รัฐบาลเตรียมซ่อมใหญ่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังตั้งตระหง่านมานาน 66 ปี
พบรอยชำรุดแตกร้าวหนักทั้งภายใน-ภายนอก โดยเฉพาะรอบฐาน นายกฯ มีดำริหลังร่วมประชุมสภาทหารผ่านศึก พร้อมตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาโรงพยาบาลฯ ระบุ ขั้นตอนเริ่มจาก กรมศิลปากร เป็นผู้สำรวจ-ออกแบบ กทม. จะเป็นคนจ่ายเงิน ส่วนที่จะพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ ต้องหาสปอนเซอร์ ขณะที่อธิบดีกรมศิลป์ฯ พร้อมรับนโยบายวางแผนบูรณะ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 เม.ย. ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก
ถนนวิภาวดีรังสิต นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว. กลาโหม ในฐานะนายกสภาทหารผ่านศึก ไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโรงพยาบาล พร้อมเยี่ยมผู้ป่วยทหารผ่านศึกโดยเฉพาะทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้สัมภาษณ์ว่าในการประชุมสภากลาโหมวันเดียวกันนี้ จะไปสอบถามถึงการลดเบี้ยเสี่ยงภัยจากที่ทหารเคยได้รับ เดือนละ 2,500 บาท แต่ปัจจุบันเหลือ 1,000 บาท ตามที่ทหารที่ได้รับบาดเจ็บสอบถามมา ยืนยันว่ารัฐบาลจะดูแลทุกคนอย่างใกล้ชิด และต้องขอขอบคุณในนามของรัฐบาลที่ทหารทุกคนได้ดูแลบ้านเมือง ขอแสดงความเสียใจที่ท่านได้รับเคราะห์กรรม แต่ก็เป็นการทำเพื่อประเทศชาติ
จากนั้นนายกฯ ได้ตรวจเยี่ยมห้องกิจกรรมบำบัด ซึ่งเป็นสถานที่ที่ให้ทหารพิการจากการปฏิบัติหน้าที่ได้มีอาชีพ พร้อมกับได้ฝึกใช้อวัยวะที่เหลืออยู่ รวมทั้งพูดคุยกับช่างกายอุปกรณ์ ที่ทำหน้าที่สร้างอุปกรณ์เทียมต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ขาเทียม มือเทียม เป็นต้น และตรวจสถานที่ก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ตามโครงการพัฒนาโรงพยาบาลทหารผ่านศึก จากนั้นจึงเดินทางไปตรวจพื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ชำรุดแตกร้าวทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะบริเวณรอบฐานของอนุสาวรีย์ฯ เพื่อเป็นข้อมูลนำไปซ่อมแซม และปรับปรุงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และภูมิทัศน์ ภายนอก
อนุสาวรีย์ชัยฯร้าว กทม.บูรณะด่วน!
นายสมัคร กล่าวถึงการบูรณะอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ว่า
กรมศิลปากรจะเป็นผู้ออกแบบ และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเป็นคนจ่ายเงิน ตนคิดว่า กทม.คงมีรายละเอียดของเดิมอยู่ แล้วให้วิศวกรออกแบบ ซึ่ง กทม.บอกเองว่างานนี้ทำได้ โดยทันทีที่ออกแบบเสร็จก็จะลงมือก่อสร้างทันที ทราบว่าผู้เกี่ยวข้องตั้งใจจะพัฒนาอนุสาวรีย์ชัยฯ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ต้องซ่อมแซมให้มั่นคงเสียก่อน จึงจะหาเงินมาทำโครงการนี้ “ต้องพูดกับ กทม.ก่อน ส่วนที่ซ่อมแซม กทม.ต้องจ่ายแน่นอน แต่ส่วนที่จะสร้างเพิ่มเติมนั้น เขาคงไม่ออกเงินทันที ก็ต้องพูดจากัน ต้องหาสปอนเซอร์ ส่วนข้อเสนอให้สร้างอุโมงค์จากถนนเส้นนอกลอดไปที่อนุสาวรีย์ฯ นั้นต้องเอาไว้ทีหลัง ผมขอดูรถไฟฟ้าใต้ดินที่ต้องผ่านบริเวณนี้เสียก่อน”
ด้านนายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า
กรมศิลปากรพร้อมจะเข้าไปตรวจสอบสภาพของอนุสาวรีย์ชัยฯ ตามแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี แต่จะต้องประสานกับกทม.ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ก่อนว่าจะร่วมมือกันอย่างไรบ้าง และเมื่อทาง กทม.อนุญาตแล้ว ทางกรมศิลปากรก็จะเข้าไปสำรวจว่า จุดไหนมีปัญหาต้องบูรณะอย่างเร่งด่วนเพื่อนำมาวิเคราะห์ จากนั้นจะวางแผนการบูรณะและตั้งงบประมาณเสนอรัฐบาลต่อไป
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า
ในฐานะเจ้าของพื้นที่ พร้อมให้การสนับสนุนในการบูรณะซ่อมแซมอย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาสำนักผังเมือง และสำนักการโยธา มีแผนเข้าตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง และบูรณะซ่อมแซมอนุสาวรีย์ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และโบราณสถานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. มาอย่างต่อเนื่องแล้ว ซึ่งล่าสุดได้บูรณะเสาชิงช้าเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา ขณะที่นางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ได้รับรายงานจากนายวิฑูร สุขสรรควนิช ผอ.สำนักงานก่อสร้างและบูรณะ สำนักการโยธา ที่เข้าร่วมกับคณะนายกรัฐมนตรีตรวจสอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในวันนี้ว่าการรับผิดชอบซ่อมแซมบำรุงรักษา กทม. รับโอนภารกิจมาจากกรมศิลปากร แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลจากกรมศิลป์ฯ ก่อนหน้านี้สำนักการโยธาได้ตรวจพบรอยร้าว และการทรุดตัวของฐานอนุสาวรีย์ชัยฯ รวมทั้งบริเวณจุดที่จารึกชื่อวีรบุรุษมีเหล็กโผล่เพราะปูนกะเทาะ มาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2549 จึงมีแผนจะเข้าซ่อมแซมอยู่แล้ว อยู่ระหว่างรอประสานกรมศิลป์ฯเพื่ออนุมัติ อย่างไรก็ตามหากนายกฯ มีนโยบายให้เร่งซ่อมแซม เราจะเร่งตรวจสอบรายละเอียดพร้อมกำหนดงบประมาณ ได้ข้อสรุปจะเข้าจัดซ่อมทันที
สำหรับประวัติของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
สร้างขึ้นบนถนนประชาธิปัตย์ (ชื่อในขณะนั้น) ช่วงถนนพญาไท บรรจบกับถนนราชวิถี ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางของต้นทางหลวงถนนพหลโยธิน อนุสาวรีย์ฯนี้สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติทหาร ตำรวจ และพลเรือน ผู้สละชีพเพื่อชาติในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนใหม่ รัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. พ.ศ. 2485 นับถึงวันนี้เป็นเวลาถึง 66 ปีแล้ว อนุสาวรีย์นี้สร้างเป็นรูปดาบปลายปืน 5 เล่ม สูงประมาณ 50 เมตร รอบดาบปลายปืนมีรูปปั้นนักรบ 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ยืนล้อมรอบอยู่ บริเวณใต้รูปปั้นมีแผ่นทองแดงจารึกรายชื่อผู้เสียชีวิตจากสมรภูมิอินโดจีน 59 นาย ภายหลังได้จารึกชื่อทหารที่เสียชีวิตในสงครามเกาหลีเพิ่มขึ้นด้วย.