ม.ล.ยุพดี ศิริวรรณ ที่ปรึกษาโครงการทู บี นัมเบอร์วัน ในทูลกระหม่อมหญิง อุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เปิดเผยว่า
จากการประมวลข้อมูลและรวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับเยาวชนไทยของ 18 เครือข่ายเยาวชน พบว่าเยาวชนไทยมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมแก่งแย่งชิงดี มีความเครียดจากการแข่งขันเพื่อให้ชนะผู้อื่น และเพื่อให้ได้ในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ ด้านสุขภาพ พบเด็กวัยมัธยม ถึงอุดมศึกษา ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ทั้งที่เป็นครั้งคราวและประจำ เฉลี่ยร้อยละ 38.66 และ 17.71 ตามลำดับ โดยระดับอุดมศึกษามีอัตราการบริโภคเหล้าสูงสุด คือร้อยละ 49.72 ขณะที่ระดับอาชีวศึกษามีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุด คือร้อยละ 23.95 ด้านสุขภาพจิตมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปีพยายามฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจากจำนวน 29.73 เป็น 33.98 คนต่อแสนคน และด้านการกระทำความผิด พบเด็กอายุ ต่ำกว่า 18 ปี ถูกส่งเข้าสถานพินิจเนื่องจากก่อคดีอาชญากรรมเป็นจำนวน 53.72 คนต่อประชากรแสนคน หรือเฉลี่ย 90 คนต่อวัน
ม.ล.ยุพดีกล่าวอีกว่า ส่วนข้อมูลด้านสภาพการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชน พบว่า
พฤติกรรมของเยาวชน ซึ่งเป็นปัญหาที่สอดคล้องกันในระดับประเทศมี 8 ประเด็น คือ
1. ดื่มสุราและสูบบุหรี่
2. เล่นการพนัน
3. มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยและการขายบริการทางเพศ
4. ตกเป็นเหยื่อการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย
5. ทะเลาะวิวาทและใช้ความรุนแรง
6. ติดเกมส์ออนไลน์
7. เที่ยวเตร่ในสถานบันเทิงที่ไม่เหมาะสม
8. ติดยาเสพติด
ทั้งนี้ เป็นที่แน่ชัดว่าผลกระทบจากการติดสารเสพติดนั้น
เกิดทั้งทางตรงและทางอ้อม และเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาพฤติกรรมในกลุ่มเยาวชนหลากหลาย ปัญหา การป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดจำเป็นต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ภายใต้ องค์ความรู้และความเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น เพื่อป้องกันปัญหาที่ต้นเหตุ.