หลังจากกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถยกเว้นใช้อุปกรณ์เสริม
เริ่มมีผลเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังผ่อนผันให้ตักเตือนผู้ขับขี่ก่อน กระทั่งเริ่มมาตรการกวดขันจริงจังด้วยการจับเสียค่าปรับทั่วประเทศในวันที่ 20 พ.ค. ปรากฏว่า ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ที่อยู่บนท้องถนนเริ่มมีพฤติกรรมระมัดระวังการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถมากขึ้น เนื่องจากเกรงว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะจับกุม โดยเฉพาะตามแยก หรือถนนใหญ่ที่มักมีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนอำนวยการจราจรอยู่ เกือบทุกคันจะใช้อุปกรณ์เสริมแฮนด์ฟรีหรือบลูทูธ พูดคุยโทรศัพท์ ระหว่างขับรถปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีเพียงบางคันเท่านั้นที่เผลอหยิบโทรศัพท์แนบหูโทร.ต่อหน้าต่อตาเจ้าหน้าที่ตำรวจ
พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รอง ผบช.น. เปิดเผยว่า
เป็นวันแรกที่กฎหมายโทร.แล้วขับเริ่มกวดขันจับกุมอย่างจริงจัง หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา และมีการผ่อนผันช่วงแรกวันที่ 8-19 พ.ค. ให้เป็นการจับเตือนเพื่อกระตุ้นผู้ขับขี่ให้ตื่นตัว และปฏิบัติ ตามกฎหมาย สำหรับผลการจับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมาย โทร.แล้วขับวันแรกของ กทม. สามารถจับกุมได้ 92 ราย มี บก.น.2 จับกุมมากสุด 26 ราย ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ สน.คันนายาว 8 ราย รองลงมา บก.น.4 จับกุมได้ 18 ราย ที่เหลือจับกุม บก.ละ 4-5 ราย
รอง ผบช.น.กล่าวอีกว่า สถานที่จับกุมส่วนใหญ่จะอยู่บนถนนสายหลัก และบริเวณสี่แยกไฟแดง
เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้วิธีจับกุมแบบซึ่งหน้าทั้งหมด สำหรับการตรวจจับด้วยกล้องยังไม่พบผู้กระทำความผิด ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้กระทำผิดที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่รับรู้เรื่องการบังคับใช้กฎหมายแต่ยังไม่คุ้น เผลอเพราะความเคยชิน มีเพียง 1 รายเท่านั้น อ้างยังไม่ทราบว่ากฎหมายเริ่มจับจริง เข้าใจว่ายังอยู่ในช่วงผ่อนผัน ขณะที่ตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ มีการกวดขันจับกุมอย่างจริงจังเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเขตเมืองในจังหวัดใหญ่ๆ อาทิ นครราชสีมา เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต สงขลา ชลบุรี แต่ส่วนมากผู้ขับขี่จะให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นอย่างดี มีแค่บางรายยังแอบใช้โทรศัพท์โดยไม่มีอุปกรณ์เสริมเวลาที่เห็นว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนอำนวยการจราจรอยู่
ด้าน พล.ต.ท.ชาตรี สุนทรศร ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าวว่า เรื่องนี้บางทีมีการปล่อยปละละเลยจนรู้สึกว่า การไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรเป็นเรื่องปกติ ตำรวจมีหน้าที่กวดขันก่อนที่จะกู่ไม่กลับ เน้นจังหวัดที่มีสถิติการตายจากอุบัติเหตุมากที่สุดในแต่ละภาคก่อน และจะรณรงค์ไปจนถึงสิ้นปีทุกภาคทั้งประเทศ ส่วนค่าปรับที่มีประชาชนโอดครวญว่าแพงเกินไป ขอเรียนว่าไม่แพง ต่างประเทศแพงกว่าสิบเท่า กฎหมายนี้มีเพื่อประโยชน์ในการใช้รถใช้ถนนให้เกิดความปลอดภัย