หมีควาย400ตัว! วิกฤติโรคเหงือก ป่วย-ใกล้ล้มตาย

ปัญหาสัตว์ป่าของกลางที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าต้องแบกภาระรับเลี้ยงไว้หลายชนิด โดยเฉพาะ “หมีควาย” ที่การดูแลค่อนข้างยากลำบากและได้งบประมาณในการดูแลน้อยนิดไม่เพียงพอ ทำให้เป็นห่วงว่าสัตว์ป่าของกลางเหล่านี้อาจเจ็บป่วยล้มตายได้นั้น


นายสามารถ สุมโนจิตราภรณ์ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยเมื่อ 12 เม.ย. ว่า

ช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมา สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าต้องรับเลี้ยงดูสัตว์ป่าของกลางที่ยึดมาได้จากขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่ามากกว่า 20,000 ตัว โดย 80% เป็นสัตว์ปีก เช่น นกสวยงาม และนกจากต่างประเทศ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น เต่า โดยเฉพาะเต่าจากต่างประเทศ เช่น เต่ามาดากัสการ์ เต่าอินเดีย ซึ่งราคาค่อนข้างแพง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีทั้งหมด 3,660 ตัว เช่น เสือไฟ 10 ตัว เสือลายเมฆ 7 ตัว เสือดาว และเสือดำ 5 ตัว เสือโคร่ง 29 ตัว ลิงแสม 375 ตัว ลิงกัง 167 ตัว ลิงภูเขา 9 ตัว ชะนีมือดำ 2 ตัว ชะนีมงกุฎ 32 ตัว ค่างแว่นถิ่นใต้ 8 ตัว ตัวนิ่ม 417 ตัว เฉพาะปี 2550 ยังไม่รวมของกลางในปี 2551


นายสามารถกล่าวว่า

สัตว์ของกลางซึ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมค่อนข้างหนักใจมากที่สุดในตอนนี้คือหมีควาย เพราะเวลานี้ต้องรับภาระเลี้ยงดูเอาไว้ถึง 400 ตัว กระจายกันเอาไปฝากเลี้ยงตามสถานีเพาะพันธุ์สัตว์ป่าที่ต่างๆที่มีอยู่ 23 แห่งทั่วประเทศ ที่มีมากที่สุดคือสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จังหวัดชลบุรี มีอยู่ประมาณ 100 ตัว ตามกฎหมายแล้ว สัตว์ของกลางที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับหรือยึดมาได้นั้น หากไม่มีผู้ต้องหา จะต้องรอเวลาถึง 5 ปี จึงจะปล่อยสัตว์เหล่านั้นสู่ธรรมชาติได้ แต่ถ้ามีผู้ต้องหา ต้องรอให้ศาลสั่งว่าจะดำเนินการอย่างไร จึงเป็นที่มาของปัญหา เพราะไม่สามารถตั้งงบประมาณค่าอาหารและค่าเลี้ยงดูสัตว์เหล่านี้ได้ เนื่องจากจับสัตว์ของกลางได้แทบทุกเดือน นอกจากค่าอาหารแล้ว จะต้องดูแลสุขภาพของสัตว์เหล่านี้ด้วย


“ตามธรรมชาติแล้ว การกินอาหารและการดำรงชีวิตสัตว์ป่าจะมีวิธีการดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันหรือรักษาโรคได้ด้วยตัวมันเอง เช่น การกินสมุนไพร หรือกินอาหารบางชนิด แต่เมื่อถูกคนเอามาเลี้ยงดู พฤติกรรมดังกล่าวจะหายไป สัตว์เหล่านี้จึงป่วยได้ง่าย ที่เป็นปัญหามากในตอนนี้คือหมีควายทั้ง 400 ตัว จะป่วยเป็นโรคเหงือกอักเสบ เนื่องจากมีหินปูนเกาะอยู่ตามซอกฟันมาก ถือเป็นจุดอ่อนของสัตว์พวกนี้ เพราะเมื่อใดที่เกิดอาการดังกล่าวจะกินอาหารไม่ได้และจะตายในที่สุด ดังนั้น ทุกๆ 6 เดือนจะต้องระดมกำลังสัตวแพทย์เพื่อขูดหินปูนให้หมีควายเหล่านี้ งบประมาณที่ใช้ในการขูดหินปูนหมีควายแต่ละครั้งค่อนข้างสูง เพราะต้องวางยาสลบก่อนสัตวแพทย์จึงจะทำงานได้” นายสามารถกล่าว


นายสามารถกล่าวอีกว่า
 
โดยเฉลี่ยแล้ว ค่าดูแลเลี้ยงดูสัตว์ของกลางที่มีอยู่ทั้งหมดเวลานี้ประมาณปีละ 18 ล้านบาท แต่มีงบประมาณเพียง 8 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทางสำนักก็หาวิธีแก้ปัญหาโดยการผลิตอาหารของสัตว์บางชนิดขึ้นเอง เช่น เพาะพันธุ์หนอน แมลงที่เป็นอาหารนก หรือรับบริจาคอาหารเม็ดจากประชาชนที่มีจิตศรัทธารักสัตว์ ขณะนี้กำลังตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อดูแลสัตว์พวกนี้ และหากผู้ใดต้องการบริจาคอาหารสัตว์ ติดต่อได้ที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า โทรศัพท์ 0-2579-9630 รับบริจาคเฉพาะอาหารเท่านั้น ไม่รับเป็นตัวเงิน


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์