีก 1 เมตร เพื่อใช้ป้องกันน้ำที่สูงขึ้นทะลักเข้าท่วมพื้นที่ นางบรรณโศภิษฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของ กทม. มีการเตรียมรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยการจัดพื้นที่ผังเมืองให้เหมาะสมและจัด   ทำข้อมูลต่าง ๆ เพื่อรองรับการแก้ปัญหาต่าง ๆ การติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัย การช่วยเหลือประชาชน หากเกิดเหตุขึ้น ทั้งนี้การกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ต้องออกเป็นข้อกฎหมายบังคับใช้อย่างจริงจัง.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์