วันนี้ (4 เม.ย.) ที่สถานีขนส่งสายใต้ (แห่งใหม่) นพ.เสรี หงษ์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการรณรงค์ให้ความรู้ด้านกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบ ว่า ปัจจุบันผู้ชายสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิง 20 เท่า กลุ่มอายุที่สูบบุหรี่สูงสุด คือ 41-59 ปี รองลงมาคือ 25-40 ปี แต่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ กลุ่มอายุ 15-18 ปี และ 11-14 ปี ซึ่งเป็นนักสูบหน้าใหม่กลับมีอัตราการสูบบุหรี่สูงขึ้น สาเหตุที่วัยรุ่นมีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตและจำหน่ายบุหรี่มีวิธีการส่งเสริมการขายเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชน และผู้หญิงมากขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจึงประกาศนโยบายเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบโดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ลดการริเริ่มการสูบบุหรี่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ลดการบริโภคยาสูบ และปกป้องสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่จากควันบุหรี่
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า
ในประเด็นปกป้องสุขภาพของประชาชนผู้ไม่สูบบุหรี่นั้น ได้ออก พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพ ของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 และในปี พ.ศ. 2549 กระทรวงสาธารณสุขได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 17 กำหนดให้สถานที่ต่าง ๆ ที่มีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมากเป็นเขตปลอดบุหรี่ ไม่อนุญาตให้มีการสูบบุหรี่ภายในสถานที่นั้น ๆ โดยมีการแสดงเครื่องหมายเครื่องหมายปลอดบุหรี่ แต่ที่ผ่านมาศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา กรมควบคุมโรค ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายบุหรี่เป็นจำนวนมากในประเด็นเดิม ได้แก่ การสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ เช่น สถานีขนส่งผู้โดยสารทุกประเภท ซึ่งสถานที่ดังกล่าวต้องห้ามสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด จะสูบได้เฉพาะบริเวณที่จัดให้สูบเท่านั้น ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 2,000 บาท
นพ.เสรี กล่าวต่อว่า สำหรับในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ สถานีขนส่งผู้โดยสารทุกประเภทมีประชาชนเป็นจำนวนมากใช้บริการ
อาจมีผู้สูบบุหรี่โดยไม่ทราบว่ามีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ ทำความรบกวนต่อสุขภาพของผู้อื่น กรมควบคุมโรคจึงได้จัดให้มีการรณรงค์ในสถานีขนส่งผู้โดยสารให้ทราบถึงกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบ เกิดความรู้ ความเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง ประสานความร่วมมือและพัฒนาแนวทางการดำเนินงานตามกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และ สร้างกระแสสังคมในการปกป้องสิทธิไม่ให้ถูกละเมิดจากผู้อื่นที่ทำให้เจ็บป่วยจากภัยสุขภาพที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ก่อ.