ไม่รับเลือดเกย์ ผอ.ศูนย์โลหิตชี้เหตุผล ต้องคิดถึงผู้ป่วยที่รอใช้

กรณีสภากาชาดไทยยืนยันที่จะไม่รับบริจาคเลือดจากกลุ่มคนรักร่วมเพศ

เพราะถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะพบเชื้อโรคติดต่อ เช่น HIV หรือไวรัสตับอักเสบ ทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เตรียมยื่นหนังสือต่อสภากาชาดไทย ว่าเลือกปฏิบัติและฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ เหตุขัดบันทึกเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญ ม.30 ที่ห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ ขณะที่นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งและประธานกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศออกมาตอบโต้สภากาชาดไทย ที่ไม่รับ บริจาคเลือดจากกลุ่มเกย์หรือกะเทย ว่ามีมาตรฐานอะไรชี้วัดว่าคนไหนเป็นเกย์หรือกะเทยนั้น


เกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ว่า

สภากาชาดไทยมีหน้าที่จัดหาโลหิตบริจาคให้มีปริมาณเพียงพอแก่ผู้ป่วย แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของโลหิตที่ได้รับบริจาค ขอขอบคุณคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้ช่วยย้ำเตือนสังคมให้ตระหนักต่อความรับผิดชอบในการบริจาคโลหิต ที่ต้องมีคุณภาพและปลอดภัยให้กับผู้ป่วย เพราะการบริจาคโลหิตนั้น ต้องอาศัยความรับผิดชอบของผู้บริจาคด้วย ลำพังสภากาชาดแม้จะมีมาตรการตรวจอย่างละเอียด แต่บางครั้งก็มีเลือดที่มีความเสี่ยงได้น้ำยาที่ตรวจสอบเชื้อต่างๆ แม้ว่าจะมีคุณภาพดีมากเพียงใด สามารถตรวจหาเชื้อได้เพียง 22 วัน หลังได้รับเชื้อ แต่หากได้รับเชื้อก่อนหน้าจะบริจาคโลหิตไม่เกิน 22 วัน ก็ไม่สามารถหาเชื้อพบ เพราะเชื้ออยู่ระหว่างการฟักตัว ที่ผ่านมาผู้บริจาคบางคนก็ไม่ทราบว่าเลือดตนเองมีเชื้อ บางส่วนก็ทราบว่าตัวเองมีความเสี่ยง แต่ต้องการเพียงพิสูจน์ ตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ป่วยด้วย 

พญ.สร้อยสอางค์กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันมีเลือดที่รับบริจาค ร้อยละ 2 ที่ตรวจพบโรคต่างๆ

อาทิ ไวรัสตับอักเสบบี พบมากเป็นอันดับหนึ่ง นอกจากนี้ เป็นไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส และเอชไอวี/เอดส์ สภากาชาดต้องการเลือด แต่จะคิดถึงปริมาณโดยละเลยเรื่องคุณภาพไม่ได้ การคัดเลือกผู้บริจาคโลหิต ตามแบบสอบถาม มิได้เป็นการแบ่งแยกหรือกีดดันทางเพศแต่อย่างใด เป็นการแจ้งให้ทราบว่าก่อนที่จะมีการบริจาคโลหิต หากมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ต้องไม่ บริจาคโลหิต และยอมรับความจริงกับตนเอง ต้องถือว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน เพราะการบริจาคเลือดถือเป็นการทำบุญ ต้องเลือกว่าจะทำบุญหรือทำบาป 

สำหรับค่าใช้จ่าย ตั้งแต่การรับเลือดถึงการตรวจสอบเลือด พญ.สร้อยสอางค์กล่าวว่า แต่ละถุงอยู่ที่ประมาณ 600-800 บาท

เมื่อได้รับเลือดจะนำเลือดไปแยกเป็น เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด พลาสม่า เลือด 1 ถุง จะสามารถใช้ได้กับผู้ป่วย 3 คน แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่า เลือดจากบุคคลดังกล่าวมีเชื้อใดๆ จะต้องทิ้งทั้งหมดทันที ทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากในปีที่ผ่านมา มีการคิดวิจัยทำให้มี น้ำยาตรวจหาเชื้อได้เร็วที่สุด 11 วันหลังรับเชื้อ แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 350 บาทต่อ 1 ตัวอย่าง ดังนั้น คิดว่าจะมีการนำน้ำยาตัวใหม่มาใช้ในอนาคต แต่ต้องพิจารณางบประมาณในการดำเนิน โดยส่วนตัวเห็นว่าคุ้มค่า เพราะแม้งบประมาณจะเพิ่มขึ้น หากตรวจพบเพียงแค่รายเดียว ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่ผู้รับบริจาคโลหิต จากการทดลองสามารถคัดกรองผู้บริจาคโลหิตที่ติดเชื้อเอชไอวี เพิ่มขึ้นอีก 5 ราย จากการตรวจด้วยน้ำยาปกติ ซึ่งถ้าหากไม่ใช้น้ำยานี้ตรวจ โลหิตจากผู้บริจาค 5 ราย จะสู่ผู้รับบริจาค 20 ราย  

พญ.สร้อยสอางค์กล่าวต่อว่า การนำเสนอข่าวดังกล่าว ถือว่ามีผลดีต่อสังคมไทย ทำให้ประชาชนมั่นใจในกระบวนการคัดกรองเลือดที่ปลอดภัยของสภากาชาดไทย

เป็นการให้ข้อมูลต่อสังคมว่า หากต้องการบริจาคโลหิต ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม ก่อนหน้านี้ได้ชี้แจงข้อมูล ให้นายนที ธีระโรจนพงษ์ ผอ.กลุ่มเกย์การเมืองไทย ก็เข้าใจดีแล้ว ส่วนที่มีบางฝ่ายระบุว่าเกย์หรือกะเทยบางคนก็เป็นคนดีในสังคม เป็นบุคคลมีชื่อเสียงนั้น ต้องยอมรับว่าในสังคมมีคนดีเยอะมาก บางคนก็เปิดเผยตัวตน บางคนก็ไม่เปิดเผยตัว ดังนั้น อย่าคิดว่าการปฏิเสธเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่อยากให้คิดว่าเป็นคำนึงถึงผู้รับบริจาคเลือด การปฏิเสธการรับบริจาคเลือด ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อีกทั้งแบบสอบถามก็ใช้คำสุภาพมากที่สุด


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์