ผู้ปกครอง-เด็กนักเรียนแห่ร้องเรียนปัญหาแอดมิชชั่น สกอ.จำแนกออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่
เผย ทุกกรณีเคลียร์ได้หมดแต่ยังไม่หมดปัญหา ชี้ มีกลุ่มเหยียบเรือสองแคมได้โควตาสอบตรงแล้วแต่ยังมาสอบแอดมิชชั่น พอไม่มีรายชื่อก็เดือดร้อนวิ่งวุ่นหาทางแก้ปัญหา แนะ ไปตรวจสอบที่มหาวิทยาลัยที่ได้โควตารับตรงก่อนว่าถูกตัดสิทธิหรือยัง ก่อนมายื่นเรื่องขอที่เรียน ส่วนเด็กไม่ผ่านแอดมิชชั่นไม่ต้องเสียใจมีมหาวิทยาลัยเปิดพื้นที่รองรับอีก 1.2 หมื่นคน ด้านสาวเรียนดีสอบติดคณะวิทยาศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี แต่ขาดทุนการศึกษา วอนเดลินิวส์เป็นสื่อกลางหาทางช่วยเหลือ
หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ประกาศผลการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลาง หรือแอดมิชชั่น ประจำปีการศึกษา 2551 แล้วนั้น
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 5 พ.ค. ที่ สกอ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีนักเรียนและผู้ปกครองทยอยมาร้องเรียนในกรณีต่าง ๆ อาทิ นางสุขุมาลย์ สุครีวก ผู้ปกครอง กล่าวทั้งน้ำตาว่า ตนและลูกสาวเครียดมากที่ไม่ติดแอดมิชชั่น ทั้งที่ลูกมีคะแนนสูงกว่าคะแนนต่ำสุดของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ได้โควตารับตรงของคณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม ไปแล้ว แต่ที่ผ่านมาได้โทรศัพท์ไปสละสิทธิโควตารับตรงแล้ว ทั้งนี้ตนไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องเรียนที่ไหน แต่อยากได้จุฬาฯ เพราะอยู่ใกล้บ้าน
ต่อมาเวลา 15.00 น. ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้แถลงข่าวสรุปผลการร้องเรียนว่า มีผู้ร้องเรียน 58 ราย แยกเป็น 5 กรณี
คือ 1.ผู้สมัครที่เป็นเด็กซิลนำคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต ไม่ตรงกับปีที่จบการศึกษามายื่น 10 ราย 2.ผู้ร้องเชื่อว่า สกอ.คิดคะแนน ผิด 2 ราย โดยรายหนึ่งอ้างว่าคะแนนที่มีสูงกว่าคะแนนต่ำสุดที่ได้เข้าคณะใดคณะหนึ่ง แต่เมื่อตรวจสอบพบว่าคะแนนที่อ้างเป็นคะแนนของปี 50 อีกรายนำสำเนาคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง หรือเอเน็ต มายืนยันว่ามากกว่าคะแนนที่ สกอ.ประกาศ แต่เมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นสำเนาที่ไม่ใช่ของ สกอ. เมื่อชี้แจงเด็กทั้ง 2 คนก็ยอมรับ
3.ไม่มีหลักฐานยืนยันจากกระทรวงศึกษาธิการว่าจบ ม.6 จำนวน 2 ราย 4.ไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำรายวิชาที่คณะกำหนด 3 ราย และ 5.ถูกตัดสิทธิแอดมิชชั่น เพราะติดโควตารับตรงไปแล้ว 41 ราย สำหรับปัญหาที่พบมากที่สุดเป็นกลุ่มที่ถูกตัดสิทธิเพราะได้โควตารับตรงในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ดังนั้นถ้านักเรียนคนใดคิดว่าได้สละสิทธิไปแล้ว แต่มหาวิทยาลัยยังส่งชื่อมาตัดสิทธิแอดมิชชั่น ให้ติดต่อมหาวิทยาลัยโดยตรง และขอหนังสือจากมหาวิทยาลัยมายืนยัน ทาง สกอ. ก็จะคืนสิทธิแอดมิชชั่นให้ ทั้งนี้ปัญหาที่เด็กบางคนมีความลังเล หรือเหยียบเรือสองแคม หากปล่อยให้เด็กแทงกั๊กเช่นนี้ก็จะเกิดปัญหาต่อไป ซึ่ง สกอ. คงต้องหารือกับมหาวิทยาลัย เพื่อหาทางแก้ปัญหาการตัดสิทธินักศึกษาต่อไป ดร.สุเมธ กล่าว
ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่า สำหรับนักเรียนที่ผิดหวังก็ยังมีสถาบันอุดมศึกษาอีกหลายแห่งที่ยังมีที่ว่าง
โดยเฉพาะกลุ่ม มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งมีที่ว่างประมาณ 12,000 ที่นั่ง ส่วนสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่แจ้งว่าจะรับเพิ่ม คือ ม.เกษตรศาสตร์ รับคณะอุตสาหกรรมเกษตร (โครงการพิเศษ) ม.ธรรมศาสตร์ รับคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) ม.นเรศวร รับคณะมนุษยศาสตร์ วิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ สังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ม.บูรพา รับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ เทคโนโลยีทางทะเล วิทยาลัยอัญมณี
เลขาธิการ กกอ. เผยอีกว่า มศว รับคณะศิลปกรรมศาสตร์ สัตวศาสตร์และเทคโนโลยี การเกษตร ม.อุบลราชธานี รับคณะวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ (โครงการพิเศษ) ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ รับคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.สงขลานครินทร์ รับทุกคณะ ม.มหาสารคาม รับทุกคณะ ม.แม่ฟ้าหลวง รับทุกคณะ เป็นต้น ซึ่งสามารถดูรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ของแต่ละมหาวิทยาลัย นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเอกชนทุกแห่งก็พร้อมที่จะรองรับ รวมทั้งสถาบันการพลศึกษา 16 แห่งด้วย