หลังจากทีมอินดิเพนเดนต์ เยาวชนไทยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี
คว้าแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลกติดต่อกัน 2 สมัย ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่อาคาร 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือ ซิเมนต์ไทย SCG แถลงข่าวเปิดตัวหุ่นยนต์กู้ภัย ทีมพลาสม่า อาร์เอ็กซ์ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนประเทศไทยที่จะเข้าร่วมชิงชัยการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก "เวิลด์ โรโบคัพ เรสคิว 2008" ที่เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 16-20 ก.ค.นี้
ทีมพลาสม่า อาร์เอ็กซ์ (Plasma RX) ประกอบด้วยสมาชิกในทีม 4 ราย
เป็นนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มจากหัวหน้าทีม น.ส.นวรัตน์ เติมธนาสมบัติ อายุ 23 ปี สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ นายกมล จึงเสถียรทรัพย์ อายุ 23 ปี สาขาวิศวกรรมเครื่องกล นายชนินท์ จันมา อายุ 22 ปี สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และนายยุทธนา สุทธสภา อายุ 23 ปี สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
น.ส.นวรัตน์ หัวหน้าทีมพลาสม่า อาร์เอ็กซ์ กล่าวว่า
มีโอกาสที่ไทยจะป้องกันแชมป์ไว้ได้ จากการประเมินคิดว่าเราสามารถทำคะแนนได้ดีถ้าหุ่นยนต์ทำงานตรงตามแผนที่วางไว้ ขณะนี้หุ่นยนต์มีความพร้อมร้อยละ 90 ส่วนประเทศที่น่ากลัวคือญี่ปุ่นและเยอรมนีซึ่งทำระบบอัตโนมัติได้ดี
เปิดตัวหุ่นกู้ภัยป้องกันแชมป์โลก
นายกมลกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมว่า ด้านแมคคานิกส์นั้นหุ่นยนต์วิ่งได้ยังต้องทดสอบและซ้อมไปเรื่อยๆ
แต่หลังจากดูวิดีโอแล้วประเทศที่น่ากลัวคือเยอรมนี เพราะเป็นประเทศแรกๆ ที่ทำหุ่นยนต์อัตโนมัติและทำได้ดี อย่างไรก็ตามในสนามแข่งขันอะไรก็เกิดขึ้นได้ จะพยายามทำให้เต็มที่ ผศ.ดร.มานพ วงศ์สายสุวรรณ อาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า ที่ผ่านมาหุ่นยนต์ของทีมอินดิเพนเดนต์ทำเรื่องแมคคานิกส์ได้ดีมาก รู้สึกกังวลใจเพราะเราทำได้ไม่ค่อยดี แต่จะทำเรื่องซอฟต์แวร์ได้ดีกว่า ซึ่งเราพยายามพัฒนาแมคคานิกส์ ขณะเดียวกันเรามีทีมซอฟต์แวร์ที่เข้มแข็ง ในการแข่งขันครั้งนี้ซอฟต์แวร์ของไทยจะทำให้ต่างชาติตะลึงแน่ ยอมรับว่ากดดันเพราะต้องแบกภาระแทนทีมอินดิเพนเดนต์ที่เป็นแชมป์โลกสองสมัย อยากให้เด็กๆ ทำให้ดีที่สุด เต็มความสามารถ
ด้านนางมัทนา เหลืองนาคทองดี ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เครือซิเมนต์ไทย SCG กล่าวว่า
หุ่นยนต์ของเยาวชนไทยมีความพิเศษขึ้นทุกปี มีการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง ต่อยอดความสำเร็จได้ดี แสดงถึงศักยภาพของเด็กไทย สำหรับหุ่นยนต์พลาสม่า อาร์เอ็กซ์ มีขนาด 65 x 60 เซนติเมตร น้ำหนัก 35 กิโลกรัม มีล้อตะขาบทำจาก ซิลิโคน มีแขนกลยาว จุดเด่นด้านซอฟต์แวร์คือเป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติที่ไม่ต้องใช้คนบังคับ ปรับให้ทำงานในระบบแมนวลได้ ทั้งยังสร้างแผนที่ 3 มิติและระบุตำแหน่งของเหยื่อได้ชัดเจน ราคาประมาณ 4 แสนบาท โดยหุ่นยนต์ที่จะนำเข้าร่วมแข่งขันในปีนี้มี 2 ตัว ทำเสร็จแล้ว 1 ตัว ส่วนอีกตัวจะนำหุ่นยนต์ของทีม "ไซเฟียส" ซึ่งเป็นทีมรุ่นน้องสถาบันเดียวกัน โดยมีจุดแข็งคือระบบขับเคลื่อนที่สามารถปีนป่ายพื้นที่ลาดเอียง 45 องศาได้