หลังจากแมวใน อ.ไชโย จ.อ่างทอง ป่วยตายจำนวนมาก
ทำให้หลายหน่วยงานพยายามหาสาเหตุและมาตรการป้องกัน เนื่องจากเกรงเกิดเชื้อโรคจะระบาดสู่คน โดยเมื่อวันที่ 28 มี.ค. นายอานนท์ บุญยะรัตเวช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. กล่าวภายหลังเปิดสัมมนาเรื่อง “งานวิจัยไข้หวัดนกเพื่อการเลี้ยงสัตว์ปีกอย่างปลอดภัย” ว่า ได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมปศุสัตว์ ศึกษาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสว่าเป็นชนิดใด
ส่วนนายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ กล่าวว่า จะศึกษาเชื้อไวรัสที่คาดว่าก่อให้เกิดโรคในแมวรวม 3 ชนิด
คือ 1. เชื้อฟีไลน์ เฮอร์พิส ไวรัส 2. ฟีไลน์ แพลี โคพีเนีย และ 3.ฟีไลน์ แคลีซิท ไวรัส โดยจะศึกษาในระดับ ดีเอ็นเอของไวรัส ซึ่งเชื้อไวรัสทั้ง 3 ชนิด เป็นเชื้อที่พบได้ในสัตว์อยู่แล้ว และไม่มีทางแพร่ระบาดมาสู่คน เนื่องจากไม่กลายพันธุ์ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะทราบผล กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติของแมวที่ไม่ได้รับวัคซีน ทำให้เกิดโรคได้ง่ายและล้มตาย การล้มตายของแมวด้วยโรคนี้เกิดขึ้นแทบทุกปี
บ่ายวันเดียวกันที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์
นายสัตวแพทย์ธวัชชัย ศักดิ์ภู่อร่าม คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ นายสัตวแพทย์สำเริง วรสี ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ แถลงว่า หลังจากเกิดเหตุแมวตายจำนวนมากที่ ต.ชะไว อ.ไชโย จ.อ่างทอง นั้น จากการเก็บตัวอย่างแมว 9 ตัวในพื้นที่มาตรวจ พบว่าสาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อแคลิซิไวรัส ซึ่งเราเรียกกันทั่วไปว่าหวัดแมว (Cat Flu) หรือโรคหวัดปากและเท้าอักเสบในแมว
คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันถ้ามีไวรัสอื่นมาผสมด้วย จะทำให้มีความรุนแรงมากขึ้น เชื้อนี้จะทำให้แมวเป็นหวัด ช่องปากและลิ้นอักเสบ หากเป็นในแมวเล็กซึ่งยังไม่มีภูมิคุ้มกันภายใน 24-48 ชั่วโมง จะทำให้ตายได้ ส่วนในแมวใหญ่หากนำส่งสัตวแพทย์ ก็จะรักษาให้หายได้ทัน ขอยืนยันว่าโรคนี้ไม่ติดสู่คนและไม่ติดระหว่างแมวไปสุนัข แต่จะติดจากแมวถึงแมวเท่านั้น