วันนี้ (27 พ.ค.) นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า
จากการสำรวจอาหารว่างระหว่างการประชุม ที่ให้พลังงานสูงกว่ามาตรฐาน พบว่า 75% ให้พลังงานมากกว่า 200 กิโลแคลลอรี่ และในจำนวนนี้ 30% ให้พลังงานมากกว่า 300 กิโลแคลลอรี่ ซึ่งร่างกายของผู้ชาย ไม่ควรได้รับพลังงานจากอาหารว่างเกิน 200 กิโลแคลลอรี่ต่อวัน และในผู้หญิงไม่ควรเกิน 150-160 กิโลแคลลอรี่ต่อวัน ทั้งนี้จากการเฝ้าระวังโรคของกระทรวงสาธารณสุข พบ 2 ใน 3 ของประชากรกลุ่มอายุ 40-59 ปี มีปัญหาไขมันในเลือดสูง และมีน้ำหนักเกินจนถึงเป็นโรคอ้วน
อธิบดีกรมอานามัย กล่าวต่อว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีความดันโลหิตสูง 16.3% หรือ 7.95 ล้านคน
และเป็นโรคเบาหวานประมาณ 3 ล้านคน ขณะที่อัตราการป่วยด้วยโรคเรื้อรังโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นของประเทศ ทั้งนี้ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา พบว่า โรคเบาหวานมีคนป่วยเพิ่มขึ้น 4 เท่า โรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้น 5.1 เท่า และโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 2.6 เท่า ซึ่งพฤติกรรมการทานอาหาร และการขาดการออกกำลังกาย เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรค
“การบริโภคเกิน ความเครียด และไม่ออกกำลังกาย พบบ่อยในคนกลุ่มวัยทำงาน ที่นอกจากจะทานอาหารมื้อหลักแล้ว ยังทานอาหารว่าง จากการประชุม ฝึกอบรม ที่เป็นอาหารให้พลังงานสูงจำพวก แป้ง น้ำตาล ไขมันม สูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริหารซึ่งประชุมบ่อยมาก ดังนั้นถ้าอาหารว่างเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง หวานมันเค็มมาก บวกกับไม่มีการออกกำลังกาย จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ทั้งเบาหวาน หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า กรมอนามัยได้เชิญชวนเพื่อนภาคีเครือข่ายประกอบด้วย สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การอนามัย (WHO)
จัดทำโครงการ “Healthy Meeting”การประชุมได้ผล คนประชุมได้สุขภาพ พร้อมลงนามบันทึกความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างองค์กรต้นแบบจัดประชุมฝึกอบรมให้มีสุขภาพดี มีผู้เข้าร่วมอาทิ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สปฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคม อบต.
“กิจกรรมจะมี 2 เรื่องหลัก คือ การให้คำแนะนำจัดอาหารว่างเพื่อสุขภาพ และจัดกิจกรรมยืดเหยียดร่างกายผ่อนคลายความเครียด ระหว่างการประชุมฝึกอบรม โดยกรมอนามัยได้ทำคู่มือแนวทางการจัดประชุมที่ใส่ใจสุขภาพผู้เข้าประชุม รวมถึงซีดีด้วย หน่วยงานที่สนใจ สอบถามได้ที่ 0 2590 4209 หรือดาวโหลดได้จากเว็บไซต์ของกรมอนามัย เว็บไซต์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเว็บไซด์ของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว.