วันนี้ (7 พ.ค.) นายศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงศ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้สัมภาษณ์ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี
ถึงความเสี่ยงของประเทศไทยกับการเกิดพายุรุนแรงเหมือนในพม่า ว่า พื้นที่ส่วนหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะภาคใต้ตั้งแต่ จ.สตูล พังงา กระบี่ ภูเก็ต ระนอง ติดกับทะเลอันดามันและส่วนหนึ่งติดฝั่งอ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดีย และจังหวัดทางตะวันตกของไทย ตั้งแต่ทางภาคเหนือ คือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลงมาถึงแถบกาญจนบุรี ปราจีนบุรี เป็นพื้นที่เสี่ยง แต่ถือว่าโชคดีที่ไทยมีภูเขาบังอยู่ตั้งแต่เทือกเขาธงชัย เทือกเขาตะนาวศรี ดังนั้นพายุที่เข้ามาทางอ่าวเบงกอล จะถูกบังส่วนหนึ่งจากแนวเขาทำให้ความรุนแรงอ่อนตัวลงกลายเป็นพายุดีเปรสชันเป็นส่วนมาก
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม คงประมาทไม่ได้
ขึ้นอยู่กับลักษณะของพายุ ดังนั้นต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลาในจังหวัดดังกล่าว รวมทั้งให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้มีระบบเฝ้าระวังติดตามภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะการก่อตัวของพายุ กลุ่มฝน
"สำหรับอุปกรณ์เครื่องมือที่กรมอุตุฯ มีอยู่ในปัจจุบันสามารถตรวจสอบการก่อตัวของพายุ การตรวจสอบกลุ่มฝนได้ดีระดับหนึ่ง ถ้ามีอะไรผิดปกติจะแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบก่อนเพื่อเตรียมตัวอย่างน้อย 1 สัปดาห์" อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าว
นายศุภฤกษ์ กล่าวด้วยว่า พายุไซโคลนรุนแรงที่เกิดในประเทศพม่า ถือเป็นลูกแรกที่เกิดจากมหาสมุทรอินเดีย
อาจมีส่วนหนึ่งมาจากความเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลก ทำให้พายุที่เกิดขึ้นมีความแรงและจำนวนลูกมากขึ้น อยากให้ประชาชนตระหนักถึงภัยธรรมชาติมากขึ้น เพราะสิ่งแวดล้อมในโลกมีการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับประเทศไทยอยู่ระหว่าง 2 ฝั่งของมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก