ห้ามเมาลามก เข้มสงกรานต์

ใกล้ถึงช่วงงานเทศกาลสงกรานต์ งานประเพณีสำคัญของไทย

ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมมาตรการรับมือการเล่นสาดน้ำอย่างไม่เหมาะสม  เมื่อวันที่ 3 เม.ย. นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เทศกาลสงกรานต์แต่ละปีมักพบว่ามีเยาวชนเป็นจำนวนมากที่แต่งกายไม่สุภาพ และประพฤติปฏิบัติตนไม่เหมาะสม โดยในระหว่างที่ไปร่วมเล่นน้ำกลุ่มวัยรุ่นผู้หญิงมักสวมใส่เสื้อบางๆ แบบนุ่งน้อยห่มน้อย เมื่อเปียกน้ำจึงทำให้มองเห็นสรีระต่างๆ สร้างการยั่วยุทางอารมณ์ให้กับผู้ชายที่พบเห็น

ในขณะที่กลุ่มวัยรุ่นชายบางส่วนมักจะทำอนาจารกับผู้หญิงที่ไปร่วมเล่นน้ำ

เช่น ใช้แป้งทาหน้า แล้วลูบไล้ไปยังส่วนต่างๆ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น จะรวมกลุ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนมึนเมา และก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันเกิดขึ้นตามมา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ดังนั้น เทศกาลสงกรานต์ในปีนี้จึงขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทยที่กำกับดูแลองค์กรปกครองท้องถิ่นต่างๆได้ช่วยกันกวดขันดูแล 

“ในส่วนของ ศธ. จะจัดเจ้าหน้าที่สารวัตรนักเรียน และเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศ ออกไปเฝ้าระวังในจุดเสี่ยงต่างๆ เช่น ถนนข้าวสาร กทม. ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น คูเมือง จ.เชียงใหม่ ร่วมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะจัดตำรวจท่องเที่ยวหรือตำรวจหน่วยอื่นๆเข้ามาดูแล นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือไปยังกระทรวงวัฒนธรรมให้ช่วยจัดส่งทีมงานลงพื้นที่ เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ที่ถูกต้องให้กลุ่มเยาวชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าใจ อีกทั้งทำหน้าที่ตรวจตราร่วมกัน โดยหากพบเห็นเยาวชน นักเรียนนักศึกษาคนใดแต่งกายไม่สุภาพ หรือมีการดื่มสุราต้องมีการเรียกมาว่ากล่าวตักเตือน และส่งตัวกลับบ้านทันที จะต้องไม่ให้เข้าไปร่วมงานอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมา ทุกปีอาจจะไม่มีการเข้มงวดเรื่องนี้ แต่ปีนี้ ศธ.จะขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อเอาจริงเอาจัง” โฆษก ศธ.กล่าว 


นายวัฒนากล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มที่มีการลวนลาม หรือกระทำอนาจารนั้น หากพบเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้อง มีการว่ากล่าวตักเตือน

และส่งตัวดำเนินคดีตามกฎหมายเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี และก่อนที่จะถึงเทศกาลสงกรานต์ อยากให้ทางกระทรวงวัฒนธรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ที่ถูกต้องผ่านทางสื่อโทรทัศน์เพื่อให้เยาวชนได้เข้าใจและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ที่สำคัญพ่อแม่ผู้ปกครองควรให้คำปรึกษาหรือให้คำแนะนำ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกๆด้วย จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง



ในวันเดียวกัน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต. เรืองศักดิ์ จริตเอก และ พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พร้อมด้วย พล.ต.ต.วิษณุ ม่วงแพร่ศรี ผบก.จร. พล.ต.ต.พศิน นพสกุล ผบก.ทล. พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ รอง ผบช.สตม. แถลงข่าวการเตรียมป้องกันอาชญากรรม และลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดย พล.ต.ต.เรืองศักดิ์กล่าวว่า พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รักษาการ ผบ.ตร. ได้ให้นโยบายระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกหน่วยในการปฏิบัติหน้าที่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ตามโครงการ “สงกรานต์ปลอดภัยร่วมใจลดอุบัติเหตุ” โดยมีคำสั่งให้ทุกหน่วยป้องกันปราบปราม กวาดล้างอาชญากรรม อำนวยความสะดวกการจราจร และลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ส่วนการป้องกันกวาดล้างอาชญากรรม ให้ บช.น. บช.ก. และ บช.ภ.1-9 เป็นหน่วยหลัก ระดมกวาดล้างคดีอาชญากรรมในช่วงวันที่ 11-17 เม.ย.นี้ และให้ บช.ปส. บช.ส. บช.สตม. และ บช.ตชด. สนว.ตร. และ พฐ. เป็นหน่วยสนับสนุน 

ส่วนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางท้องถนน พล.ต.ต.เรืองศักดิ์กล่าวว่า

จะประสานกับหลายหน่วยงานวางมาตรการลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บให้น้อยลงกว่าทุกปี ตั้งแต่วันที่ 11-17 เม.ย.  ถือว่าเป็น 7 วันระวังอันตราย นอกจากนี้ จะเน้นการบังคับใช้กฎหมายจับกุมผู้กระทำผิดตามมาตรการ “9 ข้อหาหลัก” คือ 1. ขับรถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย 2. ขับรถจักรยานยนต์ที่มีอุปกรณ์ส่วนควบไม่ถูกต้อง 3. ขับรถขณะเมาสุรา 4. ขับรถไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 5. ขับรถไม่มีใบขับขี่ 6. ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด 7. ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง 8. ขับรถแซงในที่คับขันหรือเขตปลอดภัย และ 9. ขับรถย้อนศร 


ด้าน พล.ต.ต.พศิน นพสกุล ผบก.ทล. กล่าวช่วงปี 2550 มีผู้เสียชีวิตทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 361 ราย รัฐบาลตั้งเป้าไว้ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเลย

แต่ถ้าเกิดต้องไม่เกิน 361 ราย หรือลดลงมาอย่างน้อยร้อยละ 10 คือ 330 ราย อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนถนนสายรองเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ได้กำหนดจุดเปิดเส้นทางพิเศษเพื่อรองรับปัญหาการจราจรบนถนน 4 จุด ที่มีจำนวนรถมาก คือ จุดที่ 1 ต่างระดับสระบุรี จุดที่ 2 แก่งคอย จุดที่ 3 ถนนสายเอเชีย กม.75-88 และจุดที่ 4 สายกบินทร์บุรี-ปักธงชัย เพื่อระบายรถขาออกตั้งแต่วันที่ 11-12 เม.ย. นอกจากนี้ ได้ประสานตำรวจภูธรแก้ไขจุดเสี่ยง 67 จุด ส่วนการเล่นสาดน้ำบนถนนหลวงเป็นความผิด รวมทั้งการปาน้ำแข็งหรือสิ่งของใส่รถยนต์ นอกจากจะเป็นความผิดตามมาตรา 39 พ.ร.บ.ทางหลวง ตำรวจจะดำเนินความผิดมีโทษจำคุก 6-10 ปี ซึ่งจะเน้นการเล่นสาดน้ำบนทางหลวงเป็นพิเศษ พร้อมกันนี้ ขอความร่วมมือเตือนไม่โทรศัพท์ขณะขับรถ 


นอกจากนี้ ที่บริเวณลานด้านหน้าบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์การป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นายดำรง พุฒตาล ประธานมูลนิธิเมาไม่ขับ นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ และนายอนุชา โมกขเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกันปล่อยขบวนคาราวาน “สงกรานต์ปลอดภัยร่วมใจไปให้ถึง” โดยมีเหยื่อผู้สูญเสียจากการเมาแล้วขับ 6 คน ซึ่งเป็นผู้พิการนั่งรถเข็น (วีลแชร์) เป็นอาสาสมัครขับรถยนต์ติดตั้งอุปกรณ์แฮนด์คอนโทรลสำหรับคนพิการ จำนวน 6 คัน ออกวิ่งจากกรุงเทพฯ ผ่าน 27 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 4 ภาค เป็นระยะทาง 5,000 กม. ใช้เวลาเดินทาง 8 วัน ตลอดเส้นทางที่ขบวนผ่านจะทำกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้รถใช้ถนน เพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และจะนำป้ายขนาดใหญ่มีสโลแกนว่า “ศุกร์เมา เสาร์สวด อาทิตย์ลูกบวช จันทร์เผา” ไปติดที่ปั๊ม ปตท. กว่า 1 พันแห่งทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาใช้ความระมัดระวังมากขึ้น


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์