นักวิจัยจุฬาฯพบไวรัสหมูท้องร่วงกลายพันธุ์มาจากจีน เป็นครั้งแรกของโลกที่ทำให้หมูตายกว่า 6 แสนตัว ชี้อาจติดถึงคนหลังพบนักวิจัยในห้องปฏิบัติการ และคนในฟาร์มท้องร่วงเตรียมขออุจจาระตรวจ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรเผยไวรัสระบาดไม่หยุดลามจากภาคกลางถึงอีสานแล้ว
จากเหตุการณ์ลูกหมูในฟาร์มทั่วประเทศไทยตายลงกว่า6 แสนตัว
จากการระบาดของ "โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร" หรือโรคพีอีดี (Porcine Epidemic Diarrhea หรือ PED) นั้นล่าสุดผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่เกิดโรคระบาดพีอีดีทำให้หมูตายนับแสนตัว นอกจากนี้ผลวิเคราะห์สารพันธุกรรมในไวรัสที่ระบาดยังพบว่าไม่ใช่ไวรัสพีอีดีในไทย แต่เป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่แพร่มาจากประเทศจีน
น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ธนาวงษ์นุเวช หัวหน้าหน่วยชันสูตรโรคสัตว์และหัวหน้าหน่วยพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า
โรคพีอีดีที่ทำให้หมูท้องร่วงนั้นพบในเมืองไทยมานานหลายปี เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสพีอีดี(Porcine Epidemic Diarrhea Virus หรือ PEDV) ในสกุลโคโรนาไวรัส(coronavirus) ที่พบได้ในสัตว์หลายชนิดรวมทั้งในคน ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้จะเข้าไปทำลายเยื่อบุลำไส้เล็ก ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารน้อยลง ลูกหมูจะสูญเสียของเหลวและมีอาการขาดน้ำรุนแรงจนช็อกตาย แต่โรคพีอีดีไม่เคยระบาดรุนแรงจนทำให้ลูกหมูตายไปไม่ต่ำกว่า5 แสนตัวแบบนี้มาก่อน จึงมีการนำเชื้อพีอีดีที่ระบาดล่าสุดมาวิเคราะห์สารพันธุกรรม ทราบว่าไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์เดิมในเมืองไทย แต่เป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศจีนเมื่อปีพ.ศ.2547
"ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของโลกที่โรคระบาดพีอีดีทำให้ลูกหมูท้องร่วงตายกว่า 5 แสนตัวมีรายงานว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เมื่อนำไวรัสพีอีดีจากลูกหมูที่ตายมาถอดรหัสพันธุกรรม ทำให้รู้ว่าเป็นไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ไม่เคยระบาดในไทยมาก่อน เพราะสารพันธุกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม แต่ไปเหมือนกับสายพันธุ์ที่เคยพบในจีนมาก่อนแล้ว ถือเป็นการพบไวรัสพีอีดีสายพันธุ์นี้ครั้งแรกในไทย"ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสในสุกรกล่าว
น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า
การระบาดของโรคพีอีดีนั้น ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าติดสู่คนหรือไม่ อย่างไรก็ตามเชื้อไวรัสจะติดอยู่ตามเสื้อผ้า มือ รองเท้าหรืออวัยวะของผู้ที่ไปสัมผัสตัวลูกหมูหรืออุจจาระในเล้าหมู หากผู้สัมผัสมีร่างกายอ่อนแออาจมีอาการท้องเสียหรือท้องร่วงประมาณ1 วัน จากนั้นร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันและสามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ผู้บริโภคไม่ควรตื่นตระหนกเพราะขณะนี้กำลังศึกษาถึงการก่อโรคในสัตว์และในคนอยู่ ถึงแม้ว่าไวรัสพีอีดีจะเป็นไวรัสในวงศ์เดียวกับไวรัสซาร์สก็ตามแต่ลักษณะทางพันธุกรรมและการก่อโรคจะแตกต่างกันมาก เนื่องจากไวรัสซาร์สไปทำลายระบบหายใจทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ขณะที่ไวรัสพีอีดีหากมีการติดเชื้อสู่คนจริงก็จะมีอาการท้องร่วงแค่1-2 ครั้ง จากการสังเกตของผู้เชี่ยวชาญแล้วร่างกายมนุษย์ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันได้เองตามธรรมชาติ
น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์วิเคราะห์สาเหตุที่ไวรัสพีอีดีสายพันธุ์ใหม่จากจีนมาระบาดในฟาร์มสุกรเมืองไทยนั้น
อาจเกิดจาก2 สาเหตุคือ
1.นักท่องเที่ยวหรือเจ้าหน้าที่ฟาร์มสุกรที่มาจากแหล่งเกิดโรคระบาดเดินทางมาดูงานในฟาร์มสุกรในไทย รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสุกรจากประเทศไทยที่ได้เดินทางไปดูงานยังประเทศดังกล่าว โดยไม่ได้กักโรคก่อนอย่างน้อย 3 วันเมื่อเข้าฟาร์มสุกร ทำให้เชื้อโรคที่ติดอยู่ตามเสื้อผ้าและร่างกายกระจายไปสู่หมูในเล้าได้
2.การนำเข้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่แช่แข็ง เช่น หนังหมู เครื่องในแช่แข็ง รวมทั้งหมูมีชีวิตและน้ำเชื้อเข้าสู่ประเทศโดยไม่มีการตรวจโรคที่รัดกุมก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ระบาดไปสู่ฟาร์มหมูได้ ซึ่งตนกำลังเขียนรายงานเรื่องดังกล่าวร่วมกับคณาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นความร่วมมือของนักวิชาการด้านสุกรในประเทศไทย รวมถึงกำลังศึกษาถึงการผลิตวัคซีนป้องกันโรคพีอีดีเพื่อใช้ในประเทศไทยและอาจส่งออกไปใช้ในประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาเช่นเดียวกันได้
ส่วนการควบคุมโรคพีอีดีนั้น น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์แนะนำว่า
ฟาร์มที่เกิดการระบาดครั้งแรก ต้องให้แม่สุกรเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างรวดเร็วทั้งฝูง เพื่อลดความเสียหายหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยการนำลำไส้เล็กของลูกสุกรที่ป่วยในเล้าคลอดมาสับละลายน้ำให้แม่สุกรกินโดยใช้อัตราส่วน ลำไส้เล็กลูกสุกร 1 ตัวต่อแม่สุกร10-20 ตัวรวมถึงแม่พันธุ์อุ้มท้องด้วยโดยกิน 3 ครั้งทุกๆ 2 วันทั้งนี้ ต้องระวังการใช้ลูกสุกรที่อายุมากกว่า 3 สัปดาห์ เพราะอาจมีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ได้ ส่วนลูกสุกรที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อจะมีอาการขาดน้ำมาก ต้องช่วยโดยการให้สารน้ำทดแทนทางช่องท้องจำพวก Dextrose (D-5-S) ตัวละประมาณ50-100 ซีซี ทั้งนี้การป้องกันและควบคุมโรคพีอีดีที่ได้ผลดีที่สุดคือความเข้มงวดของระบบป้องกันทางชีวภาพ (biosecurity) ที่จะไม่ให้มีการนำเชื้อเข้าสู่ฟาร์มได้โดยคนสัตว์และสิ่งของ เช่น อาบน้ำก่อนเข้าเล้าหมู ฆ่าเชื้ออุปกรณ์ ฯลฯ
ด้านนายสุรชัยสุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวว่า
โรคหมูท้องร่วงระบาดจากฟาร์มหมูใน จ.ราชบุรีตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ก่อนเชื้อกระจายไปยังฟาร์มหมูจังหวัดใกล้เคียงร้อยละ90 ของภาคตะวันตกและภาคตะวันออกของประเทศไทย ขณะนี่แพร่ระบาดไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้วโดยเชื้อติดไปกับรถขนอาหารสัตว์ ตนทราบมาว่าเป็นเชื้อไวรัสพีอีดีสายพันธุ์ที่เคยระบาดในประเทศจีน เมื่อคนไทยสั่งเครื่องในสัตว์แช่แข็งเข้ามาจากจีนเชื้อไวรัสตัวนี้ก็ติดตามมา จนแพร่ไปทั่วในอากาศ ผู้เลี้ยงหมูก็ไม่รู้ว่าจะป้องกันอย่างไรเพราะยังไม่มีวัคซีนสำหรับโรคพีอีดี
ทั้งนี้เจ้าของฟาร์มสุกรรายใหญ่ใน จ.ราชบุรี กล่าวว่า
ทำฟาร์มเลี้ยงหมูมากว่า30 ปีแล้วไม่เคยมีโรคระบาดอย่างนี้มาก่อน ที่ผ่านมาก็มีแค่โรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยซึ่งทำให้หมูตายไปไม่กี่ตัว แต่การระบาดของโรคหมูท้องร่วงนี้ร้ายแรงมากทำให้ลูกหมูตายรุ่นละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 โดยเริ่มท้องเสียตายตั้งแต่ปลายปีที่แล้วและยังคงตายต่อเนื่องจนถึงเดือนนี้ จึงมีการเพิ่มมาตรการรักษาความสะอาดและห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปในฟาร์มอย่างเด็ดขาด แต่ยังมีลูกหมูท้องเสียตายทุกวัน อาจเป็นเพราะเชื้อไวรัสกระจายอยู่ในอากาศ
"ฟาร์มขนาดเล็กหลายแห่งในจ.ราชบุรี ปิดตัวไปแล้ว เพราะโรคนี้ยังระบาดอยู่ ตอนนี้มีรายได้จากการเอาลูกหมูท้องเสียตายไปขายให้ร้านทำอาหารสัตว์กิโลกรัมละ2 บาทคนรับซื้อจะเอาไปสับแล้วให้ปลาช่อนกิน ส่วนเรื่องคนงานอาจติดเชื้อพีอีดีจากลูกหมูนั้น ยังไม่แน่ใจเพราะถ้าคนงานท้องเสียแล้วหาย พวกเขาอาจคิดว่ากินส้มตำแล้วท้องเสียเป็นปกติก็ได้" เจ้าของฟาร์มหมูกล่าว
ทั้งนี้นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการของคณะสัตวแพทย์แห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า
ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ประจำห้องแล็บได้นำลำไส้และอุจจาระของลูกหมูที่ตายมาวิเคราะห์นั้น ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทั้งสามคนมีอาการท้องเสียเหมือนกัน จึงตั้งสมมติฐานว่าอาจเกิดจากเจ้าหน้าที่ได้รับเชื้อไวรัสโรคพีอีดีจากการสัมผัส แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่ได้เก็บอุจจาระจากเจ้าหน้าที่มาวิเคราะห์ ถ้าเป็นการติดเชื้อตัวเดียวกันจริงก็จะพบไวรัสสายพันธุ์เดียวกันในอุจจาระของคนเช่นกัน ทั้งนี้การเจาะเลือดตรวจแอนติบอดีไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากในคนก็มีไวรัสโคโรนาเช่นกันที่มีการสร้างภูมิคุ้มกันปกป้องได้ ตนขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในฟาร์มหมูที่มีโรคระบาดสังเกตว่ามีเจ้าหน้าที่ท้องเสียหรือไม่ หากพบก็ให้รีบนำอุจจาระไปพบแพทย์เพื่อส่งตรวจถือเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่จะวิจัยต่อไปว่าเชื้อไวรัสพีอีดีนั้นสามารถติดต่อมาสู่คนได้หรือไม่
"อาการท้องเสียของเจ้าหน้าที่ในห้องแล็บอาจติดเชื้อไวรัสพีอีดีจากตัวอย่างส่งตรวจ แต่ยังไม่มีการพิสูจน์แน่ชัดประชาชนไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะคนที่ได้รับเชื้อไวรัสพีอีดีจะท้องเสียแค่1-2 ครั้ง แล้วร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกัน หากไม่สังเกตอาจไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อจากไวรัสตัวนี้ก็ได้"นักวิจัยกล่าว
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ส่วนควบคุมโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูลว่า ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการติดต่อของไวรัสพีอีดีจากหมูสู่คนแต่อย่างใด เพราะหากมีการระบาดสู่คนจริง สำนักปศุสัตว์ประจำท้องถิ่นต้องรายงานให้ส่วนกลางทราบ