เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานเปิดการประชุมเนื่องในวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำปี 2551 ภายใต้หัวข้อเรื่อง "ความหลากหลายทางชีวภาพทางการเกษตร" ว่า ในปีนี้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ กำหนดหัวข้อสำหรับวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำปี คือความหลากหลายทางชีวภาพทางการเกษตร ซึ่งถือว่ากำลังอยู่ในความสนใจของกระแสโลกที่กำลังมีความวิตกกังวลเกี่ยววิกฤตปัญหาอาหารโลก ซึ่งประเทศไทยนับว่าเป็นแหล่งอาหารสำคัญของโลกแห่งหนึ่ง เนื่องจากมีความหลากหลายทางพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ถือว่าเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของทส.ที่จะเป็นผู้ดูแลระบบนิเวศภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกกำลังสร้างผลกระทบต่อความหลากหลายทางธรรมชาติ โดยเฉพาะพืชผลทางการเกษตร ดังนั้น ทส.จึงจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากสาเหตุดังกล่าว
ด้านดร.ทรงพล สมศรี นักวิชาการ กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกส่งผลกระทบโดยตรงต่อพันธุ์พืชสวน ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งอาหารสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์ผลไม้ หรือพืชสวนพื้นเมือง ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรพยายามจะศึกษาวิจัย เพื่อให้ความรู้กับประชาชนในการใช้ประโยชน์พันธุ์พืชสวนเหล่านี้อย่างยั่งยืน โดยนักวิชาการพยายามทำการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเมล็ดพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้มีความแข็งแรง ทนต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป หรือภาวะโลกร้อนให้มากขึ้น
เปิดบัญชีผัก-ผลไม้ไทยใกล้สูญพันธุ์
ดร.ทรงพลกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ คือการเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของผัก ผลไม้พื้นเมืองของไทย
ซึ่งมีแนวโน้มว่ากำลังสูญพันธุ์ไปจากโลกหลายชนิด ไม่เพียงเหตุผลที่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น แต่การที่ประชาชนยังไม่เข้าใจ และไม่เห็นความสำคัญของการรักษาพันธุ์พืชสวนเหล่านี้ไว้ เนื่องจากเชื่อว่าไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ทำให้พืชพันธุ์ผัก หรือผลไม้พื้นเมืองถูกทำลายเพื่อนำพื้นที่ไปปลูกพืชพันธุ์ชนิดอื่นแทน ทำให้ค่อยๆ หายากไปเรื่อยๆ และอาจจะสูญพันธุ์ไปในเวลาอันใกล้นี้หากยังไม่มีการอนุรักษ์ไว้ โดยพืชพื้นบ้านที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มีอยู่หลายชนิด ทั้งผัก ผลไม้ และพันธุ์ไม้ดอกต่างๆ ส่วนผลไม้ เช่น มะพูด มะดัน มังคุดบางสายพันธุ์ รางสาด น้อยโหน่ง ลูกคุย ลูกพรวด ผลไม้ตระกูลเงาะ เช่น เงาะคอแลน หรือเงาะไม่มีขน สีละมัน ลักษณะคล้ายลิ้นจี่ ส้มจุก ส้มแก้ว ส้มแขก ส้มมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียนพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งเป็นต้นกำเนิดของทุเรียนพันธุ์นิยมในปัจจุบัน เช่น พันธุ์ทองสุก แม่พันธุ์ของทุเรียนพันธุ์ก้านยาว พันธุ์กำปั่น แม่พันธุ์ของทุเรียนพันธุ์หมอนทอง นกหยิบ การะเกด อีลวง ที่กำลังจะสูญพันธุ์หายไปจากประเทศไทย
"นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไม้ดอก เช่น หมอกมิวายที่ขณะนี้พบอยู่แห่งเดียวที่จ.หนองคาย หรือแม้กระทั่ง ชะมวงซึ่งเป็นผักพื้นเมืองของชาวจ.จันทบุรี ที่นิยมนำมาทำเป็นแกงหมูชะมวงอร่อยมากก็กำลังหายากขึ้นทุกวัน และถือว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ คนจันทบุรีอาจจะไม่มีแกงหมูชะมวงรับประทานกันอีกต่อไป ถ้าหากต้นชะมวงไม่มีแล้ว ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญที่ทำให้พันธุ์พืชสวนเหล่านี้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องจากประชาชนเห็นว่าไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ถ้าปลูกเพื่อขายก็ไม่ได้ราคา ทำให้เจ้าของสวน หรือคนที่มีพันธุ์ไม้เหล่านี้อยู่ไม่ให้ความสำคัญและพากันโค่นทิ้ง เพื่อใช้พื้นที่ปลูกพืชพันธุ์อื่นที่มีราคาแทน ทำให้พันธุ์ไม้ดั้งเดิมของไทย ซึ่งถือได้ว่ามีที่เดียวในโลกกำลังจะสูญพันธุ์ไปหลายชนิดด้วยกัน" ดร.ทรงพล กล่าว
ดร.ทรงพลกล่าวต่อว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรพยายามแก้ไขปัญหาการเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของพืชพันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้
โดยพยายามสร้างคุณค่าให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนหันกลับมานิยมปลูก หรือรักษาพันธุ์ไว้ เช่น ส่งเสริมให้นำพืชเหล่านี้มาแปรรูปทำเป็นสินค้าโอท็อปของท้องถิ่น เช่น ทำเป็นยาแผนโบราณ อาทิ แคปซูลส้มแขกเม็ด หรือแกงหมูชะมวงกระป๋อง หากประชาชนสามารถนำพืชสวนเหล่านี้มาพัฒนาเป็นสินค้าขายได้แล้ว จะทำให้มีการเพิ่มการขยายพันธุ์ หรือปลูกเพิ่มเติมขึ้นแทนการโค่นทิ้ง