แฉสารเสพติดใหม่ 8คูณ100 มาทดแทน4คูณ100

ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นางกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง เจ้าหน้าที่เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จ.สตูล เมื่อ วันที่ 16 เม.ย. ถึงปัญหาเยาวชนในพื้นที่ จ.สตูล ว่า
 
กลุ่มวัยรุ่นที่ถูกเบียดขับจากสังคม เช่น เด็กนักเรียนหลังห้องที่ถูกเพิกเฉย ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากครูในโรงเรียน และเด็กที่ไม่มีพ่อแม่เลี้ยงดู มีการรวมกลุ่มหลังเลิกเรียนและหลังโดดเรียน ไปมั่วสุมทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสพยาเสพติด ซึ่งเดิมนิยมยาเสพติดสูตร 4 คูณ 100 ที่มีส่วนผสมของใบกระท่อม ยาแก้ไอ น้ำอัดลมและยากันยุงชนิดขด จนต่อมามีการพัฒนาสูตรเพิ่มสารฟลูออเรสเซนต์เป็นยาเสพติดสูตร 5 คูณ 100


นางกัลยทรรศน์กล่าวว่า ล่าสุดมีข้อมูลว่า

วัยรุ่นในจังหวัดภาคใต้ตอนล่างเบนความนิยม โดยการดื่มเครื่องดื่มสูตรที่เรียกว่า 8 คูณ 100 ที่มีส่วนผสมหลักเหมือน 5 คูณ 100 แล้วเติมเหล้าแห้ง โซดาและยากล่อมประสาท ที่วัยรุ่นเรียกว่า “โซแลม” มาโน 1 (mano 1) หรือลูกเม็ด ในบางพื้นที่อาจมีการเพิ่มหรือลดส่วนผสมต่างๆ ตามความต้องการของแต่ละกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งตนมองว่าเป็นผลจากการที่วัยรุ่นต้องการหาสิ่งใหม่ๆ มาเพิ่มเติมความท้าทายในการทดลองเสพ โดยไม่รู้ว่าเป็นความคิดที่ผิดอย่างมาก



เจ้าหน้าที่เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จ.สตูล กล่าว อีกว่า
 
แม้จะมีบางกลุ่มของวัยรุ่นที่นิยมเพิ่มส่วนผสมให้ มากขึ้น แต่ในทางกลับกันก็สร้างความยุ่งยากในการเสพเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้ไม่ทันใจ วัยรุ่นส่วนใหญ่ในพื้นที่ จึงหันมาให้ความสนใจและนิยมกับการดื่มเพียงโซแลม ผสมน้ำอัดลม โดยนิยมดื่มในกลุ่มวัยรุ่น นักเรียนผู้ชายและผู้หญิง เนื่องจากทำง่ายใช้เวลาเร็ว ราคาถูกเม็ดละ 25-30 บาท มีทั้งขายเป็นเม็ดและเป็นแผง 10 เม็ด หาซื้อง่ายจากเพื่อนๆ หรือเอเย่นต์ที่เป็นที่รู้กันในหมู่วัยรุ่น และพกพาสะดวกรอดจากสายตาการตรวจจับของเจ้าหน้าที่รัฐ พ่อแม่ และครู ไม่เหมือนยาบ้าที่เสี่ยงต่อการถูกจับได้ง่าย


นางกัลยทรรศน์กล่าวว่า
 
โซแลมจะมีลักษณะสีม่วงเข้ม เป็นยากล่อมประสาทชนิดหนึ่ง ที่ใช้ในการรักษาผู้ที่ป่วยทางจิต หลังการดื่มจะให้ผลลักษณะใกล้เคียงกับการเสพยาสูตร 4 คูณ 100 โดยจะมีอาการเคลิ้ม มึน งง ลอยๆ ไม่กระวนกระวาย กล้าพูดกล้าทำ ลืมตัวทำอะไรโดยไม่รู้ตัว หลังจากหมดฤทธิ์ยาจะไม่รู้ว่าทำอะไรลงไปบ้าง แต่จะไม่มีอาการจิตหลอนเหมือนการดมกาว ซึ่งเดิมโซแลมจะเป็นที่นิยมเฉพาะในหมู่คนที่ไปเที่ยวกลางคืนเท่านั้น แต่ปัจจุบันวัยรุ่นดื่มอย่างแพร่หลายตามหอพัก บ้านเพื่อน หรือตามที่สาธารณะต่างๆ เนื่องจากสามารถผสมได้ง่ายๆ ไม่เป็นที่สังเกตของผู้อื่น คนที่ผ่านมาเห็นอาจเข้าใจว่าเป็นเพียงการดื่มน้ำอัดลมธรรมดา จึงไม่ได้ให้ความสนใจในการเข้าไปตรวจสอบ หรือแจ้ง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเหมือนกับการต้มยาสูตร 4 คูณ 100 หรือ 8 คูณ 100 ซึ่งเดิมการดื่มโซแลมแบบนี้มีเฉพาะในวัยรุ่นที่ไปเที่ยวกลางคืนตามสถานบันเทิงเท่านั้น โดยเป็นการดื่มเพื่อล่อลวงสาวเฉพาะในสถานบันเทิง แต่ปัจจุบันดื่มกันแพร่หลายมาก


“เท่าที่ถามวัยรุ่นทำไมต้องเอามาผสมกับน้ำอัดลม ก็ได้คำตอบว่าหากกินเพียงโซแลมเฉยๆ จะไม่สนุก ตื่นเต้น จะมีผลเพียงทำให้หลับ เพราะเป็นยาคลายเครียดชนิดหนึ่ง แต่หากนำมาผสมกับน้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน ทำให้เกิดปฏิกิริยาจนมีผลกระตุ้นร่างกายผู้ที่ดื่มได้ ซึ่งการที่วัยรุ่นเรียนรู้สิ่งผิดๆเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการละเลยเอาใจจากพ่อแม่และถูกเมินเฉยซ้ำอีกครั้งจากครู ที่ให้ความสนใจแต่เด็กเรียนเก่ง กลุ่มเด็กหลังห้องเหล่านี้จึงขาดโอกาสการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ จึงต้องคิดหากิจกรรมกลุ่มทดแทน แต่ขาดการชี้แนะจึงชักนำกันไปในทางที่ผิด เพราะฉะนั้นจากนี้ครูควรปรับบทบาทของตนเองให้ความดูแลเด็กกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ดึงเด็กกลับมาอยู่ในสายตาให้ได้ ด้วยการจัดหากิจกรรมตามความสนใจและดึงพ่อแม่เข้าร่วมด้วย” นางกัลยทรรศน์กล่าว


ด้าน ภก.วิโรจน์ สุ่มใหญ่ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ด้านการปราบปรามยาเสพติด กล่าวว่า
 
โซแลมที่อ้างถึงอาจจะหมายถึง อัลปราโซแลม(ALprazolam) ซึ่งเป็นยากล่อมประสาท และจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 4 ที่อยู่ในความ ควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตามกฎหมายให้ขายในร้ายขายยาได้แต่ต้องมีใบสั่งจาก แพทย์ และต้องรายงานการใช้ส่ง อย.ทุกเดือน ซึ่งบท ลงโทษผู้ผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 3 หรือ 4 โดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท เภสัชกรที่ขายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 3 หรือ 4 โดยไม่มีใบสั่งแพทย์ หรือละทิ้งหน้าที่ในการควบคุมการขาย มีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท ส่วนผู้ที่จูงใจ ชักนำ ยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวงหรือขู่เข็ญให้ผู้อื่นเสพ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000-200,000 บาท


ภก.วิโรจน์กล่าวอีกว่า

การดื่มโซแลมจะทำให้ภาวะความตระหนักรู้ตัวเสียไปอย่างมาก จึงมีพวกมิจฉาชีพนิยมนำยานี้มาใช้ในการล่อลวงสาวให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย จนเรียกว่ายาเสียสาว ซึ่งยาชนิดนี้หากใช้ในระยะยาวไม่ส่งผลด้านสุขภาพ แต่ที่ต้องกำหนดให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 4 เพื่อต้องการป้องกันไม่ให้มีการนำยาไปใช้ในทางที่ผิดด้วยการมอมผู้หญิง ซึ่งจากนี้จะเร่งประสานกับพื้นที่ในการตรวจสอบที่มาของยาว่ามีการลักลอบนำเข้าจากพื้นที่หรือแหล่งใด เพื่อจะได้ปราบปรามโดยเร็วที่สุด


“การที่วัยรุ่นใต้หันมาให้ความนิยมดื่มโซแลม แทนยาเสพติดสูตร 4 คูณ 100 อาจเป็นผลมาจากการปราบปรามการลักลอบจำหน่ายใบกระท่อมอย่างได้ผลทั่วทั้งพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในการเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะในกิ่งอำเภอมะนัง จ.สตูล และอาจเป็นทางออกของวัยรุ่นเพื่อทำให้ไม่ต้องคิดมาก หรือย้ำคิดย้ำทำกับปัญหา” ภก.วิโรจน์กล่าว


ทั้งนี้ จากข้อมูลในเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต พบว่า

ยาอัลปราโซแลมเป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท หากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการติดยาทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งหากหยุดยาทันทีจะเกิดอาการขาดยาหรือถอนยา เช่น คลื่นไส้ นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว ซึมเศร้า เป็นโรคจิต หรืออาจถึงกับชักได้หาก ต้องรับประทานกับยาตัวอื่น เช่น ยากดหรือกระตุ้นประสาท หรือยาคุมกำเนิด ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากมียาหลายชนิดที่มีปฏิกิริยาต่อระดับอัลปราโซแลมในกระแสเลือด จนทำให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงได้ และหากรับประทานยาดังกล่าวพร้อมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้กดประสาทมากขึ้นและอาจกดการหายใจส่งผลให้เสียชีวิตได้


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์