ศาลปค.เบรก รถเมล์ขึ้นราคา

หลังใจจดใจจ่อรอฟังคำสั่งศาลปกครอง ในที่สุดศาลปกครองก็ได้มีคำสั่งทุเลาการมีผลบังคับใช้ การปรับราคาค่าโดยสารแล้วเมื่อค่ำวันที่ 27 พ.ค.

โดยนายบุญชัย รุ่งเรืองไพศาลสุข ประธานเครือข่ายคัดค้านการขึ้นค่าโดยสาร กล่าวภายหลังได้รับคำสั่งจากศาลปกครอง ที่มีคำสั่งทุเลาการมีผลบังคับใช้การปรับราคาค่าโดยสาร ตามมติคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ในรถหมวด 1 และ หมวดที่ 4 คือรถที่วิ่งในเขต กทม. และปริมณฑล และ รถที่วิ่งในซอย สำหรับรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถร่วม ขสมก. ซึ่งเดิมคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ได้มีมติให้ปรับค่าโดยสารรถร้อน 1.50 บาท/คน/เที่ยว ส่วนรถปรับอากาศให้ปรับช่วงละ 1 บาท ว่า รู้สึกดีใจและยินดีกับคำสั่งคุ้มครองของศาลปกครอง เนื่องจากเห็นว่าประชาชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ได้รับความเดือดร้อนมากแล้ว แต่ส่วนของ บขส. และรถร่วม บขส. ได้ปรับราคาก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะรถดังกล่าวมีปัญหาในการเติมก๊าซที่ในปัจจุบันไม่มากนัก
 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คำสั่งของศาลปกครองดังกล่าว เกิดขึ้นจากเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง

มีมติให้ ขสมก.ปรับราคาค่าโดยสารให้กับรถร่วมโดยสาร ขสมก. และรถ ขสมก.ซึ่งเป็นรถร้อน เพิ่มขึ้นอีก 1.50 บาท/คน/เที่ยว และรถปรับอากาศเพิ่มขึ้น 1 บาท/คน/เที่ยว ส่วนรถโดยสารประจำทางของบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) และรถร่วม บขส.ให้เพิ่มขึ้น 3 สตางค์/กม. โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 25 พ.ค. 51 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรถโดยสารของ ขสมก. นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม ได้มีคำสั่งให้ชะลอการขึ้นราคาไว้ก่อนเมื่อวันที่ 25 พ.ค.
 

ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า

ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. บขส.ได้ปรับขึ้นค่าโดยสาร ตามมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ที่ให้ปรับอัตราค่าโดยสารสำหรับรถโดยสาร บขส. และรถร่วมบริการอีก 3 สตางค์ และได้ปรับค่าโดยสารให้เท่ากับรถร่วมบริการ ต่างจากก่อนหน้านี้ที่ค่าโดยสารของ บขส.ต่ำกว่ารถร่วมบริการอยู่กิโลเมตรละ 3 สตางค์
 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาเหตุที่ บขส. ต้องปรับค่าโดยสารเท่ากับรถร่วมเอกชน เพราะทนแบกรับต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว

โดยที่ผ่านมา บขส.ต้องแบกรับภาระขาดทุนกว่า 300 ล้านบาท หากจะตรึงค่าโดยสารต่อไปจะทำให้ บขส.ประสบปัญหาขาดทุนจากการให้บริการเดินรถ สำหรับอัตราค่าโดยสารใหม่ เช่น รถโดยสารวีไอพี เส้นทาง กทม.-ภูเก็ต ปรับค่าโดยสารเป็น 1,025 บาท จากเดิม 970 บาท เพิ่มขึ้น 55 บาทรถโดยสารธรรมดา 40 ที่นั่ง เส้นทาง กทม.-ภูเก็ต ปรับค่าโดยสารเป็น 678 บาท จากเดิม 626 บาท ส่วนเส้นทางระยะใกล้ เช่น พระนครศรีอยุธยา ระยอง สระบุรี ปรับเพิ่มประมาณ 10-20 บาท เท่านั้น

นายพิเณศวร์ พัวพัฒนกุล ผอ.ขสมก. กล่าวว่า ขสมก.จะยังไม่ปรับขึ้นค่าโดยสารตามมติของกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ในวันที่ 25 พ.ค.

ตามนโยบายของนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม และที่ศาลปกครองได้สั่งคุ้มครอง ที่ต้องการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งจะทำให้ค่าโดยสารของ ขสมก.ต่างจากรถร่วมบริการ เช่น รถโดยสารธรรมดา ขสมก. เก็บที่ 7 บาทตลอดสาย รถร่วมบริการเก็บที่ 10 บาทตลอดสาย รถปรับอากาศ ขสมก. เก็บที่ 11-19 บาท รถร่วมบริการเก็บที่ 13-21 บาท ทั้งนี้ ขสมก.จะตรึงค่าโดยสารไปจนกว่าจะเปลี่ยนรถโดยสารใช้เอ็นจีวี


ขณะที่นายฉัตรชัย ชัยวิเศษ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน กล่าวว่า

ในส่วนของสมาคมคงต้องให้สมาชิก ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครอง โดยสมาคมจะมีการหารือร่วมกับสมาชิกเพื่อกำหนดท่าทีอีกครั้งหลังจากนี้ แต่ยอมรับว่า หากไม่ได้ปรับราคาขึ้น จะมีรถร่วม ขสมก.ต้องหยุดเดินรถให้บริการแน่นอน เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระ ต้นทุนได้ต่อไป จากการที่ ขสมก.ตรึงค่าโดยสารส่งผลให้ ผู้โดยสารของรถร่วมเอกชนลดลง โดยเฉพาะผู้โดยสารในช่วงกลางวัน พบว่าผู้โดยสารรอใช้บริการรถโดยสารของ ขสมก.มากขึ้น หากปล่อยไว้เช่นนี้ ผู้ประกอบการรถร่วมเอกชนต้องประสบปัญหาขาดทุนแน่นอน


ทั้งนี้ สมาคมฯเตรียมจะทำหนังสือถึงนายทรงศักดิ์

เพื่อขอความเป็นธรรมในการกำหนดอัตราค่าโดยสารของ ขสมก.ให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยให้ ขสมก.ปรับค่า โดยสารตามที่คณะกรรมการฯอนุมัติ หรือให้ความช่วยเหลือ เอกชน เช่น สนับสนุนน้ำมันฟรีให้กับผู้ประกอบการเอกชน เพื่อให้ตรึงค่าโดยสารเท่ากับ ขสมก.
 

“ผมเห็นว่า การที่ ขสมก.ตรึงค่าโดยสารไม่เป็นธรรม กับผู้ประกอบการ เพราะรัฐเข้ามาบิดเบือนกลไกตลาด เอกชน เก็บค่าโดยสารแพงกว่าจะแข่งขันกับ ขสมก.ได้อย่างไร หาก รัฐต้องการให้ตรึงราคาก็ขอให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านอื่น เพื่อที่ผู้ประกอบการเอกชนจะตรึงค่าโดยสารด้วย ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์โดยตรง” นายฉัตรชัยกล่าว


ส่วนนายชัยรัตน์ สงวนชื่อ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่ให้บริการรถร่วม ขสมก. และรถวิ่งในซอยก็ต้องปฏิบัติและเคารพกติกา

เพราะเป็นคำสั่งของศาล เนื่องจากมีคำสั่งให้คุ้มครอง ซึ่งจะมีผลบังคับ ตั้งแต่หลังวันที่ 28 พ.ค. 51 เป็นต้นไป เรื่องนี้มองว่า แม้ว่าต้นทุนค่าน้ำมันต่างๆจะปรับตัวเพิ่มขึ้น และทุกฝ่ายก็รู้ว่าปัจจัยต่างๆที่ผู้ประกอบการขอขึ้นค่าโดยสาร และคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางมีมติออกไปนั้นก็มีเหตุผล แต่เมื่อมีคำสั่งคุ้มครอง ทางผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวเองให้สามารถอยู่ได้ ส่วนกรณีที่มีหลายฝ่ายได้มีความกังวลว่าจะมีผู้ประกอบการรถร่วมโดยสาร ขสมก.ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และแอบลักไก่เก็บค่าโดยสารเพิ่มขึ้นนั้น ในเรื่องนี้ต้องฝากให้ผู้ใช้บริการ ตรวจสอบและดูแลตัวเอง หากพบว่ามีรถร่วม ขสมก.แอบลักไก่ขึ้นค่าโดยสาร ก็ต้องแจ้งมาที่ศูนย์ร้องเรียนที่หมายเลข 1584 ได้เลย หากตรวจสอบพบจะถูกดำเนินการขั้นเด็ดขาด


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์