ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ว่า
ได้รับการร้องเรียนจากลูกศิษย์วัดแห่งหนึ่งว่า อาหารถุงที่คนกรุงนิยมซื้อทำบุญใส่บาตรพระตอนเช้า เดี๋ยวนี้มักบูดเสียง่าย และปริมาณอาหารน้อยลง โดยตั้งข้อสงสัยว่าอาจทำไม่สะอาด หรือเอาของเก่ามาเวียนขาย ซึ่งเมื่อสำรวจตามวัดต่างๆในย่านลาดปลาเค้า บางเขน หลักสี่ เจริญกรุง และสาทร จากการสอบถามพระสงฆ์ ลูกศิษย์วัด ต่างเจอปัญหาข้าวบูดเหมือนๆกัน อาทิ
พระมหาภูษิต จนฺทธมฺโม พระวัดลาดปลาเค้า ที่กล่าวว่า
คิดว่าเพราะข้าวของแพงขึ้น อาหารที่คนใส่บาตรจึงลดน้อยลงไปบ้างตามสภาพเศรษฐกิจ อาหารบางส่วนก็บูดเสียง่าย อาจเพราะแม่ค้าอาหารถุงทำหลายอย่าง อาจเตรียมไว้นานเพื่อขายตอนเช้า พระเข้าใจตามสภาพเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องดูว่าอันไหนฉันได้หรือไม่ได้ ที่วัดเจ้าอาวาสจะให้รับบิณฑบาตไม่มาก ญาติโยมบางคนนำมาถวายถึงที่วัด ข้าวก้นบาตรก็จะให้คนยากจน หรือให้สุนัขและแมวกิน
พระ-เด็กวัดลำบาก ยุคฝืดใส่บาตรลด แถมอาหารยังบูด
พระฐนุพงษ์ ธนสตฺติโก พระวัดพระศรีมหาธาตุบางเขน ก็กล่าวเหมือนกันว่า
พระกับเณรที่วัดเคยฉันอาหารถุงที่ญาติโยมซื้อจากร้านค้าใส่บาตรแล้วท้องเสีย อาจจะไม่ค่อยสะอาด เดี๋ยวนี้พระฉันอาหารถุงไม่ค่อยได้ ต้องรอญาติโยมที่ทำบุญใส่บาตรที่หน้าบ้านตัวเอง หรือนำอาหารมาถวายที่วัด จึงอยากจะฝากญาติโยมให้ทำบุญกันตามกำลังความพอเพียง ดูอาหารที่สะอาด เช่นเดียวกับพระมหาชาญณรงค์ ปภัสสโร รองเจ้าอาวาสวัดวรจรรยาวาส ซอยเจริญกรุง 72 เขตบางคอแหลม ที่กล่าวว่า แม้ในย่านนี้ญาติโยมยังใส่บาตรกันตามปกติ แต่มีบางคนมาบ่นให้ฟังว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ข้าวของแพงขึ้นไปหมด
ส่วนพระมหาวีรพล วีรญาโณ พระวัดยานนาวา เขตสาทร กล่าวว่า
ที่วัดยังมีญาติโยมนิยมใส่บาตรอยู่มาก แต่บางคนอาจจะลดวันไป เช่น หนึ่งสัปดาห์เคยใส่บาตร 5 วัน พอเศรษฐกิจไม่ดีจึงลดเหลือ 3 วัน เพราะต้องระมัดระวังการใช้เงิน
ส่วนคนที่อาศัยข้าวก้นบาตรยังชีพอย่าง นายยอด กิจเจริญ อายุ 45 ปี
ชาวบ้านอยู่ใกล้วัดหลักสี่ ที่เข้ามารออาหารจากพระที่วัดหลักสี่ไปรับประทาน ยังกล่าวว่าเมื่อก่อนคนใส่บาตรกันจนเต็ม ต้องเอาถุงมาขนกลับวัด ตอนนี้ไม่ต้องขนให้เหนื่อย หลายวัดเป็นเหมือนกันหมด และของที่นำมาใส่บาตรมักจะบูดเสียง่าย แต่พระท่านไม่ฉันมาก บางครั้งก็ต้องเสียบปลั๊กหุงข้าวเอง อาหารที่เหลือก็ให้ลูกศิษย์และคนในวัดไปกิน ที่เสียกินไม่ได้ก็ทิ้ง หรือให้หมา แมว ที่มีอยู่เกือบ 40 ตัวกิน ลำพังข้าวก้นบาตรสัตว์คงไม่พอกิน เพราะน้อยลง แต่จะมีคนใจบุญนำอาหารมาเลี้ยงเพราะสงสารสัตว์
ขณะที่นายอภิรักษ์ ชำนาญไพร ที่เข้ามาช่วยกวาดลานวัดลาดปลาเค้าเป็นประจำ เปิดเผยว่า
อาศัยข้าวก้นบาตรกินมานานแล้ว เมื่อก่อนอาหารถุงถวายพระ คนขายจะใส่เกือบเต็มถุงทั้งกับข้าว ข้าวสวย และขนม แต่ทุกวันนี้ข้าวเหลือก้นถุง ตัก 3-4 ช้อนก็หมด ขนมถ้วยฟู ทองหยิบ ทองหยอด เหลือถุงละ 3 ลูก กินแค่พอหายอยาก อาหารดีบ้าง เสียบ้างต้องเลือกกิน ปริมาณก็น้อยลง บางวันบูดไม่พอกินต้องอาศัยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไม่รู้ว่าแม่ค้าเอาของเก่ามาอุ่นขายใหม่หรือเปล่า พระท่านก็ฉันไม่ได้
อย่างไรก็ดี เมื่อสอบถามคนขายอาหารถุงสำหรับใส่บาตร นางไพลิน (ขอสงวนนามสกุล) แม่ค้าขายของใส่บาตรหน้าวัดหลักสี่ กล่าวว่า
ขายของมานานกว่า 10 ปี ปีนี้วันธรรมดาคนซื้อของใส่บาตรน้อยลง แต่จะใส่บาตรมากในวันพระ และแต่ก่อนถ้ามากัน 5 คน จะซื้อของกันคนละชุด เดี๋ยวนี้มา 5 คน ซื้อชุดเดียวใส่บาตรแล้วเกาะแขนกันเป็นแถว คนทำบุญขาประจำก็หายหน้า ของที่นำมาขายจึงเหลือ เข้าใจว่าเป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจค่าของเงินน้อยลง ของแพงไปหมด ข้าวสารก็แพง อาหารใส่บาตรจึงต้องลดปริมาณ เพราะยังต้องขายในราคาเดิม 20-30 บาท ปรับราคาสูงขึ้นคงไม่ซื้อ เช่นเดียวกับนางจำรัส แซ่เจว อายุ 48 ปี แม่ค้าแกงถุงที่ตลาดห้วยขวาง กล่าวว่า แม้ของจะแพงขึ้นแต่ก็ยังพอขายได้ ขายดีหรือไม่ดีน่าจะเป็นแต่ละพื้นที่ว่ามีวัดมากน้อยแค่ไหน อาหารที่ขายก็มีครบชุด คาว หวาน และน้ำ ชุดละ 20 บาท เรื่องอาหารบูดเน่าเสียไม่ควรเหมารวมว่าทุกร้านทำไม่สะอาด แม่ค้าทำเองก็ต้องกินเองด้วย อยู่ที่ว่ามีใครเอาไปขายวนไปวนมาหรือเปล่า