จากกรณีที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มีโครงการทุ่มงบแสนล้านเพื่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำ จากแม่น้ำโขง ฝั่งประเทศลาว
โดยจะใช้แนวผันน้ำจากบริเวณ น้ำงึม ออกทาง ห้วยหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ข้ามไปยัง หนองหาน กุมภวาปี จ.อุดรธานี ในลุ่มแม่น้ำชี เพื่อนำไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำลำปาว จ.กาฬสิน ในระยะแรก และระยะที่ 2 จะผันน้ำจากฝายทดน้ำที่ปากน้ำงึม ผ่านอุโมงค์ผันน้ำลอดใต้แม่น้ำโขง ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) นั้น
ล่าสุดนพ.มนัส กนกศิลป์ นักวิจัยและผู้ศึกษาปรากฎการณ์บั้งไฟพญานาค กล่าวว่า
เป็นห่วงว่า หากเกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ และระบบนิเวศน์ในลุ่มน้ำโขงแล้ว จะมีผลกับการเกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ในช่วง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะเกิดค่อนข้างมาก ใน แม่น้ำโขง ช่วงที่ไหลผ่าน อ.โพนพิสัย พอดี ทั้งนี้องค์ประกอบที่ก่อให้เกิดบั้งไฟพญานาคนั้น ประกอบด้วย การตกตะกอนของสารอินทรีย์ การไหลของกระแสน้ำ การเข้าใกล้ ไกลโลก ของดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ ปรากฏการณ์น้ำขึ้น น้ำลง ฯลฯ หากองค์ประกอบตัวใดตัวหนึ่งเปลี่ยนแปลงไป อาจจะมีผลกับการเกิดของบั้งไฟพญานาคได้
นพ.มนัส ยังกล่าวว่า บั้งไฟพญานาค จะลดลงหรืออาจหมดไปได้หากมีการสร้างอุโมงค์ผันน้ำ
หรือการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบอื่นใดต่อลำน้ำโขงหรือแหล่งน้ำข้างเคียงในกรณี 1.ระดับน้ำโขงในคืนวันออกพรรษา ณ.จุดที่เคยเกิดบั้งไฟเปลี่ยนแปลงไปมากพอ 2.พื้นผิวดินท้องน้ำ ณ.จุดที่เคยเกิดปรากฎการณ์บั้งไฟพญานาคมีความเหนียวแน่นของพื้นผิวดินและส่วนประกอบอินทรียสารที่เป็นแหล่งผลิตก๊าซฟอสฟีนและมีเธนในคืนวันออกพรรษาหรืออย่างน้อย3เดือนก่อนหน้านั้นเปลี่ยนแปลงไปมากพอ และ 3.อัตราการเกิดเปลี่ยนแปลงในระดับน้ำโขงในคืนวันออกพรรษา อย่างไรก็ตามคงต้องกลับไปถามประชาชนมากกว่าว่า การสูญสิ้นของบั้งไฟพญานาคที่หนองคาย แลกกับกับความอุดมสมบูรณ์จากโครงการของรัฐแล้วประชาชนจะเลือกอะไร