ทึ่งใบตองปิดแผล ได้ผลกว่าผ้าก๊อซ

ทึ่งพยาบาลเก่ง ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

นำใบตองมาปิดแผลแทนผ้าก๊อซ ช่วยผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บปวดจากการทำแผลเวลาต้องดึงผ้าก๊อซออก โดยเฉพาะแผลไฟไหม้ เพราะคุณสมบัติเหมาะสม ผิวเป็นมันไม่ติดแผล มีความชุ่มชื้นช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ที่สำคัญผู้ป่วยไม่เจ็บปวด มีความพึงพอใจ 100 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งต้นทุนก็ต่ำกว่าการใช้ผ้าก๊อซ นำเสนอผลงานในที่ประชุมวิชาการสาธารณสุข ในชื่อ "ใบตองวิเศษพิชิตแผล แคร์ความรู้สึก"

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มีการประชุมวิชาการสาธารณสุข ในการประชุมดังกล่าว

นางอรทัย ไพรบึง พยาบาลวิชาชีพ 7 ศูนย์สุขภาพชุมชนปราสาทเยอ อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ นำเสนอผลงานวิชาการ ในสาขานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เรื่อง "ใบตองวิเศษพิชิตแผล แคร์ความรู้สึก" นางอรทัยกล่าวถึงสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวว่า ตนได้นำใบตองมาใช้พันแผลให้กับผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้ ในระดับเบื้องต้นคือระดับ 1 และระดับ 2 ทำให้เวลาล้างแผล ผู้ป่วยจะไม่ทุกข์ทรมานจากการที่ผ้าก๊อซติดกับแผลแล้วต้องดึงออก ใบตองมีคุณสมบัติที่ดีคือผิวมัน ไม่หยาบหรือขรุขระเหมือนใบไม้ชนิดอื่น จึงไม่ติดแผล ทำให้แผลหายเร็วกว่าปกติ เพราะเมื่อไม่มีการกระชากดึงแผล เซลล์ที่กำลังเติบโตของแผลก็จะไม่ถูกทำลาย อีกทั้งใบตองมีความชุ่มชื้นที่แผลไฟไหม้ต้องการ

นางอรทัยกล่าวอีกว่า ในระดับศูนย์สุขภาพชุมชน ไม่สามารถเบิกผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันไม่ให้ผ้าก๊อซติดแผลได้

จึงได้นำแนวคิดการปิดแผลไหม้จากตึกศัลยกรรมการดูแลไฟไหม้ของร.พ.ศิริราชมาประยุกต์ใช้ อีกทั้งใบตองเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ ความเสี่ยงติดเชื้อก็ไม่มี

"จากการทดลองกับผู้ป่วยทั้งสิ้น 37 คน ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยมีความพึงพอใจ 100 เปอร์เซ็นต์ บอกตรงกันว่าไม่ปวดแสบแผล เย็นสบาย เวลาแกะแผลไม่เจ็บ อย่างผู้ป่วยคนหนึ่งมีแผลไฟไหม้ขาทั้ง 2 ข้าง มีอาการทุกข์ทรมานมากเวลาล้างแผล เพราะแผลติดกับผ้าก๊อซ จนวันที่สาม ที่ล้างแผลเราจึงได้ใช้ใบตอง ทำให้เขาไม่ต้องเจ็บปวดอีก" นางอรทัย กล่าว

นางอรทัย กล่าวว่า สำหรับการใช้ใบตองปิดแผล เบื้องต้นจะต้องนำใบตองมาล้างทำความสะอาด

จากนั้นก็ตัดให้ได้ตามขนาดของแผล ทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 7 จึงนำมาปิดแผลแล้วปิดตามด้วยผ้าก๊อซเพื่อให้ไม่ลื่นหลุด ทั้งนี้หากใช้ผ้าก๊อซการหายของแผลจะประมาณ 5-10 วัน แต่แผลที่ใช้ใบตองจะใช้เวลาไม่เกิน 5 วันเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ต้องใช้น้ำเกลือในการแกะแผล ซึ่งปกติใช้ประมาณ 50-100 ซีซี เมื่อรวมต้นทุนในการพยาบาลบาดแผลไฟไหม้จากต้นทุนการใช้ผ้าก๊อซจำนวน 911 บาท แต่หากใช้ใบตองมีต้นทุนเพียง 385 บาทเท่านั้น แต่ใบตองก็ยังมีข้อจำกัด คือเหมาะสำหรับแผลที่อยู่ในบริเวณที่ระบายเหงื่อได้ดี เช่น แขน ขา ลำตัว แต่ไม่สามารถพันบริเวณรักแร้ ข้อมือ ข้อพับต่างๆได้

นางอรทัย กล่าวว่า หากคนในเมืองต้องการจะใช้ใบตอง ควรทำความสะอาดให้ดี
 
หากนำมาปฐมพยาบาลแผลไฟไหม้ควรทาว่านหางจระเข้หนา 2-5 ม.ม. แล้วนำใบตองมาปิด ทั้งนี้ในชุมชนได้ประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการรักษาแผนปัจจุบัน ซึ่งผู้รับบริการมีความพึงพอใจในรูปการให้บริการแนวใหม่ ควรมีการขยายผลสำเร็จของนวัตกรรมสู่เครือข่ายบริการสุขภาพในระดับพื้นฐานต่อไป

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์