เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 23 พ.ค. ผู้จำหน่ายปลาสวยงามรายใหญ่และรายย่อยกว่า 300 ร้านค้า
ในตลาดสนามหลวง 2 ถนนเลียบคลองทวีวัฒนา แขวงและเขตทวีวัฒนา กทม. ต่างทยอยกันเดินทางไปแจ้งความต่อ พ.ต.ท.ธนชัช จันทร์เพ็ญ พนักงานสอบสวน (สบ 2) สน.ศาลาแดง ขอลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานกรณีปลาหลายพันธุ์ที่เลี้ยงไว้ในตลาดนับพันตัวเพื่อรอจำหน่ายตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากกระแสไฟฟ้าดับเมื่อคืนวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา แล้วไม่มีผู้รับผิดชอบชดใช้ ค่าเสียหายที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท
หลังจากนั้น พ.ต.ท.สรวิทย์ พุกะหรัตน์ รอง ผกก.สส.สน.ศาลาแดง เดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุบริเวณสำนักงานการตลาดธนบุรี หรือตลาดสนามหลวง 2
ตามข้อมูลที่ร้องเรียน พบผู้ประกอบการจำหน่ายปลา สวยงามหลายสิบรายกำลังอยู่ระหว่างร้องเรียนเรียกร้องความเสียหายกับนายพงษ์พจน์ พิมพ์สมฤดี ผอ.สำนักงานการตลาด กทม. เพื่อหาผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นนับล้านบาทในครั้งนี้ มีบางร้านนำปลาสวยงามราคาแพงที่ตายนับพันตัว อาทิ ปลาอะโรวาน่า ปลาคาร์พ ปลาช่อนอเมซอน ปลาหมอสี ปลากระเบนน้ำจืด มาเททิ้งในสำนักงานประจานความชุ่ย พร้อมนำเกลือมาโรยประชดจะทำปลาร้าแพงที่สุดในโลก หากผู้บริหารตลาดไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหาย ส่งกลิ่นเหม็นคาวคลุ้งไปทั่วสำนักงาน
นายสมชาย แจ้งกระจ่าง อายุ 31 ปี
เจ้าของร้าน “ป๋อง บางตาล” ที่ได้รับผลกระทบเผยว่า แค่ร้านตนรายเดียวเสียหายไปไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาทแล้ว ปลาที่เลี้ยงไว้รอจำหน่ายนับพันตัวตายหมด ส่วนใหญ่ปลาช่อนอเมซอน ปลายี่สกไทย ปลาอะโรวาน่า ปลาทอง และปลาสวยงามชนิดอื่นที่ล้วนมีราคาแพง ตัวละตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักแสนบาทตายเกลี้ยง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทราบข่าวเมื่อตอนเช้า หลังเจ้าของร้านเหยื่อสดที่นำมาส่งเป็นอาหารปลาในร้านทุกเช้าโทร.มาบอกข่าวร้ายว่าปลา ที่เลี้ยงไว้ลอยตายเกลื่อน จึงรีบเดินทางมาดูแทบตกใจ พอสอบถามทุกรายก็เป็นเหมือนกันหมด สาเหตุทราบต่อมาว่า ช่วง 3 ทุ่มเกิดพายุฝนกระหน่ำอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ไฟฟ้าดับทั้งตลาด เครื่องออกซิเจนในบ่อเลี้ยง และตู้ปลาตามร้านต่างๆไม่ทำงาน ระบบน้ำไม่ไหลเวียน ทำให้ปลาทั้งหมดขาดอากาศตายเกลี้ยง จึงรวมตัวกันไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ก่อนมาเรียกร้องหาผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายในครั้งนี้
ด้านนายประกาศ วรรณเกษม หัวหน้าธุรการฝ่ายการตลาด กล่าวว่า
ทราบข่าวไฟดับตอน 3 ทุ่ม จึงประสานไปยังการไฟฟ้านครหลวงเพื่อมาแก้ไขตอน 4 ทุ่มเศษ การไฟฟ้านครหลวงรับปากจะรีบส่งเจ้าหน้าที่มาแก้ไขให้ รอจนตี 1 กว่าก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่มาแก้ไขเลยจะโทรศัพท์ไปบอกผู้ประกอบการทุกร้านที่มีหมายเลขโทรศัพท์อยู่ในสำนักงาน แต่ไม่สามารถติดต่อได้สักราย ถือว่าทำตามหน้าที่ทุกอย่างดีที่สุดแล้ว
ต่อมานายพงษ์พจน์ พิมพ์สมฤดี ผอ.สำนักงานการตลาด กทม. นายสุรินทร์ ทองแย้ม หัวหน้างานนิติการรักษาการหัวหน้าฝ่ายอำนวยการตลาดธนบุรี ได้ประชุมหารือกับฝ่ายตัวแทนการไฟฟ้านครหลวงและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อหาข้อสรุปต่อไปว่าเกิดข้อผิดพลาดตรงไหน และใครต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าเสียหายนับล้านบาทที่เกิดขึ้น