มิ่งขวัญประกาศ เพิ่ม9บาท ค่าจ้างแรงงาน

ในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พ.ค.กลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างมารวมตัวทำกิจกรรม เรียกร้องภาครัฐเพิ่มสวัสดิการให้ลูกจ้าง โดยที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ตั้งแต่ช่วงเช้า

สภาองค์กรลูกจ้างแห่งประเทศไทย 12 แห่ง ร่วมกับ 1 สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจและกระทรวงแรงงาน จัดงานวันแรงงานแห่งชาติ 2551 หรือ “วันเมย์เดย์” ซึ่งปีนี้ย้ายสถานที่จัดงานจากท้องสนามหลวง มาจัดที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยเน้นให้ความรู้กับผู้ใช้แรงงานและงดงานรื่นเริง ภายใต้สโลแกน “แรงงานพัฒนา พาชาติก้าวไกล สู่อนาคตไทย อาลัยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ” มีผู้ใช้แรงงานมาร่วมงานหลายพันคนและได้ยกป้ายเรียกร้อง อาทิ ชิมไปบ่นไป ลูกจ้างจะตายอยู่แล้ว, รักลุงหมัก-รักแรงงาน, หยุดเลือกปฏิบัติการจ้างงานคนพิการ ฯลฯ แต่บรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบง่ายไม่มีอะไรหวือหวารุนแรง โดยก่อนที่จะมีการเปิดงาน นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน ได้เป็นประธานในพิธีทาง ศาสนาถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์


ต่อมาเวลา 10.30 น. นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน

โดยขึ้นเวทีพร้อมกับนางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมบัติ เมทะนี ดาราชื่อดังที่ผันตัวเองมาเล่นการเมือง และผู้นำแรงงาน 13 องค์กร โดยนายมิ่งขวัญกล่าวกับผู้ใช้แรงงานว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ติดภารกิจต้อนรับนายกรัฐมนตรีพม่าจึงมอบหมายให้มาแทน จากนั้นนายอุดมศักดิ์ บุพนิมิตร ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ได้ยื่นข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงาน 8 ข้อ และนายมิ่งขวัญได้รับปากว่า เรื่องขึ้นค่าจ้าง 9 บาท ได้ปรึกษากับนาง อุไรวรรณแล้ว จะผลักดันให้เร็วที่สุด วันที่ 2 พ.ค.นี้นางอุไรวรรณจะทำหนังสือส่งมา ตนจะทำให้ทุกคนสมความ ปรารถนา ถ้ารับปากแล้วมาจากใจจริงแน่นอน ส่วนข้อเรียกร้องทั้ง 8 ข้อ ที่เสนอมา จะลงมาดูด้วยตัวเองร่วมกับ รมว.แรงงาน ทุกท่านจะต้องได้ขึ้นค่าจ้าง 9 บาทแน่นอน
 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายมิ่งขวัญประกาศยืนยันกับผู้ใช้แรงงานว่าจะได้ 9 บาทตามข้อเรียกร้อง ได้มีเสียงคนถามขึ้นไปบนเวทีว่า “เมื่อไหร่จะได้”

นายมิ่งขวัญได้ตอบกลับว่า จะติดตามให้เร็วที่สุด พร้อมพูดสร้างบรรยากาศว่า “ขอเสียงหน่อย” ซึ่งก็เรียกเสียงเฮจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานพากับปรบมือแสดงความดีใจ แต่บางคนตะโกนบอกว่า “อย่าหาเสียง” ให้ทำจริงตามคำพูด ซึ่งนายมิ่งขวัญได้ยกมือทั้งสองข้างขึ้นชูนิ้วเป็นสัญลักษณ์ ให้สัญญา ก่อนจะเดินทางกลับกลุ่มคนพิการได้เข้ายื่นข้อเรียกร้องขอให้รัฐบาลปรับปรุงกฎหมายเลือกปฏิบัติต่อคนพิการด้านอาชีพ และแก้กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้พากันเดินทางไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีกลุ่มสมัชชาผู้ใช้แรงงาน 1550 ชุมนุมทวงถามข้อเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 233 บาท และให้แก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 โดยนำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กลับคืนมาทำปฏิรูป โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศให้ทางการส่งคนมารับขอเรียกร้อง ซึ่งนายนคร ศิลปอาชา รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นตัวแทนออกมารับหนังสือ และกลุ่มผู้ชุมนุมยังได้ฝากถึงนายมิ่งขวัญและรัฐบาลว่า หากไม่ทำตามคำพูดขอให้มีอันเป็นไป ก่อนจะสลายตัวไปในเวลา 13.00 น.


สำหรับข้อเรียกร้อง 8 ข้อที่ 13 องค์กรลูกจ้างยื่นขอในปีนี้ คือ 1. ขอให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ลูกจ้างตามอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น วันละ 9 บาท ในอัตราเดียวกันทั้งประเทศ พร้อมควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ

2. ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานโดยเร็ว 3. ให้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 4. ให้ยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 5. ให้สำนักงานประกันสังคมตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม หรือโรงพยาบาลต้นแบบ เพื่อบริการรักษาผู้ประกันตน ครอบคลุมทุกโรค 6. ผู้ประกันตนเกษียณอายุ ไม่ว่าจะรับบำเหน็จหรือบำนาญ สำนักงานประกันสังคมต้องรักษาฟรี 7. ให้เร่งรัดประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน และ 8. ให้ตั้งคณะกรรมการฝ่ายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องร่วมกับผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง 12 สภา และ 1 สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย เพื่อติดตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงาน


ขณะเดียวกัน ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งแต่เวลา 09.30 น. เป็นต้นมา

สมาพันธ์แรงงานรัฐ วิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมด้วยองค์กรแรงงานจากบริษัทต่างๆนับพันคน นำโดยนายสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ปรึกษา สรส. นายสาวิต แก้วหวาน เลขาธิการ สรส. นายเพียร ยงหนู ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตียว ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกันทำกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ โดยกลุ่มผู้ใช้แรงงานซึ่งส่วนใหญ่สวมเสื้อสีแดง ได้ตั้งขบวนถือป้ายที่เขียนข้อความแสดงเจตจำนงของกลุ่มว่า “ไฟฟ้าประปา คือความมั่นคงของชาติ” “กรรมกรทั้งผอง คือพี่น้องกัน” “อาหารหมาฝรั่ง ยังแพงกว่าค่าแรงคนไทย” ฯลฯ เดินจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังบริเวณประตู 5 หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยทันทีที่มาถึงกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ปิดถนนราชดำเนินนอก ด้านหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เปิดเวทีปราศรัยเรียกร้องให้รัฐบาลปรับค่าแรงเป็น 233 บาททั่วประเทศ และยังมีข้อเรียกร้องอีก 8 ข้อ รวมถึงคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ท่ามกลางการรักษาความเรียบร้อยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวนมาก
 

นอกจากนั้น ก็มีกิจกรรมที่เป็นสีสัน ได้แก่การแสดงละครล้อเลียนนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี
 
โดยตัวแทนผู้ใช้แรงงานสวมหมวกติดรูปการ์ตูนใบหน้านายกรัฐมนตรี กำลังนั่งรับประทานโต๊ะจีน ที่มีอาหารเต็มโต๊ะ ด้านข้างมีข้อความเสียดสีนายกฯสารพัด พร้อมกันนี้ตัวแทนผู้ใช้แรงงานยังแสดงท่าทางกินซีกโครงไก่ สร้างความครึกครื้นให้กับผู้ชุมนุมเป็นอย่างยิ่ง ส่วนบริเวณด้านข้างเวที มีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อขับไล่นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข และยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ขณะที่นายเพียร ยงหนู ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้แก้ไขปัญหาข้าวสารแพง โดยมี ร.อ.ทวิช ศุภวรรณ หัวหน้าส่วนประสานงานมวลชน กองการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เป็นผู้รับหนังสือ

ต่อมาเวลา 12.30 น. แกนนำผู้ใช้แรงงานบนเวทีได้ประกาศเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีออกมารับหนังสือข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงาน

แต่กลับไม่มีผู้ใดออกมารับหนังสือดังกล่าว กลุ่มผู้ใช้แรงงานจึงนำจรวดกระดาษจำนวนนับร้อยอัน ที่เขียนข้อเรียกร้องทั้ง 8 ข้อ ไว้เรียบร้อยแล้ว ร่อนจากประตู 5 เข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล ตามด้วยนายสาวิต แก้วหวาน เลขาธิการ สรส. อ่านหนังสือข้อเรียกร้อง พร้อมกับมอบหนังสือให้กับตัวแทนสื่อมวลชน เพื่อนำไปเผยแพร่ให้กับรัฐบาลได้รับรู้ จากนั้นกลุ่มผู้ใช้แรงงานจึงสลายตัวไป
 


ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตียว ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า

ข้อเรียกร้องในปีนี้มี 8 ข้อคือ ให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับเดียว (ฉบับขบวนการแรงงาน) เพราะ พ.ร.บ.ที่ใช้อยู่ไม่ทันสมัยและไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ ขอให้รัฐประกาศ ใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับบูรณาการร่วมของผู้ใช้แรงงาน) รัฐบาลต้องยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ ประกันสังคมต้องโปร่งใสและต้องคุ้มครองแรงงานนอกระบบ รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าให้มีความเป็นธรรมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ให้คนงานสามารถดำรงชีพได้ รัฐต้องเพิ่มค่าจ้างจากวันละไม่ถึง 200 บาท เป็น 233 บาททั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม รัฐบาลต้องมีมาตรฐานในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน และรัฐต้องให้การรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98


อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน ได้ตอบกระทู้ถามสดของนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ยื่นถามนายกรัฐมนตรี เรื่องปัญหาค่าจ้างแรงงาน โดยระบุว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ไม่ให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ เพราะในการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ นายกฯไม่ไปร่วมงาน และทวงถามรัฐบาลจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่าไหร่ ซึ่งนางอุไรวรรณยืนยันว่า รัฐบาลมีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ผู้ใช้แรงงานแน่นอน โดยจะประชุมร่วมเพื่อ พิจารณาค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอีกเป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 2 พ.ค. พร้อมทั้งยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาผู้ใช้แรงงานและค่าจ้างแรงงาน รวมทั้งการให้สวัสดิการต่างๆเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การตั้งกระทู้ถามของนายองอาจ สร้างความไม่พอใจให้นางอุไรวรรณมาก ถึงกับลุกขึ้นตอบด้วยสีหน้าเคร่งเครียดและน้ำเสียงดุดันว่า “เรื่องค่าจ้างแรงงาน เอาความจริงมาพูดกันมั้ย” ทำให้นายองอาจต้องชี้แจงว่าการซักถามไม่ได้กล่าวหาว่ารัฐมนตรีไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงาน แต่ต้องการถามนโยบายของรัฐบาลที่มีต่อผู้ใช้แรงงาน
 

ทั้งนี้ แม้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ ไปเป็นประธานเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2551

แต่ก็กล่าวปราศรัยผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ ความว่า รัฐบาลได้กำหนดมาตรการสำคัญเพื่อดูแลค่าจ้างและค่าตอบแทนของผู้ใช้แรงงาน คือ 1.ปรับปรุงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ทั่วประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2551 และจะได้ดำเนินการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งหนึ่งในช่วงเดือน ก.ค. 2551 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะปรับขึ้นในอัตราใดจึงเหมาะสม โดยไม่มีผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่มากเกินไป 2.ส่งเสริมให้สถานประกอบการใช้แนวทางปรับอัตราค่าจ้างประจำปี 2550/2551 ให้กับลูกจ้างที่ทำงานเกิน 1 ปีขึ้นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2551

3.ส่งเสริมให้สถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างใช้ในสถานประกอบการ เพื่อให้ลูกจ้างได้รับการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามผลิตภาพที่แรงงานทำได้เป็นประจำทุกปี และ 4.ส่งเสริมให้สถานประกอบการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในอัตราค่าจ้างตามระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน ใน 30 สาขาอาชีพที่ประกาศใช้แล้ว

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ประกอบด้วย การสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิต การส่งเสริมการมีงานทำและคุ้มครองคนหางาน การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ในนามของรัฐบาลขอขอบคุณพี่น้องผู้ใช้ แรงงานที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเข้มแข็ง ขอให้คำมั่นว่าจะทำทุกวิถีทาง เต็มกำลังความสามารถเพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานให้ดีขึ้น


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์