จากการที่ราคาข้าวเปลือกในประเทศตกต่ำลงเรื่อยๆสวนทางกับราคาข้าวในตลาดโลก เรื่องนี้ทำให้ชาวนาไม่พอใจ
และขู่ว่าจะชุมนุมปิดถนน เพื่อกดดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานี้ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. เวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและ รมว. กลาโหม ได้เรียกประชุม 11 รัฐมนตรี และผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ภายหลังการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง นายสมัครแถลงข่าวว่า จากการชุมนุมประท้วงของชาวนา วันนี้รัฐมนตรี 11 คน พร้อมกับผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องข้าวและผู้ที่รู้เรื่องข้าวและเข้าใจเรื่องข้าวได้ประชุมหารือร่วมกับ ธ.ก.ส.และกระทรวงพาณิชย์ด้วยกลไกทั้งหลายทั้งปวง ต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 ชุดเพื่อดูแล 3 ขั้นตอน ไม่ใช่อยู่ดีๆมานั่งตั้งราคาเฉยๆ คณะกรรมการจะทำงานแยกฝ่ายกัน โดยได้รับความร่วมมือจาก ธ.ก.ส.
“วันนี้ขอประกาศว่ารัฐบาลจะรับจำนำข้าวในราคา 14,000 บาทต่อตัน โดยจะทำทั่วประเทศทั้งหมด ในจำนวน ข้าวนาปรังที่กำลังจะออกได้คำนวณปริมาณไว้หมดแล้ว 2 ล้าน 5 แสนตัน ได้คำนวณดูทางหนีทีไล่เสร็จหมดเรียบร้อย รัฐบาลจะขอดำเนินการโดย ธ.ก.ส.จะออกไปรับจำนำทั้งหมด” นายสมัครกล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เราดูสถานการณ์ราคาข้าวขึ้นสูงมากจนผิดปกติ
เมื่อราคาข้าวตกลงมาต่ำ เราก็เห็นว่าถูกดึงลงไปโดยผิดปกติเหมือนกัน มันมีขบวนการและวิธีการที่ทำให้เกิดเรื่องอย่างนี้ ดังนั้น ด้วยความรับผิดชอบของคนที่เป็นรัฐบาลก็จะดำเนินการเพื่อชาวนาให้ได้ขายข้าวที่ผลิตออกมาในราคา 14,000 บาทต่อตันทั้งหมด จะดำเนินการทันทีในวันที่ 5 มิ.ย. และวันนี้ตนจะตั้งคณะกรรมการทั้ง 3 ชุด ให้เรียบร้อย ซึ่งเราไม่ได้สักแต่ว่ามาประกาศราคาเฉยๆ แต่ได้นั่งประชุมกันเป็นเวลายาวนานพอสมควร ดูทางหนีทีไล่เรียบร้อยหมด และทำหน้าที่นี้ด้วยความรับผิดชอบ จึงขอประกาศให้ทราบทั่วกัน
นายสมัครกล่าวด้วยว่า ราคาที่รับจำนำเป็นราคาที่จะแก้ปัญหาซึ่งระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ถ้าใครจะไม่ไถ่คืนข้าวก็จะนำไปแปรรูป
เพราะฉะนั้น การคืนถ้ามูลค่าเพิ่มขึ้น เช่นเป็น 15,000 บาท ก็จะคืนให้ 1,000 บาท เป็นตัวเงิน โดยไม่ได้เอาข้าวกลับคืนไป ทั้งหมดไม่ได้ สักแต่ว่าคิดแล้วก็ทำเฉยๆ ได้ดูลู่ทางหนีทีไล่กันไว้เสร็จเรียบร้อยหมด ข้าวนั้นก่อนที่จะไปทำก็ต้องเข้าไซโลต้อง อบก่อน และทำแม้กระทั่งว่าข้าวเก่าของเราที่มีอยู่ประมาณ 1.2 ล้านตัน นั้นความจริง 1.1 ล้านตัน เป็นข้าว 5% หรือเรียกว่าข้าวเก่า ตนต้องทำถึงขนาดว่าเอาข้าวใหม่ 2 ส่วน ข้าวเก่า 5 ส่วนผสมกัน และให้ต่างชาติซื้อข้าวที่อยู่ในสต๊อกของเราด้วย เพราะเมื่อข้าวนาปีออกมานั้น เราก็จะซื้อข้าวนาปีเก็บในโกดังเพื่อไม่ให้ราคามันตกต่ำ
“ข้าว 5% จำนวน 1.1 ล้านตัน เราจะขายด้วย แต่จะขายไปเปล่าๆนั้นทางต่างประเทศบอกมาแล้วว่าเป็นข้าวไม่ดี เป็นข้าวเก่า ความจริงไม่ใช่ บัดนี้เราจะเอาเก่า-ใหม่ ผสมกัน แล้วหุงออกมาก็เป็นข้าวมาตรฐานซึ่งคนไทยเขากินกันอยู่” นายสมัครกล่าว
ให้เกวียนละ 1.4 หมื่น จำนำข้าว รัฐสยบกลุ่มชาวนา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงข่าว นายสมัครตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีที่ต่างประเทศสนใจจะซื้อข้าวไทยในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี)
ซึ่งนายกฯกล่าวทีเล่นทีจริงว่า หากประเทศไหนสนใจจะซื้อข้าวไทยหลังจากวันนี้ที่รัฐบาลจะนำข้าวใหม่และข้าวเก่ามาผสม ตนก็พร้อมจะไปหุงข้าวให้ดูว่า ข้าวเก่าและข้าวใหม่สามารถหุงขึ้นหม้อและคนไทยก็กินข้าวในลักษณะนี้มาตลอด “ผมไม่อยากพูดให้กระทบกระเทือนผู้ส่งออกและเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาข้าวหายจากโกดังอีก รัฐบาลถึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 ชุด ขีดเส้นใต้ตรงนี้” นายสมัครระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะจัดการกับคนที่ทำให้ ราคาข้าวผิดปกติอย่างไร
นายกฯตอบว่า เป็นเล่ห์กลทางการค้า เราคงไปจัดการอะไรไม่ได้ แต่เราจัดการด้วยการแก้ไขปัญหาอย่างที่แก้ในวันนี้ ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีคนซื้อรออยู่ เมื่อถามว่าทางผู้ส่งออกยังจะดิ้นอยู่อีกหรือไม่ นายสมัครตอบว่าไม่อยากพูดให้กระทบกระเทือนใจเขา เราต้องแก้ปัญหาของเราก่อน เมื่อถามว่าอยู่รวมชาติ เดียวกันน่าจะแชร์ผลประโยชน์กันได้ นายสมัครตอบว่า ถูกต้องๆ แต่ตอนนี้รัฐบาลต้องช่วยชาวนาก่อน ขอแค่นี้ก่อนแล้วกัน เพราะถ้าพูดอะไรไปมากจะเป็นการรุกล้ำเขา
ทางด้านนายวิเชียร พวงลำเจียก กรรมการสมาคมชาวนาไทยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
หลังรัฐบาลรับประกันราคาข้าวเปลือกนาปรังความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 14,000 บาท ว่า เมื่อรัฐบาลแสดงความจริงใจออกมาเช่นนี้ สมาคมชาวนาไทยและชาวนาทั่วประเทศต้องชะลอการชุมนุมปิดถนนประท้วงในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ออกไป อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ารัฐบาลจะออกมาประกาศรับจำนำข้าวเปลือกทั่วประเทศ แต่การเปลี่ยนหลักเกณฑ์ผู้รับผิดชอบจาก อคส. เป็น ธ.ก.ส. นั้นจะส่งผลกระทบต่อการรับจำนำข้าวเปลือกหรือไม่นั้น ต้องดูว่าในวันรับจำนำวันแรกคือวันที่ 5 มิ.ย.จะนำข้าวเปลือกนาปรังไปจำนำกับโรงสีเดิมที่เคยรับจำนำหรือไม่และราคาเป็นไปตามที่รัฐบาลกำหนดหรือไม่ หากราคาไม่ต่ำกว่า 12,000 บาทต่อตัน ถือว่าชาวนาอยู่ได้ หากต่ำกว่านี้ก็เท่ากับว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่เกิดประโยชน์ แต่อย่างใด
นายวิเชียรกล่าวอีกว่า ประเด็นต่อไปที่ต้องจับตามองคือหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับจำนำข้าวนั้นจะใช้หลักเกณฑ์ใด
เช่น การจ่ายเงิน จากเดิมเมื่อนำข้าวเปลือกไปจำนำจะมีการออกตั๋วแทนเงินให้ และภายใน 3-7 วันก็นำไปขึ้นเงินที่ ธ.ก.ส.ได้ รวมทั้งโรงสีที่เข้าโครงการในแต่ละจังหวัดเป็นโรงสีใดบ้าง “สิ่งที่ห่วงว่าโครงการรับจำนำข้าวจะติดขัดคงเป็นเรื่องของความไม่เคยชินกับขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. เพราะปกติ อคส.เป็นผู้ดำเนินการ แต่เมื่อเปลี่ยนคนดำเนินการก็ต้องเสียเวลาศึกษาหน้างานอีก อย่างไรก็ตาม จะให้เวลา 1 สัปดาห์ในการดำเนินการให้เข้ารูปเข้ารอย หากเกินเวลานี้แล้วไม่สามารถเดินหน้าหรือรับจำนำข้าวได้จริงจะชุมนุมประท้วง 4 ทิศของกรุงเทพฯอย่างแน่นอน” นายวิเชียรกล่าว
ทางด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า
ราคาข้าวในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐออกมาประกาศจะรับจำนำข้าว แต่มองว่าตันละ 14,000 บาทเป็นราคาที่สูงเกินไป รัฐควรพิจารณาจากต้นทุนของชาวนา บวกกำไรที่เหมาะสม ไม่ใช่นำราคาข้าวที่สูงที่สุดมาใช้เป็นราคารับจำนำ เพราะราคาในประเทศที่สูงขึ้นมาก จะทำให้ราคาส่งออกสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ส่งออกยาก โดยราคาที่เหมาะสมควรอยู่ที่ตันละ 11,000-12,000 บาท
นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า
ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 ชุด ชุดแรกจะทำหน้าที่รับจำนำข้าวเปลือก ชุดที่สองจะดูแลการแปรรูปและชุดที่สามทำหน้าที่ขายข้าวสาร เพราะข้าวเปลือกที่รับจำนำมาครั้งนี้เป็นข้าวเปียก จึงต้องแปรรูปทันทีและจะดูแลไม่ให้ข้าวเกิดความเสียหาย โดยได้เตรียมเงินดำเนินโครงการนี้ 20,000 ล้านบาท