เด็กสาววัย 16 ปีสุดเจ๋ง คว้าที่ 1 เข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
เผยเป็นนักเรียนร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ มีแรงดลใจเลือกเรียนหมอ เพราะทั้งคุณพ่อ-คุณแม่เป็นหมอทั้งคู่ เลือกเข้าจุฬาฯ เพราะพ่อเป็นศิษย์เก่า เจ้าตัวเปิดใจเคล็ดลับเรียนเก่ง ไม่ต้องพึ่งเรียนพิเศษถ้าตั้งใจเรียนและหมั่นทบทวนบทเรียนสม่ำเสมอ เผยอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะเรียนหมอหรือเรียนวิศวะ เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้รับทุนจากกทช.ไปเรียนทางด้านวิศวกรรมที่อเมริกา
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)
ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดให้นักเรียนชั้น ม.6 ที่ได้ยื่นคำร้องขอดูกระดาษคำตอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ประจำปี 2550 เข้าดูกระดาษคำตอบโอเน็ตได้ ซึ่งตลอดทั้งวันมีนักเรียนและผู้ปกครองกว่า 200 คน ทยอยเดินทางมาดูกระดาษคำตอบ โดยทุกคนต่างก็ยอมรับในคะแนนที่ได้รับ เพราะเมื่อตรวจกระดาษคำตอบแล้วก็พบว่าได้คะแนนเท่ากับที่ สทศ.ได้ประกาศไว้ ขณะเดียวกันที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีนักเรียนและผู้ปกครองกว่า 100 คน ได้เดินทางมาดูกระดาษคำตอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ต่างพอใจและยอมรับกับคะแนนเช่นกัน
นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า
การสมัครแอดมิชชั่น ซึ่งจะเริ่มเปิดรับสมัครในวันที่ 10-18 เม.ย. ผ่านทางเว็บไซต์ของ สกอ. www.cuas.or.th นั้น ตนขอให้นักเรียนพิจารณาดูสาขาวิชาที่ชอบและถนัด จากนั้นมาประเมินว่าต้องการประกอบวิชาชีพในสาขาวิชาที่ชอบหรือไม่ และเมื่อได้สาขาวิชาที่ชอบแล้วให้ดูข้อมูลว่ามีมหาวิทยาลัยใดเปิดสอนบ้าง ซึ่งการเลือกมหาวิทยาลัยจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับคะแนนของแต่ละคน โดยนักเรียนสามารถเลือกได้ 4 อันดับ และแต่ละอันดับคะแนนไม่ควรแตกต่างกันมาก จะดีกว่าเลือกสาขาวิชาที่คะแนนแตกต่างกันมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการคัดเลือกผู้เข้าเรียนในกลุ่มคณะแพทยศาสตร์
ซึ่งผ่านการคัดเลือกโดย กสพท. นั้น ผลปรากฏว่า นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้คะแนนเป็นอันดับ 1 คือ น.ส.ธัญชนก ธีรรัตน์กุล อายุ 16 ปี จาก ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งได้คะแนน 79.9443
นร.สาววัย16สุดเก่ง ติดที่1-แพทย์จุฬาฯ
น.ส.ธัญชนก หรือ "น้องนุกนิก" กล่าวว่า
รู้สึกภูมิใจมาก สมกับความตั้งใจและความใฝ่ฝันที่อยากเป็นหมอ เพราะอาชีพนี้เป็นอาชีพที่สำคัญ ได้ช่วยเหลือคนให้มีชีวิตที่ดีขึ้นอีกครั้ง ซึ่งแรงจูงใจที่อยากเป็นหมอมาจากคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งขณะนี้เป็นหมออยู่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้รับทุนการศึกษาจากสำนัก งานกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ให้ศึกษาต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะเลือกเรียนที่ใด เพราะ ส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ถนัดวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ แต่ชีววิทยา จะไม่ค่อยถนัดนัก ดังนั้นการคัดเลือกที่จะเรียนต่อที่ใดต้องดูความถนัดของตัวเองด้วย และการเลือกเรียนก็ไม่ได้คิดถึงรายได้ที่จะได้รับในอนาคต คิดแต่ว่าจะเลือกเรียนโดยความชอบของตนเองเป็นหลัก
"เคล็ดลับในการเรียนคือ จะตั้งใจเรียนในห้องให้เต็มที่ หมั่นทบทวนบทเรียนด้วยตนเอง และฝึกทำข้อสอบปีเก่าๆ ให้มาก แต่ทั้งนี้ต้องแบ่งเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นด้วย ซึ่งตอนเรียนก็เป็นเชียร์ลีดเดอร์ และเล่นกีฬาบาสเกตบอล เพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการเรียน ส่วนการเรียนพิเศษนั้นคิดว่าไม่จำเป็น เพราะหากครูสอนนักเรียนอย่างเต็มที่ มีความตั้งใจจริง และเห็นประโยชน์ของนักเรียนเป็นหลัก ก็ทำให้เราได้ความรู้เต็มที่ เท่านี้ก็ทำให้เราไม่ต้องไปเรียนพิเศษแล้ว" น.ส.ธัญชนก กล่าว
น.ส.ธัญชนก กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีการมองว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่นิยมเรียนหมอ เพราะกลัวการถูกฟ้องร้องนั้น ในเรื่องนี้ไม่กังวล
เพราะหากเราตั้งใจทำเต็มความสามารถ มีความระมัดระวัง และมีเจตนาที่ดี ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร ทั้งนี้ อยากเป็นหมอด้านประสาท เพราะสงสารคนที่เป็นโรคนี้ เนื่องจากสร้างความลำบากให้กับคนไข้ ซึ่งบางรายก็จะเป็นอัมพาตตลอดชีวิต ดังนั้นจึงสนใจที่จะทำงานวิจัยเพื่อหาตัวยาใหม่ๆ มารักษาคนไข้ด้วย ส่วนที่เด็กรุ่นใหม่นิยมไปหันไปเรียนด้านนิติศาสตร์นั้น เห็นว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิส่วนบุคคล อย่างไรก็ตามปัจจุบันเรื่องกฎหมายก็เป็นเรื่องสำคัญ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยอาจหันไปเรียนมากขึ้น และเป็นธรรมดาของสังคมไทย เมื่อมีกระแสนิยมไปทางสาขาใด คนไทยก็มักจะนิยมแห่ไปเรียนสาขานั้น ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะเราควรเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองชอบ และถนัด
พ.ญ.อัจฉรา ธีรรัตน์กุล มารดา น.ส.ธัญชนก กล่าวว่า
ปัจจุบันทำงานอยู่ศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ทำงานประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยกับสหรัฐ ส่วนบิดา น.ส.ธัญชนก คือ รศ.น.พ.สุเมธ ปัจจุบันเป็นอาจารย์แพทย์ ภาควิชาศัลยแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และเป็นศิษย์เก่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ทั้งนี้ น.ส.ธัญชนก เป็นคนเลือกคณะแพทยศาสตร์ด้วยตนเอง โดยเลือกคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งคงเป็นเพราะพ่อเป็นศิษย์เก่า และเลือกคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี เป็นอันดับ 2 เพราะพ่อทำงานอยู่