เมื่อวันที่ 29 พ.ค. จากสัตวแพทย์หญิง เกษกนก ศิรินฤมิตร อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า
ได้วิจัยเรื่องความชุกของโรคแท้งติดต่อในสุนัขของประเทศไทย โดยสำรวจในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคกลาง จากตัวอย่างสุนัขจำนวน 339 ตัว ที่เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลสัตว์ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง คือ ที่บางเขน กำแพงแสน และหนองโพ
อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยงกล่าวต่อไปว่า
การตรวจใช้วิธีทางซีรัมวิทยา และวิธีที่เรียกว่า Standard Tube Agglutination รวมทั้งการแยกเพาะเชื้อบรูเซลลา เคนนิสจากเลือด โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างสุนัขเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นสุนัขที่มีปัญหาระบบสืบพันธุ์ทั้งเพศผู้และเพศเมีย 201 ตัว พบว่ามีกลุ่มตัวอย่างที่ให้ผลบวก คือมีการติดเชื้อจากการตรวจทางซีรัมวิทยาถึง 40% จากการเพาะเชื้อ 11% และกลุ่มที่ไม่มีปัญหาทางระบบสืบพันธุ์ทั้งเพศผู้และเพศเมีย จำนวน 138 ตัว ให้ผลบวกทางซีรัมวิทยา 2.2% และจากการเพาะเชื้อ 1.4%
สัตวแพทย์หญิงเกษกนกเผยอีกว่า โรคแท้งติดต่อในสุนัขเรียกว่า โรคบลูเซลโลซิส
เป็นโรคที่สามารถติดต่อ จากสัตว์สู่คนได้ โดยติดต่อจากการกิน การผสมพันธุ์ และ การสัมผัสสารคัดหลั่ง กลุ่มสายพันธุ์สุนัขที่ตรวจพบเชื้อบรูเซลลา เคนนิส จากการเพาะเชื้อมีอยู่ 8 สายพันธุ์ คือ ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์, บัสเซ็ท ฮาวด์, เซนต์ เบอร์นาร์ด, ดัลเมเชี่ยน, โกลเด้น รีทรีฟเวอร์, ชิตสึ, พุดเดิ้ล และพิตบูล
“การติดต่อของโรคในสัตว์เกิดจากการกินหรือเลียสารคัดหลั่งจากช่องคลอด กินเนื้อเยื่อของลูกที่แท้ง กินหรือเลียรกหรือน้ำคร่ำที่ออกมาจากการแท้ง กินน้ำนมของสุนัขที่ติดเชื้อ กินหรือเลียน้ำอสุจิของสุนัขเพศผู้ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะในน้ำปัสสาวะของสุนัขเพศผู้จะมีปริมาณเชื้อชนิดนี้สูงมาก จะทำให้สุนัขผสมพันธุ์ไม่ติด แท้งลูก อัณฑะหรือหนังหุ้มอัณฑะและท่อนำอสุจิอักเสบ หรืออาจพบการบวมของต่อมน้ำเหลือง ม้ามโต ตับอักเสบ ม่านตาอักเสบ และการอักเสบของข้อต่อต่างๆ สำหรับสถานการณ์ของโรคแท้งติดต่อในสุนัขของประเทศไทยขณะนี้อยู่ในระดับของการระบาด” สัตวแพทย์หญิงเกษกนกกล่าว
ด้านนายสัตวแพทย์พลายยงค์ สการะเศรณี นายสัตวแพทย์ 9 สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า
กลุ่มแบคทีเรียบลูเซลลามีหลายสายพันธุ์ ที่พบมากคือ บลูเซลลา อะบอตัส พบมากในวัว ส่วนบลูเซลลา ซูอิส พบในสุกร ขณะที่บลูเซลลา เมลิเทนซิส พบในแพะ และแกะ สำหรับบลูเซลลา แคนนิส เป็นสายพันธุ์ที่พบในสุนัข มีรายงานยืนยันว่า แบคทีเรียเหล่านี้สามารถติดสู่คนได้ ที่ต้องระวังมากคือ บลูเซลลา เมลิเทนซิส และ บลูเซลลา อะบอตัส ซึ่งมีโอกาสติดสู่คนมากที่สุดและมีความรุนแรงของโรคมากที่สุด
สำหรับคนถ้าได้รับเชื้อบลูเซลลา อะบอตัส อาจทำให้เกิดอาการอัณฑะโตในผู้ชาย
หรือถ้าเป็นหญิงตั้งครรภ์หากได้รับเชื้อนี้ จะเสี่ยงต่อการแท้งบุตรสูงมาก ถ้าติดเชื้อบลูเซลลา เมลิเทนซิส จะมีไข้ขึ้นๆลงๆ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บางรายที่เชื้อเข้าสู่ระบบประสาทจะทำให้ซึม ขอเตือนผู้นิยมกินรกวัวทั้งในภาคกลางและภาคอีสานซึ่งขายราคาแพง หรือแม้แต่การกินนมแพะดิบๆ รวมทั้งการนำรกแกะมาใช้เป็นเครื่องสำอาง ให้ระวังอาจติดเชื้อได้ หากวัว แพะ หรือแกะป่วยด้วยโรคบลูเซลโลซิส
“ขณะเดียวกัน ผู้ที่คลุกคลีกับสัตว์อาจติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของสัตว์ ขอเตือนผู้เลี้ยงสุนัขถ้าไม่ จำเป็นอย่านำเนื้อดิบ หรือเครื่องในสัตว์ดิบๆมาให้สุนัขกิน ควรทำให้สุกก่อน ส่วนคนที่กินนมแพะหรือนมวัว ควรกินนมที่ผ่านการพาสเจอไรส์ หรือสเตอร์ริไรซ์จะปลอดภัยกว่า” นายสัตวแพทย์พลายยงค์กล่าว