ด้านนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า
จากที่ราคาน้ำมันดีเซลได้มีการปรับราคาอย่างต่อเนื่อง ยอมรับว่ากระทรวงไม่ได้นิ่งนอนใจและหาแนวทางที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรถโดยสารทั้งระยะสั้นและระยะยาวอยู่ เบื้องต้นเห็นด้วยที่จะให้ ขสมก. ปรับราคาค่าโดยสารให้กับรถร่วมโดยสาร ขสมก.และ รถ ขสมก. เพิ่มขึ้นอีก 1.50 บาท/คน/เที่ยว จะทำให้ราคาค่าโดยสารรถร้อนครีมแดง เป็น 8.50 บาท/คน รถครีมน้ำเงินเป็น 10 บาท/คน ส่วนรถปรับอากาศ เห็นควรให้เพิ่มขึ้นช่วงละ 1 บาท จากเดิม 12-24 บาท เป็น 13-25 บาท การที่ ขสมก.และผู้ประกอบการรถร่วม ขสมก.จะปรับราคาค่าโดยสารเพิ่มขึ้นได้นั้น จะต้องให้ คณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ที่มีนายปิยะพันธ์ จัมปาสุต รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ได้ประชุมในวันที่ 20 พ.ค. นี้ และมีมติอย่างเป็นทางการออกมาก่อน สาเหตุที่เห็นด้วยให้ปรับค่าโดยสาร เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ราคาน้ำมันได้ปรับขึ้นมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ประกอบกับรัฐบาลมีแนวทางเพิ่มค่าครองชีพให้กับข้าราชการและลูกจ้างไปกว่า 5-6% แล้ว จึงมองว่าการที่จะอนุมัติให้ปรับค่าโดยสารรถเมล์ได้ ผู้ใช้บริการคงเข้าใจถึงความจำเป็นของผู้ให้บริการ
รมช.คมนาคมยังได้กล่าวถึงความคืบหน้า ในการแก้ไขปัญหาการขาดทุนสะสมขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า
ได้มีการหารือร่วมกับนายพิเณศวร์ พัวพัฒนกุล ผอ.ขสมก. ถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการขาดทุนสะสม โดยเฉพาะการลดต้นทุนการเดินรถที่ใช้ราคาน้ำมันเป็นฐานการคำนวณต้นทุนการเดินรถ ซึ่งทำให้ ขสมก.มีต้นทุนเดินรถสูงขึ้นตลอดเวลา ประกอบกับสภาพรถส่วนใหญ่ของ ขสมก.เก่า มีอายุเฉลี่ยถึง 11-15 ปี ทำให้สิ้นเปลือง จึงได้สั่งการให้ ขสมก. เร่งจัดทำแผนการเปลี่ยนรถโดยสาร จากรถร้อนมาเป็นรถปรับอากาศใหม่ทั้งหมด และเป็นรถที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี เพื่อลดต้นทุน โดยให้ดำเนินการได้ภายในเดือนกันยายนนี้
ทั้งนี้รถที่จะนำมาใช้นั้น นายทรงศักดิ์กล่าวว่า
จะเป็นรถที่ ขสมก. เช่าแบบเหมาจ่ายจากเอกชนจำนวน 6,500 คัน จากเดิมที่ ขสมก.ให้บริการประชาชนปัจจุบัน 3,500 คัน มีเส้นทางบริการเพียง 115 เส้นทาง เมื่อปรับแล้วคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นกว่า 300 เส้นทาง รถที่จะนำมาทดแทนนั้น จะให้บริการครอบคลุมทุกเส้นทาง ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อกระตุ้นให้ผู้โดยสารที่มีอยู่ในทุกระบบการขนส่งกว่า 2 ล้านคน หันมาใช้บริการ ขสมก.มากขึ้น และ ขสมก.จะนำระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) มาใช้ เพื่อให้ผู้โดยสารสะดวกสบาย
คาดว่าจะมีการจำหน่ายในราคา 30 บาท/คน/วัน ส่วนผู้ ประกอบการรถโดยสารร่วม ขสมก.นั้น จะต้องปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ เช่น ซื้อรถพลังงานเอ็นจีวี ปรับปรุงการให้บริการ รวมถึงต้องร่วมกับ ขสมก.ในการใช้ตั๋วร่วมกับ ขสมก. จะทำให้รายได้ของ ขสมก.เพิ่มขึ้นจากเดือนละ 500 ล้านบาท เป็น 900 ล้านบาท ขณะที่รายจ่ายจะอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ระยะยาวเชื่อว่ารายจ่ายของ ขสมก.จะค่อยๆลดลง เพราะค่าใช้จ่ายด้านค่าซ่อมบำรุง ขสมก.ไม่เสีย เพราะเช่าจากเอกชนที่จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด จะทำให้ ขสมก.บริหารจัดการองค์กรได้ โดยไม่พึ่งงบประมาณจากรัฐบาล ส่วนหนี้สะสมของ ขสมก.กว่า 40,000 ล้านบาทนั้น อาจเสนอให้ ครม.พักการชำระหนี้ไว้ก่อน เพื่อรอให้ ขสมก.มีรายได้และกำไรจากการเดินรถ แล้วจึงทยอยชำระ สำหรับแผนการเปลี่ยนรถโดยสารนั้น ขสมก.จะต้องนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและ ครม.เพื่อให้พิจารณาเห็นชอบต่อไป
ด้านนายชัยรัตน์ สงวนชื่อ รักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับผู้ประกอบ การรถโดยสารว่า
ที่ประชุมเห็นว่าควรมีการปรับขึ้นค่าโดยสาร ตามที่ผู้ประกอบการร้องขอ เพราะภาระต้นทุนน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น โดยคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางจะประชุมเร่งด่วนในวันที่ 20 พ.ค.นี้ และจะมีผลประกาศใช้ภายใน 5 วัน หรือจากปกติที่จะประกาศขึ้นภายใน 10 วันหลังมีมติ
ส่วนนายประสงค์ ตันมณีวัฒนา อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับเรือประจำทาง ว่า ขณะนี้น้ำมันอยู่ที่ 34-35 บาท/ลิตร เลยเกณฑ์ที่จะต้องปรับค่าโดยสารเรือ แต่หลังจากที่มีการหารือร่วมกันกับผู้ประกอบการยังไม่ได้ข้อสรุป คาดว่าจะมีการประชุมร่วมกันปลายเดือน พ.ค. หรือต้นเดือน มิ.ย. นี้ เพื่อให้ได้ข้อยุติ สำหรับค่าโดยสารเรือนั้นต้องมีการพิจารณาปรับขึ้น แต่ต้องให้ผู้ประกอบการเรือรวบรวมรายละเอียดมาเสนอกรมอีกครั้งเพื่อจะได้นำมาพิจารณาให้เร็วที่สุด ขณะนี้หากไม่มีการปรับค่าโดยสาร ผู้ประกอบการจะขาดทุนอยู่ที่ 7.30% ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นจะต้องลดเที่ยวเดินเรือในชั่วโมงธรรมดาลง เพื่อลดต้นทุน ที่ผ่านมาพบว่าผู้โดยสารเรือลดลงอย่างต่อเนื่อง การปรับค่าโดยสารก็ไม่สามารถทำให้มีกำไรมากเท่าไหร่ โดยอัตราค่าโดยสารเรือที่ผู้ประกอบการร้องขอปรับ เรือด่วนเจ้าพระยาจะขอปรับขึ้นในอัตราระยะละ 2 บาท เรือโดยสารธรรมดาและเรือคลองแสนแสบ ปรับขึ้นอัตรา 1 บาท และเรือข้ามฟากปรับขึ้น 50 สตางค์ต่อเที่ยว