ภาวะโลกร้อน ทำให้แผ่นน้ำแข็งใกล้ขั้วโลกใต้ถล่มเป็นบริเวณกว้าง 7 เท่าของเกาะแมนฮัตตัน
(26มีค.) นักวิทยาศาสตร์ จากทีมวิจัย บริติช แอนตาร์กติก เซอร์เวย์ หรือ บาส บอกว่าจากภาพถ่ายดาวเทียมชี้ให้เห็นว่า ขอบแผ่นน้ำแข็งวิลกินส์ในแอนตาร์กติก ตะวันตกซึ่งมีขนาดใหญ่เท่ากับรัฐคอนเน็คติกัตของสหรัฐ และอยู่มานานกว่า 1 พัน 5 ร้อยปี ได้พังทลายกินพื้นที่กว่า 400 ตารางกิโลเมตรในช่วงเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากภาวะโลกร้อนและทำให้ธารน้ำแข็งบางส่วนตกอยู่ในความเสี่ยง
นักวิทยาศาสตร์ได้สังเกตุพบว่ามันเริ่มพังถล่มลงมาตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และกำลังวิตกว่า
ส่วนที่เหลือของแผ่นน้ำแข็งวิลกินส์จะถล่มลงมาอีก และจะกินบริเวณกว้างกว่าที่เคยเกิดถล่มครั้งใหญ่เมื่อปี 2545 และ 2538 ซึ่งคาดว่าแผ่นน้ำแข็งแผ่นนี้จะพังถล่มในอีก 15 ปีจากนี้ และแม้นักวิทยาศาสตร์จะไม่ได้วิตกว่าปรากฎการณ์ล่าสุดจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แต่ก็บอกว่านี่เป็นสัญญานของภัยจากโลกร้อน
นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ ข้อมูลน้ำแข็งและหิมะแห่งชาติของนาซา ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในรัฐโคโรลาโดบอกว่า
การพังถล่มของแผ่นน้ำแข็งเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ปกติ แต่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา และว่ายังมีโอกาสที่ส่วนที่เหลือของแผ่นน้ำแข็งวิลกินส์จะยังอยู่รอดปลอดภัยไปจนถึงปีหน้า เพราะตอนนี้เป็นช่วงสิ้นสุดฤดูร้อนของทวีปแอนตาร์กติกแล้ว และอากาศกำลังหนาวเย็นขึ้น