"วาฬหัวทุยแคระ"เกยตื้นหาดป่าตอง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรุดตรวจ เป็นเพศเมีย ยาวกว่า 2 เมตร
น้ำหนักเกือบร้อยกิโลฯ มีบาดแผลเต็มตัว รอยช้ำเลือดในผนังกระเพาะ สัตวแพทย์ฉีดยากันช็อกระหว่างเคลื่อนย้าย แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ ตายระหว่างนำไปอนุบาล ผ่ากระเพาะดู พบขยะพลาสติกเต็มท้อง ทั้งถุงดำ ถุงหิ้ว ซองแยมโรล ฝาพลาสติก ชี้เป็นสาเหตุทำให้วาฬไม่สามารถย่อย และขับถ่าย ระบายออกมาได้
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. น.ส.กาญจนา อดุยานุโกศล
นักวิชาการกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า เมื่อเวลาประมาณ 07.00 น. วันที่ 4 มิ.ย. สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ภูเก็ต ได้รับแจ้งจากชาวบ้านบริเวณร้านอาหารเสวย หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต ว่าพบวาฬเกยตื้น จึงส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบบริเวณดังกล่าว พบวาฬทุยหัวแคระ (Dwarf Sperm whale; Kogia simus) เข้ามาเกยตื้น เบื้องต้นนายสัตวแพทย์สนธยา มานะวัฒนา จากกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก และทีมงาน พร้อมชาวบ้าน ช่วยกันนำวาฬออกไปในที่ลึกเพื่อให้กลับไปยังทะเล
น.ส.กาญจนากล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามวาฬตัวดังกล่าวกลับมาเกยตื้นอีกในเวลาต่อมา
สัตวแพทย์จึงตัดสินใจนำวาฬกลับไปสถานที่อนุบาลของสถาบัน วิจัยฯ โดยได้ฉีดยาซึมและฉีดยากันช็อกให้ในขณะขนย้าย เนื่องจากพบบาดแผลภายนอกจำนวนมาก และวาฬมีอาการดิ้นมาก แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตวาฬตัวดังกล่าว เนื่องจากวาฬช็อกและตายในระหว่างการเดินทาง และเพื่อเป็นการยืนยันการตาย จึงนำวาฬลงในบ่ออนุบาลภายในสถาบัน แต่ว่าวาฬดังกล่าวไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ และหัวใจหยุดเต้นแล้ว
กินขยะพลาสติก วาฬเกยตื้นตาย!
น.ส.กาญจนากล่าวด้วยว่า หลังจากวาฬตายแล้วนายสัตวแพทย์สนธยาจึงชันสูตรซาก
พบว่าเป็นวาฬหัวทุยแคระ (Dwarf Sperm whale; Kogia simus) มีความยาวลำตัว 2.05 เมตร น้ำหนัก 98 กิโลกรัม เพศเมีย ยังไม่โตเต็มวัย พบรอยช้ำเลือดในผนังกระเพาะ และแผลอักเสบทั่วไป รวมทั้งพบหนองที่บริเวณมดลูก นอกจากนี้จากการชันสูตรยังพบว่าในกระเพาะพบขยะจำพวกขยะพลาสติกจำนวนมาก เช่น ถุงดำ ถุงหิ้ว ซองแยมโรล ฝาพลาสติกของกล่องน้ำผลไม้ เชือก มีน้ำหนักประมาณ 1.6 กิโลกรัม ซึ่งทำให้วาฬไม่สามารถย่อยและขับถ่ายออกมาได้ สาเหตุการตายจึงคาดว่าน่าจะเกิดจากขยะดังกล่าว
"โดยปกติแล้ววาฬเหล่านี้จะกินอาหารจำพวกหมึกที่อยู่ในท้องทะเลลึก แต่หากเกิดอาการเจ็บป่วย มันจะถูกขับออกจากฝูงและต้องหาอาหารกินกันเอง ซึ่งเรายังไม่ทราบว่าขยะเหล่านี้จะไปอยู่กลางทะเลลึกหรือไม่ แต่จากการชันสูตรสัตวแพทย์พบว่ามีหนองในมดลูกของมัน จึงเชื่อว่าคงจะถูกขับออกจากฝูง และว่ายน้ำมาใกล้ฝั่งเรื่อยๆ ไม่มีแรงที่จะหาอาหาร เมื่อพบขยะจำพวกโฟม ถุงพลาสติกที่ลอยอยู่ทั่วไปในทะเล จึงทำให้คิดว่าเป็นอาหารที่กินได้ มันจึงกินเข้าไป จนเป็นสาเหตุของการตายดังกล่าว" น.ส.กาญจนากล่าว
น.ส.กาญจนากล่าวด้วยว่า โดยปกติแล้ววาฬทุยหัวแคระจะพบได้ทั่วไปในท้องทะเล
โดยจะว่ายรวมกันเป็นฝูงไม่ใหญ่นัก ฝูงละ 4-5 ตัวเท่านั้น ที่ผ่านมาทางสถาบันเคยช่วยเหลือวาฬทุยหัวแคระมาแล้วประมาณ 4 ตัว แต่ไม่สามารถช่วยได้เพราะส่วนใหญ่วาฬจะเจ็บป่วยจนถูกขับออกจากฝูงมาก่อน ทำให้สภาพร่างกายอ่อนแอ เมื่อมาถึงสัตวแพทย์ก็สายเกินไป ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะพบเศษขยะจำพวกถุงพลาสติกอยู่ในกระเพาะของวาฬเหล่านี้ด้วย
"นอกจากสัตว์ทะเลหายากจำพวกวาฬที่ต้องประสบปัญหาที่เกิดจากขยะในทะเลแล้ว สัตว์ที่ต้องตายเพราะขยะเหล่านี้อีกประเภทหนึ่งได้แก่เต่าทะเล ซึ่งพบจำนวนมาก เนื่องจากมันกินขยะจำพวกถุงพลาสติก กล่องโฟมเข้าไป ทำให้กระเพาะย่อยไม่ได้ จนต้องตายไป ซึ่งปัญหาของขยะจำพวกพลาสติกนี้เป็นสิ่งที่น่าห่วงมาก โดยเฉพาะในเขตที่มีอุตสาห กรรมท่องเที่ยวเยอะๆ หรือแม้กระทั่งตามเกาะแก่งต่างๆ ที่มีคนไปอาศัยอยู่ ซึ่งมีการใช้สินค้าจำพวกพลาสติก ทั้งที่เป็นถุง ขวด หรือกล่องโฟม บางส่วนถูกทิ้งลงในท้องทะเล ทำให้สัตว์น้ำที่ไม่รู้ว่าคืออะไรต้องตาย เพราะกินขยะพวกนี้เข้าไป และวาฬตัวนี้ก็เป็นตัวล่าสุด" น.ส.กาญจนากล่าว