ศจย.-มหิดล-สสส. ผนึกกำลัง รณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก "อดบุหรี่ 1 ซอง อิ่มท้องทั้งครอบครัว" แถมโจ๋เป็นทาสบุหรี่เพิ่ม พบเล่ห์ชวนสูบบุหรี่ราคาถูกในผับ ชี้สิงห์อมควัน ไทยเฉียด 11 ล้าน ระบุผลาญเงินซื้อบุหรี่วันละเกือบ 131 ล้านบาท วอนนักสูบหยุดจุดไฟเผาข้าว 12,400 ตันต่อวัน ชี้ถ้าเอามาซื้อข้าว เลี้ยงคนได้ 24 ล้านคนต่อวัน
เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการบริโภคยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า
การสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรล่าสุดในปี 2550 พบว่า คนไทยอายุ 11 ขวบขึ้นไป ที่สูบบุหรี่ทั้งการสูบเป็นประจำ และเป็นครั้งคราว มีตัวเลขถึง 10.9 ล้านคน โดยเฉลี่ยมีค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อบุหรี่วันละ 12 บาท คำนวณทั้งประเทศรวมกันสูงเกือบ 131 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ น้ำมันแพง น้ำตาลราคาสูง ข้าวมีราคาเพิ่มเป็นประวัติการณ์ เงิน 131 ล้านบาทที่ใช้ซื้อบุหรี่นั้น สามารถซื้อข้าวสารได้ถึง 12,422 ตันต่อวัน เพียงพอเลี้ยงคนได้ 24.4 ล้านคนต่อวัน ซึ่งเป็นจำนวนคนมากกว่า 1 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศ เพราะคนไทย 1 คน จะบริโภคข้าวสารต่อวันประมาณ 210 กรัม
ผศ.ดร.ลักขณา กล่าวต่อว่า ในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค. นี้
ศจย. ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดรณรงค์ “เลิกบุหรี่ 1 ซอง อิ่มท้องทั้งครอบครัว” วันที่ 2 มิ.ย. นี้ เวลา 11.00 น. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ด้าน รพ.ราชวิถี ให้ทุกคนที่สูบบุหรี่ตระหนักว่า บุหรี่ 1 ซอง ที่ราคาเฉลี่ย 45 บาท เงินจำนวนนี้ซื้อข้าวสารได้ครึ่งกิโลกรัม ซึ่งเฉลี่ยครอบครัวไทยที่มีประมาณ 3 คน จะมีข้าวกินไปถึง 3 วัน จึงขอให้ผู้สูบบุหรี่ทุกคนลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หยุดการทำลายสุขภาพของตนเอง เลิกทำร้ายคนที่รักด้วยควันบุหรี่
ผอ.ศจย. กล่าวอีกว่า เด็กและเยาวชนถือว่าเป็นเป้าหมายสำคัญ เพื่อรณรงค์การลด ละ เลิกสูบบุหรี่
ซึ่งทั่วโลกมีอัตราเด็กและเยาวชนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับไทยที่อัตราการสูบบุหรี่ในปี 2550 มีภาพรวมลดลง แต่เพิ่มขึ้นเฉพาะกลุ่มเยาวชนอายุ 15-18 ปี ที่เพิ่มจากปี 2549 คือ 6.6% เป็น 7.25% ขณะที่กลุ่มอายุ 19-24 ปี เพิ่มขึ้นจาก 19.66% เป็น 21.27% ซึ่งองค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างยิ่ง และเน้นการห้ามการโฆษณาบุหรี่ทุกรูปแบบ ในไทยมีกฎหมายเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ยังพบการโฆษณาแฝงในลักษณะต่าง ๆ อาทิ การส่งเสริมการขายว่ามีบุหรี่ราคาถูกจำหน่ายในผับ บาร์ การใช้เล่ห์กลเข้าไปสนับสนุนการทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชน.