อธิบดีกรมอุตุฯ แจง 'ดอยช้าง' จ.เชียงราย แค่ลูกเห็บตก ไม่ใช่หิมะ ไม่ใช่'อาเพศ' ตามคำทำนาย ชี้ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติธรรมดา อากาศร้อนปะทะเย็น เผยลมเย็นระลอกใหม่พัดปกคลุม เหนือ-อีสาน 28-29 เม.ย.นี้ เตือน ปชช.รับมือพายุฤดูร้อนลูกใหม่ ยันไม่เกี่ยวโลกร้อน
หิมะตก ดอยช้าง เกิดอาเพศตามโหรทำนายหรือแค่ลูกเห็บตก
น.ส.พ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 28-30 เมษายน 2551
เผยแพร่ภาพและข่าว " หิมะตกเมืองไทย ฤๅอาเพศจะเป็นจริง!!" โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้ เคยมีคำทำนายของโหร ปี 2551 ว่าจะเกิด "หิมะตก" ในเมืองไทย ซึ่งไม่มีใครเชื่อ แต่พอได้ยินว่า หิมะตกที่ดอยช้างก็ประหลาดใจว่า คำทำนายจะเป็นจริงหรือ? เนื่องจากได้เกิดปรากฏการณ์ลูกเห็บขนาดเล็กตกประมาณกว่า 30 นาที เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสงกรานต์ที่ถือว่า อากาศร้อนที่สุด ครอบคลุมพื้นที่ค่อนข้างกว้าง บริเวณดอยช้าง จังหวัดเชียงราย จนทำให้ดอยช้างมีสภาพขาวโพลนคล้ายๆ หิมะตก
ดอยช้างอยู่ในจังหวัดเชียงราย พื้นที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,200-1,800 เมตร ชาวบ้านเล่าว่า กว่าที่ลูกเห็บจะละลายหมดก็ใช้เวลาถึง 2 วัน ทำให้พืชไร่ที่ปลูกไว้ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะซาโยเต้หรือที่ชาวพื้นล่างเรียกว่า ยอดฟักแม้วตายหมด แต่ละปีผลผลิตจากซาโยเต้ทำให้ชาวดอยช้างมีรายได้ปีละ 70-80 ล้านบาท รวมทั้งกาแฟดอยช้างที่มีชื่อดังไปทั่วโลก ก็ตายไปพอสมควรจากลูกเห็บดังกล่าว ส่งผลให้ผลผลิตกาแฟอาจจะลดลง
ปรากฏการณ์ที่คล้ายหิมะตกครั้งนี้ ชาวดอยช้างบอกว่า ไม่เคยพบเห็นมาก่อน เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจและยอมรับว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยที่ดีว่า ภาวะโลกร้อนมาเยือนแล้ว และจะหาทางตั้งรับกันอย่างไร
ทั้งนี้ เมื่อย้อนไปเปิดหนังสือ ศาสตร์แห่งโหร ปี 2551 ของสำนักพิมพ์มติชน " โสรัจจะ นวลอยู่" ทำนายไว้ ตอนหนึ่งระบุว่า
" ...ส่วนสยามประเทศ ปีชวด 2551 นี้จะเป็นปีแห่งความอาเพศ ในปลายปีชวด 2551 นี้ จะเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าแปลกมหัศจรรย์ จะเกิด 'หิมะตก' ในเมืองไทยไปทั่วทางภาคเหนือและอีสานบางส่วน ประชาชนทั้งคนไทยและทั่วโลกตื่นตกใจแทบช็อค เพราะไม่เคยเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อนเลย แต่จริงๆ แล้ว ในทางโหราศาสตร์ไทยถือว่าเป็นอาเพศ เป็นลางร้ายที่จะเกิดมหันตภัยตามมาไม่หยุดหย่อน ทั้งทางธรรมชาติ บุคคล การเมือง การปกครอง วัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่แบบไทยๆ เราก็จะเปลี่ยนแปลง..."
ด้านนายศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงศ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า
การเกิดลูกเห็บตกที่บริเวณดอยช้าง จ.เชียงราย เมื่อช่วงวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่อาเพศ แต่เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ที่เกิดจากภาวะอากาศร้อนและอากาศเย็นที่เคลื่อนไหวมาปะทะกันฉับพลันทำให้เกิดลูกเห็บ ส่วนสาเหตุที่ต้องใช้เวลานานถึง 2 วันกว่าที่น้ำแข็งซึ่งเกิดจากลูกเห็บที่ตกลงมาปกคลุมพื้นดินบริเวณดังกล่าวละลายลงนั้น คาดว่าเป็นเพราะพื้นที่นั้นมีสิ่งปกคลุมอยู่มาก การละลายของน้ำแข็งจึงต้องใช้เวลานานกว่าในที่โล่ง
"ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์มาถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับอิทธิพลอากาศเย็นจากประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง จึงมักจะเกิดฝนฟ้าคะนองอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ส่วนมากจะเกิดในช่วงบ่าย เพราะเมฆฝนมักจะก่อตัวในช่วงสายถึงเที่ยง และหากวันไหนมีปรากฏการณ์ลมแรงด้วย ลมเย็นที่เข้ามาจะปะทะกับลมร้อนทำให้เกิดลมกรรโชกแรงและมีลูกเห็บตกลงมาได้ ในช่วงเวลาสั้นๆ" นายศุภฤกษ์กล่าว และว่า ลักษณะอากาศแบบฝนฟ้าคะนองเช่นนี้จะต่อเนื่องต่อไปเรื่อยๆ จนย่างเข้าฤดูฝน และจากการตรวจสอบพบว่า ประมาณวันที่ 28-29 เมษายนนี้หลายพื้นที่อุณหภูมิจะลดลง หรือมีอากาศเย็นลงมาอีก ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งปริมลฑลอาจจะต้องเตรียมตัวรับพายุฤดูร้อนด้วย ทั้งนี้ ยืนยันว่าทั้งหมดไม่ได้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนแต่อย่างใด