วันนี้ (26 พ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า
ในวันที่ 31 พ.ค.ของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เพื่อเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ รณรงค์เพื่อให้ประชาชน ตระหนักถึงพิษภัยบุหรี่ รวมทั้งขอความร่วมมือให้ผู้สูบบุหรี่ทั่วโลก ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 1,300 ล้านคน หยุดสูบบุหรี่อย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้อากาศไร้มลพิษจากควันพิษบุหรี่ ในปีนี้กำหนดคำขวัญรณรงค์ คือ “เยาวชนรุ่นใหม่ ร่วมใจ ต้านภัยบุหรี่” (Tobacco - free Youth) เพื่อป้องกันเยาวชนไม่ให้ตกเป็นทาสของบุหรี่
นายไชยา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ใช้ทุกมาตรการในการควบคุมป้องกันปัญหาการสูบบุหรี่
โดยออกกฎหมายควบคุมทั้งหมด 18 ฉบับ ฉบับล่าสุดมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2551 ประกาศฉบับนี้ กำหนดให้ ตลาดทุกประเภทรวมทั้งตลาดนัด ร้านจำหน่ายอาหารทั้งติดแอร์และไม่ติดแอร์ ผับ บาร์ เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ทั้งหมด โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ และผ่อนผันให้ผู้ประกอบการปรับปรุงสถานที่ จนถึงวันที่ 30 พ.ค.โดยจะเริ่มตรวจจับจริงพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 31 พ.ค.นี้ และได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศออกตรวจตามสถานที่ตามที่ประกาศไว้ หากพบผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ จะมีโทษปรับทั้งเจ้าของสถานที่และผู้สูบ เจ้าของสถานที่ มีโทษปรับ 20,000 บาท ส่วนผู้สูบมีโทษปรับ ไม่เกิน 2,000 บาท
ดร.มัวรีน อี.เบอร์มิงแฮม (Dr. Maureen E. Birmingham) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า
จากข้อมูลทั่วโลก ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ปีละ 4.5 ล้านคน หากไม่ดำเนินการป้องกันและแก้ไขเร่งด่วน คาดว่าภายในปี 2573 จะมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่เพิ่มปีละมากกว่า 8 ล้านคน โดยในศตวรรษที่ 21 คาดการณ์ว่าอาจมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ถึง 1,000 ล้านคน สำหรับในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ปีละประมาณ 42,000 คน ที่น่าเป็นคือ มีเยาวชนไทยโดยเฉพาะผู้หญิงมีการสูบบุหรี่มากขึ้น โดยผู้หญิงไทยสูบบุหรี่มีร้อยละ 2.4 แต่ในกลุ่มเยาวชนหญิงกลับมีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิงถึง 2 เท่า หรือถึงร้อยละ 4.8 อีกทั้งยังมีการเริ่มสูบในอายุที่ต่ำลงจากเดิม
ด้าน พญ.ฉายศรี สุพรศิลป์ชัย รักษาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า
ในประเทศไทย บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการตายอันดับ 2 รองจากการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ มีรายงานปีละกว่า 40,000 คน โดยเฉพาะมะเร็งปอดมีผู้ป่วยใหม่ปีละเกือบ 20,000 คน อย่างไรก็ตามแนวโน้มอัตราการสูบบุหรี่เป็นประจำของคนไทยลดลง เหลือร้อยละ 18.9 หรือ 9.5 ล้านคน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ แต่ละปีมีเยาวชนเสพติดบุหรี่รายใหม่ที่จะกลายเป็นผู้สูบประจำปีละ 2-3 แสนคน ซึ่งบุหรี่เป็นสิ่งเสพติดชนิดแรกของวัยรุ่นที่จะนำไปสู่การติดยาเสพติดอื่นที่ร้ายแรงกว่า.