โจ๋ยุคใหม่ สอบตกใบขับขี่ ตาบอดสี

จากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้น โดย เฉพาะกรณีของนายกัณฑ์พิทักษ์ ปัจฉิมสวัสดิ์ หรือ “หมูแฮม” ที่ก่อเหตุขับรถชนคนเสียชีวิต และภายหลังแพทย์ตรวจพบว่า เป็นผู้มีอาการของโรคทางจิตเวชและระบบประสาท และล่าสุด  “หมูแฮม”  ก็กลับมาก่อคดีซ้ำซาก  ขับรถชนกับ รถโดยสารประจำทางปรับอากาศอีกครั้ง ทำให้กรมการขนส่ง ทางบก ตระหนักถึงความจำเป็นในการออกมาตรการป้องกัน เพื่อความปลอดภัยด้านการใช้รถใช้ถนนของประชาชน
 

โดยเมื่อวันที่ 23 มี.ค. นายชัยรัตน์ สงวนชื่อ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก  เปิดเผยว่า 

กรมการขนส่งทางบกได้จัดทำแผนจะปรับเปลี่ยนระบบการทดสอบเพื่อออกใบอนุญาตขับรถ ทั้งรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ เพราะ ที่ผ่านมามีปัญหาในการประเมินผลอย่างมาก ทั้งเรื่องการ ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย การสอบข้อเขียน และการสอบ ปฏิบัติ โดยเฉพาะการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย โดย ปกติผู้มาทดสอบจะต้องนำใบรับรองจากแพทย์มาประกอบการในการยื่นเอกสารขอทดสอบ  จากนั้นจึงเข้าทดสอบสมรรถภาพร่างกายเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งฯ ซ้ำอีกครั้ง หากไม่มีปัญหาก็สามารถเข้าสอบข้อเขียน และ สอบปฏิบัติได้
 

นายชัยรัตน์ กล่าวอีกว่า

ในอนาคตการสอบปฏิบัติจะต้องใช้รถยนต์ที่ทางราชการจัดไว้ให้เท่านั้น ไม่สามารถใช้รถยนต์ส่วนตัวมาสอบได้เอง  เพราะกรมการขนส่งฯ จะมีการติดตั้งระบบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-ไดรวิ่ง (E-Driving) เป็นระบบคอมพิวเตอร์ แนะนำการขับขี่ ว่าจะต้องขับขี่ในท่าใดบ้าง เช่น ขับรถทางตรง เลี้ยว จอด เทียบชิดขอบถนน หรือถอยหลังเข้าช่องจอดรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งหลังจากขับขี่ในแต่ละท่าเสร็จ ระบบจะให้คะแนนประเมิน ผลทันที ถือเป็นระบบที่ทันสมัยมาก ช่วยลดปัญหาข้อพิพาท ขัดแย้งระหว่างผู้ทดสอบกับผู้ให้คะแนน ขณะนี้อยู่ระหว่าง การตรวจสอบข้อมูล และการประเมินราคาการจัดซื้อและติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวอยู่
 

“ปัญหาความสมบูรณ์ของร่างกายที่พบเป็นประจำคือ เรื่องใบรับรองแพทย์ที่ปัจจุบันจะระบุเพียงว่า ร่างกายปกติไม่เป็นอุปสรรคปัญหาในการขับขี่รถ แต่พอเข้าทดสอบ ร่างกายเบื้องต้นกับเจ้าหน้าที่ขนส่งฯ กลับไม่ผ่านการตรวจ สอบ โดยเฉพาะโรคทางตา เช่น ตาบอดสี ตามองเห็นแต่มุม กว้าง หรือเบลอ เห็นภาพไม่ชัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็นแพทย์ จึงไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ ผู้ทดสอบต้องเสียเวลาไปหา แพทย์เพื่อยืนยันโรคอีกครั้ง” นายชัยรัตน์กล่าว และว่าในจำนวนผู้ขอทดสอบเพื่อออกใบอนุญาตขับรถเป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่นค่อนข้างมาก และส่วนใหญ่มักจะไม่ผ่านการ ทดสอบด้านสายตา เพราะตาบอดสี มองมุมกว้างไม่เห็น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอาชีพเชื่อมเหล็ก อ๊อกเหล็ก ที่ต้องอยู่กับแสง  ประกายไฟ เป็นเวลานาน  ก็มีปัญหาเช่นกัน นอกจากนี้ ยังพบว่ามีกลุ่มโรคบางโรคที่อาจเป็น ปัญหาต่อการขับขี่รถยนต์ด้วย  เช่น  โรคเบาหวาน  โรคลมชัก หรือบ้าหมู มือเท้ากระตุก เพราะโรคเหล่านี้อาจเกิด ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ ทำให้ช็อก หรือวูบกะทันหันขณะขับรถ หรือควบคุมอารมณ์ไม่อยู่

“กรมฯได้ประสานไปยังแพทยสภา ให้เร่งร่างกฎระเบียบเกี่ยวกับโรคต้องห้าม  และเป็นอุปสรรคในการขับรถใหม่ เพื่อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ ปัจจุบัน ซึ่งกรณีของน้องหมูแฮม-กัณฑ์พิทักษ์ ปัจฉิมสวัสดิ์ ที่เป็นโรคลมชักขับรถชนรถเมล์ ก็ถือเป็นกรณีศึกษาและ เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขระเบียบในการออกใบอนุญาตใหม่ เพราะการขับขี่รถยนต์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนไม่เพียงจะเป็นอันตรายต่อตัวเองเท่านั้น ยังสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นด้วย” รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าว
 

ด้านนาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.อิทธิพร คณะเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภาด้านบริหารและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในฐานะเลขาอนุกรรมการคณะทำงานยกร่างแก้ไขข้อบังคับใบรับรองมาตรฐานสุขภาพ เปิดเผยว่า

 กรมการขนส่งทางบกได้ขอความร่วมมือแพทยสภาให้เป็นผู้ยกร่างแก้ไขข้อบังคับใบรับรองมาตรฐานสุขภาพ (ใบ รับรองแพทย์) ขึ้น เพื่อใช้ประกอบการทดสอบเพื่อออกใบอนุญาตขับรถ โดยแพทยสภาได้ยกร่างแก้ไขข้อบังคับใบรับรองมาตรฐานสุขภาพขึ้นใหม่ โดยใช้มาตรฐานประเทศ สหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นต้นแบบและมีการปรับปรุงให้มีความเหมาะสมกับประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้ส่งร่างข้อบังคับดังกล่าวไปยังราชวิทยาลัยแพทย์ทั้งหมดในประเทศไทย 13 แห่ง และโรงเรียนแพทย์ 1 แห่ง พิจารณาข้อมูลความถูกต้อง ความเหมาะสม และมีโรคอื่นๆ ที่จะเพิ่มเติมในข้อบังคับหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อร่างข้อบังคับดังกล่าว เสร็จสมบูรณ์มีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นประชาชนด้วย
 

นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.อิทธิพรกล่าวว่า

เนื้อหาสาระสำคัญของร่างแก้ไขข้อบังคับนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ส่วนที่ผู้จะขอทดสอบเพื่อขอใบอนุญาตขับรถจะต้องร่วมให้ประวัติทางการแพทย์ว่าเคยเป็นโรคที่สำคัญๆ อะไรบ้าง เช่น เคยผ่าตัดหัวใจ เป็นโรคเกี่ยวกับ สมอง โรคลมชัก มีประวัติเคยใช้ยาเสพติด เป็นโรคเกี่ยวกับตา จอประสาทตา การได้ยิน ในใบรับรองแพทย์ด้วย เนื่องจากแพทย์ไม่สามารถซักถามได้ทั้งหมด และส่วนที่ 2 เป็นหน้าที่ของแพทย์ที่ตรวจให้ความเห็นว่ามีโรคต่างๆ หรือไม่ มีสุขภาพที่เหมาะสมในการขับรถหรือไม่ ทั้งนี้ ยังไม่มีการจำกัดจำนวนโรคว่ามีกี่โรคที่ต้องแจ้ง แต่ จะออกแบบให้การกรอกแบบฟอร์มนี้สั้น กระชับ สะดวกและใช้เวลาน้อยที่สุด 

“เดิมกฎหมายระบุไว้ว่าใบรับรองแพทย์ให้แสดงเพียง 5 โรค ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการขับรถหรือป้องกันภัย ในการขับรถ คือ ไม่เป็นโรคติดต่อเป็นที่รังเกียจ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ไม่ติดสุรา ยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์  ต่อจิตประสาท  แต่ในข้อบังคับฉบับใหม่จะเน้นโรคที่เกี่ยวข้องกับการขับรถจริงๆ โดยแบ่งเป็นโรคระบบประสาท เช่น โรคลมชัก โรคกล้ามเนื้อลีบ อ่อนแรง ทั้งมือ เท้า ความพิการ โรคระบบการมองเห็น โรคตาบอดสี มองเห็นด้วยตาเพียงข้างเดียว โรคระบบการได้ยิน โรคเรื้อรังและอื่นๆ โดยมีแบบฟอร์มใบรับรองแพทย์ให้เสร็จ หมอเพียงแต่บอกว่ามีหรือไม่มี จะไม่บอกเพียงว่าร่างกายสมบูรณ์หรือไม่  แต่จะบอกถึงโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการขับขี่ทั้งหมด หรืออาจจะไม่พบโรคใดๆ เลยก็ได้” นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.อิทธิพรกล่าว
 

ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภากล่าวด้วยว่า

โรคที่เป็นอุปสรรคต่อการขับขี่รถ แต่สามารถขับขี่ด้วยกรณีพิเศษ เช่น มีแขนข้างเดียว โดยได้รับอนุญาตให้ขับรถที่มีลักษณะพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อผู้พิการโดยเฉพาะ โดยกฎหมายไม่ได้ปิดกั้นผู้พิการ เช่นเดียวกันกับโรคอื่นๆ ที่ได้รับการรับรองจากแพทย์ประจำตัวว่ามีการตรวจเช็กร่างกายเป็นประจำ สามารถขับขี่พาหนะได้ แต่หากกรณีผู้ที่เป็นโรคลมชัก และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ผู้ที่เป็นโรคที่ขาดยาไม่ได้ โดยยามีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม อาจมีปัญหาในการขับขี่ ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับอนุญาตให้ขับขี่ในระยะสั้นๆ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ส่วนผู้ ที่ได้รับอนุญาตขับรถตลอดชีพ จะต้องมีการตรวจรับรองโรคหรือไม่ ยังต้องมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ มีการหารือกรณีผู้ขับขี่ที่อยู่ในวัยทอง ซึ่งเป็นวัยที่มีการขับขี่รถมากเป็นพิเศษ  อาจมีปัญหาการควบคุมอารมณ์ ประสิทธิภาพการได้ยินลดลง คิดช้า จะมีการพิจารณาว่าจะดูแลอย่างไร โดยยังไม่มีการพิจารณาอายุว่าจะใช้ช่วงเกณฑ์ใด
 

“ร่างแก้ไขข้อบังคับฉบับนี้ ทำขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้ใช้รถใช้ถนนให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และไม่ได้ ออกโดยแพทยสภาผู้เดียว ในการทำงานมีอัยการและนักกฎหมาย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และภาคสังคมหลายฝ่ายช่วยกันร่างข้อบังคับฉบับนี้ขึ้นด้วยความรอบคอบ โดยมีการทำคู่มือเกี่ยวกับโรคที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัยในการขับขี่แจกให้กับแพทย์ทั่วประเทศเป็นเกณฑ์มาตร-ฐาน สำหรับร่างแก้ไขข้อบังคับฉบับนี้จะแล้วเสร็จทุกกระ-บวนการภายใน 6 เดือน จากนั้นจะต้องมีปรับแก้ไขระเบียบกรมการขนส่งทางบกให้สอดคล้องกันด้วย เพื่อให้ใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ”

 นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.อิทธิพรกล่าวและว่า

นอกจากนี้ ในการหารือจะร่วมกันแก้ปัญหาการ ออกใบรับรองแพทย์ปลอมด้วย โดยจะมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของแพทย์กับกรมการขนส่งทางบก ดังนั้น จึงปลอม ใบรับรองแพทย์ยากขึ้น เนื่องจากจะสามารถตรวจสอบได้ว่าแพทย์รายใดที่เป็นผู้ออกใบรับรอง เป็นแพทย์จริงหรือไม่ด้วย
 

ในวันเดียวกัน นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า

กรณีที่เด็กวัยรุ่นเล่นเกมคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน จนทำให้เกิดอาการตาบอดสีว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน เพราะการที่นั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดอาการเคืองตา และแสบตาจนทำให้น้ำตาไหล เพราะใช้สายตาเป็นเวลานาน จะไม่ส่งผลจนเกิดอาการตาบอดสี ส่วนสาเหตุที่เกิดอาการตาบอดสีน่าจะมาจากกรรมพันธุ์


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์