แฉ"ซีเอ็ดบุ๊ค-นายอินทร์-บีทูเอส" แหล่งโจรกรรมหนังสือ "แฮร์รี่ พอตเตอร์-สามก๊ก" หรือค่ายเนชั่นบุ๊คส์ สุดยอดหาย "ซีเอ็ด" สูญ 50 ล้าน
แฉแหล่งรับซื้อหนังสือโจร มีทั้งร้านหนังสือเก่า-หนังสือเช่า
ย่านสะพานควาย รังสิต นนทบุรี ปทุมวัน ชลบุรี และโคราชใกล้หอพักนักศึกษา ตั้ง ฉก.จับพบหัวขโมย นศ.ปริญญาโท ชี้ไม่เพิ่มบทลงโทษเตรียมปิดกิจการ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยเล็งฝังชิพปกหนังสือ ตรวจจับก่อนพ้นร้านรอทุกฝ่ายฟันธง! เร็วๆ นี้
นางริสรวลอร่ามเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยกล่าวว่า
ปัจจุบันสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มีสมาชิกที่เป็นสำนักพิมพ์ 500 ราย และร้านหนังสือกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ และได้รับการร้องเรียนเรื่องหนังสือหายมาโดยตลอด ซึ่งทุกร้านถูกขโมยหนังสือโดยเฉพาะร้านหนังสือขนาดใหญ่ เช่น ร้านซีเอ็ดบุ๊ค ร้านนายอินทร์ ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บีทูเอส ต่างร้องเรียนเข้ามา แต่มูลค่าความเสียหายไม่ทราบชัดเจน เพราะสมาคมไม่เคยสำรวจ ทั้งนี้ ปัญหาหนังสือถูกขโมยนั้นบั่นทอนกำลังใจและกระทบธุรกิจหนังสืออย่างมาก เนื่องจากสำนักพิมพ์ต่างฝากขายหนังสือไว้กับร้านหนังสือ เช่น ฝากหนังสือไว้ 10 เล่ม แต่หายไป 5 เล่ม โดยยังมีข้อมูลอยู่ในคอมพิวเตอร์ของร้านหนังสือ ก็เกิดการลังเลว่า จะจ่ายเงินค่าหนังสือ 5 เล่มที่หายไปให้แก่สำนักพิมพ์หรือไม่2 รูปแบบขโมยหยิบไปอ่าน-ขโมยเลย
"ร้านหนังสือยิ่งมีขนาดใหญ่ยิ่งมีโอกาสหนังสือหายง่าย เพราะมีหนังสือหลากหลาย มีหนังสือดัง หนังสือราคาแพงอยู่ด้วย การขโมยหนังสือแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ แบบแรกขโมยเพราะไม่มีเงินซื้ออ่าน หยิบไปเล่มเดียวเพื่อนำไปอ่าน และแบบที่สองขโมยเป็นธุรกิจนำไปส่งต่อให้ร้านหนังสือทั่วไป แต่ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าหนังสือถูกขโมยกี่เล่ม สูญเสียเป็นเงินทั้งหมดเท่าไร เพราะสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ยังไม่เคยสำรวจ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหนังสือที่ถูกขโมยนั้นคงมีการส่งต่อไปให้ร้านหนังสือมือสองเป็นจำนวนไม่น้อยโดยกระจายอยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เมื่อมีหนังสือดีๆ ดังๆ วางตลาดเยอะ ออเดอร์ก็ยิ่งมาก เมื่อร้านหนังสือจับคนขโมยหนังสือได้ ก็จะให้ลงโทษตามกฎหมาย เช่น ปรับ จำคุก และเคยมีร้านหนังสือบางแห่งพยายามสืบสาวไปถึงเครือข่ายใหญ่ของกลุ่มผู้ขโมยหนังสือไปขายแบบเป็นธุรกิจ แต่ก็ไม่สามารถสืบสาวไปถึงได้" นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กล่าว
นางริสรวลกล่าวอีกว่า
การแก้ปัญหาหนังสือถูกขโมยนั้นขึ้นอยู่กับระบบป้องกันของแต่ละร้านหนังสือจะเข้มงวดแค่ไหน เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิด ทั้งนี้ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มีแนวคิดจะใช้วิธีฝังแถบแม่เหล็กซึ่งเป็นชิพเล็กๆ เข้าไปในปกหนังสือ หากไม่ถูกตรวจจากเครื่องตรวจของร้านหนังสือก่อน เมื่อเดินผ่านช่องทางเดินออกจากร้านที่มีเครื่องตรวจจับอยู่ก็จะมีเสียงดังออกมา ซึ่งต่างประเทศก็ใช้อยู่ เช่น จีน แต่เสียค่าใช้จ่ายสูง เคยมีร้านหนังสือคำนวณค่าใช้จ่ายไว้ เช่น เครื่องตรวจมีราคาเป็นหลักแสน รวมถึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักพิมพ์ โรงพิมพ์และร้านหนังสือ จึงจะดำเนินการได้ เพราะหากโรงพิมพ์จัดพิมพ์หนังสือโดยนำแถบแม่เหล็กฝังไว้ในปกหนังสือ แต่ร้านหนังสือไม่มีเครื่องตรวจก็ไม่มีประโยชน์ ตอนนี้อยู่ระหว่างหารือกับทุกฝ่าย จึงยังไม่ได้ข้อสรุป
ศูนย์หนังสือจุฬาฯหนังสือหายปีละล.
นายทรงยศสามกษัตริย์ รองผู้จัดการศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวยอมรับว่า
ร้านหนังสือทุกร้านเจอปัญหาหนังสือหายกันทุกร้าน ในส่วนของศูนย์หนังสือจุฬาฯ ซึ่งมีสาขาอยู่ 5 แห่งคือ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ที่สยามสแควร์ ศาลาพระเกี้ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยบูรพา และเครือข่ายที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ร.ร.บดินทรเดชา(สิงห์สิงหเสนี) และศูนย์หนังสือตรัง ทุกสาขาประสบปัญหาหนังสือหาย คิดเป็น 1% ของยอดขายหรือปีละ 10 ล้านบาทหนังสือที่หายเป็นอันดับ 1 คือหนังสือราคาแพง รองลงมาคือตำราเรียนและหนังสือกระแส โดยผู้ที่มาขโมยหนังสือมีทั้งที่ทำเป็นขบวนการและทำตามออเดอร์ และมือสมัครเล่นที่มีทั้งนักศึกษา ผู้สูงอายุ และเด็ก รองผู้จัดการศูนย์หนังสือจุฬาฯระบุว่า หนังสือที่หายส่วนใหญ่จะถูกนำไปขายในตลาดมือสอง มีทั้งร้านใหญ่ๆ อย่างเช่น จตุจักร หรือร้านหนังสือมือสองทั่วไปใกล้กับสถานศึกษา หรือตามแหล่งตลาดมือสองที่รู้จักกันในแวดวงผู้ที่ชอบใช้บริการ
ทั้งนี้ตลาดหนังสือมือสองในอดีตจะเป็นหนังสือเรียน
ซึ่งคาดว่าจะมีหนังสือเรียนประมาณ 50% ที่ถูกนำมาขายในตลาดมือสอง และราคาก็จะลดลงอีกราคาขายอาจจะอยู่ที่ประมาณ 25-50% จากราคาปกหรือแล้วแต่สภาพของหนังสือ ทำให้ผู้ที่ต้องการหันมาใช้หนังสือมือสองมีมากขึ้นเพราะราคาถูก ต่อมาตลาดหนังสือมือสองขยายกลุ่มเป้าหมายหนังสือมาที่หนังสือแพง และหนังสือกระแส เช่น หนังสือใหม่ราคาแพงเล่มละ 1,000 บาท ตลาดมือสองอาจจะขายแค่ 500 บาททำให้เป็นช่องว่างของมิจฉาชีพได้
จากตัวเลขมูลค่าการตลาดหนังสือทั้งระบบจะอยู่ที่1.8 หมื่นล้านบาทขณะที่อยู่หนังสือหายจะอยู่ที่ 1-2% คิดเป็นเงินประมาณ100-200 ล้านบาทซึ่งคาดการณ์กันว่าหนังสือเหล่านี้จะไปอยู่ในตลาดหนังสือมือสอง ซึ่งจะมีหนังสือเก่าส่วนหนึ่งด้วยและปัจจุบันตลาดกลุ่มนี้โตขึ้นเรื่อยๆ จะสังเกตว่าจะมีร้านหนังสือมือสองเล็กๆ บางทีคูหาเดียวติดป้ายว่ารับซื้อ-ขายหนังสือมือสองจำนวนมากแต่ยังไม่เคยมีการทำวิจัยว่ามูลค่าการตลาดหนังสือมือสองอยู่ที่เท่าไร แต่น่าจะอยู่ที่หลักพันล้านขึ้นไป รองผู้จัดการศูนย์หนังสือจุฬาฯ กล่าว
ซีเอ็ดแฉสูญเงินล้านบาท
ด้านนายวิโรจน์ลักขณาอดิศร ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
ในปี 2550 ที่ผ่านมา ภาพรวมธุรกิจหนังสือเติบโตถึง 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าดีใจที่พบว่าคนไทยนิยมอ่านหนังสือมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อธุรกิจมีการเติบโตย่อมมีมิจฉาชีพแสวงหาผลประโยชน์จากธุรกิจนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กลุ่มมิจฉาชีพที่เกิดขึ้นคือกลุ่มแก๊งหัวขโมย ที่ตระเวนขโมยหนังสือตามร้านค้าต่างๆ ไปขายต่อ โดยมีร้านรับซื้อหนังสือรองรับหัวขโมยเหล่านี้ ปีที่ผ่านมามีหนังสือในท้องตลาดสูญหายไปมากกว่า 3% หรือ 300 ล้านบาทของยอดขายหนังสือทั้งหมด
"เราเอาสถิติเก่าๆ ออกมาเปรียบเทียบดู พบว่าเมื่อประมาณปี 2545 หนังสือของเราหายไป 0.8% มันสูงขึ้นทุกๆ ปี จนปี 2549 ยอดสูงขึ้นเป็น 1.6% คิดเป็นเงินก็ประมาณ 50 ล้านบาท จึงตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อตามหาหนังสือที่หายว่าหนังสือเหล่านั้นของเราหายไปไหน ใครเอาไปทำอะไรกันแน่ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลฯกล่าว
นายวิโรจน์ระบุว่า
หนึ่งปีที่ผ่านมาพบว่าหนังสือที่มีการขโมยมากที่สุดอยู่ในกลุ่มวรรณกรรมวัยรุ่น (นิยาย-นิยายแปล) ทั้งนี้ จากสถิติการจับกุมในปีที่ผ่านมาสามารถจับผู้ที่ขโมยหนังสือได้ 60 ราย แต่ละรายจะขโมยหนังสือครั้งละประมาณ 20 เล่ม และใน 20 เล่มจะมีหนังสือประเภทวรรณกรรมวัยรุ่นรวมอยู่ด้วยทุกครั้ง ปีที่ผ่านมานี้จากสถิติพบว่าหัวขโมยที่จับได้เป็นคนหน้าเดิมๆ ที่เคยจับได้ก่อนหน้านี้ บางคนทำผิดลักษณะเดียวกันซ้ำถึง 4 ครั้ง ในคนละพื้นที่ โดยไม่เกรงกลัวบทลงโทษทางกฎหมาย แถมพูดจาเย้ยหยันว่าหากหลุดออกไปจะขโมยหนังสือให้ได้มากกว่าจำนวนที่ถูกปรับเสียอีก
แฉหัวขโมยนศ.ปริญญาโท
นายวิโรจน์กล่าวว่า
ขโมยที่จับได้นั้นส่วนใหญ่แต่งตัวดี ภูมิฐาน บางรายเป็นนักศึกษา การศึกษาดี มีทั้งนิติศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงนักศึกษาปริญาโทของมหาวิทยาลัยชื่อดังก็มี กลุ่มคนเหล่านี้จะเฝ้าสังเกตร้านหนังสือเป้าหมายนานกว่าสัปดาห์ก่อนลงมือ วิธีแนบเนียนมาก ใช้ช่วงที่พนักงานเผลอหยิบหนังสือใส่ถุงที่นำติดตัวเข้ามา หรือซุกซ่อนในร่างกาย
เราจะรู้ได้ทันทีว่าใครขโมยหนังสือไปขายหรือใครขโมยไปอ่าน
เราก็ไม่ได้ใจร้ายดำเนินคดีทุกรายไป พวกเรารู้ทันทีว่าใครขโมยไปอ่าน ใครขโมยไปขายต่อ จะมีใครไหมที่ขโมยหนังสือเรื่องเดียวกันหลายๆเ ล่ม โดยเฉพาะหนังสือที่เป็นที่น่าสนใจในท้องตลาดอย่างแฮรี่พอตเตอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลฯ กล่าว
ผู้บริหารคนเดิมระบุว่า
จากข้อมูลที่ได้พบว่า หัวขโมยจะนำหนังสือที่ขโมยไปขายต่อที่ร้านรับซื้อหนังเก่าและร้านเช่าหนังสือ ในราคา 25 เปอร์เซ็นต์ของราคาปก แล้วนำไปขายในราคาเต็ม หรือมีส่วนลดตามต้องการ เท่าที่บริษัทจับตาดูมีร้านลักษณะนี้หลายแห่งกระจายอยู่ใน กทม.และต่างจังหวัด ซึ่งใน กทม.จะอยู่ย่านสะพานควาย รังสิต นนทบุรี บางแค และปทุมวัน ส่วนต่างจังหวัดมี 2 จังหวัดที่ถูกจับตา คือ ชลบุรีและนครราชสีมา
90% ร้านรับซื้อหนังสือโจรใกล้หอ นศ.
ผมบอกได้เลยว่า90 เปอร์เซ็นต์ร้านรับซื้อเหล่านี้จะอยู่ในบริเวณที่มีหอพักนักศึกษาอยู่จำนวนมาก ปีที่ผ่านมาเราตามเข้าไปตรวจสอบ พบว่า มีร้านเช่าหนังสือ 2 ร้านนำหนังสือของเรามาขาย ทั้งๆ ที่เป็นหนังสือใหม่ กว่า 60 เล่ม ซึ่งหนังสือเหล่านั้นยังไม่ได้ผ่านการขาย แต่ถูกขโมยไป ตรงนี้เราได้ทำตำหนิ มีวิธีการตรวจสอบ แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ บางทีจะเห็นได้ตามงานแสดง หรืองานมหกรรมหนังสือ บางครั้งร้านขายหนังสือเก่าจะขายหนังสือถูกกว่าสำนักพิมพ์เสียอีก ผู้บริหารคนเดิม ระบุ
นายวิโรจน์กล่าวด้วยว่า วงจรนี้คงไม่หมดไป เพราะใครก็อยากได้ อยากทำ ทำง่าย ลงทุนถูก กำไรงาม โทษก็ไม่มาก หากยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่หาวิธีป้องกันแก้ไข จะทำให้จำนวนผู้ประกอบการร้านหนังสือลดลง ที่ผ่านมาก็มีให้เห็นแล้ว เพราะเวลาเช็กสินค้าบางร้านมียอดรวมสินค้าหายไปกว่า 1 ล้านบาท ก็ต้องปิดตัวลง ซึ่งกฎหมายไม่ได้รุนแรง มีโทษเพียงแค่ปรับ ฉะนั้น อยากให้ผู้เกี่ยวข้องหันมามองภาพรวมของปัญหานี้ด้วย
ตั้งฉก.ปราบแก๊งขโมยหายลดลง
นายทนงโชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
กลุ่มที่ขโมยหนังสือนั้น ส่วนใหญ่เป็นแก๊งมืออาชีพ มีวิธีการหลากหลายรูปแบบ จากการสำรวจหน้าร้านซีเอ็ดทุกสาขา จำนวน 291 สาขา พบว่า ในปี 2549 มีตัวเลขความเสียหายจากการถูกขโมยสูงถึง 50 ล้านบาท แต่เมื่อบริษัทลงทุนหามาตรการป้องกันการขโมยแล้ว ปรากฏว่า ปี 2550 มีความเสียหายลดลงเหลือ 30 ล้านบาท
"ที่ลดลงเพราะเรามีแผนกแอลพีดี คือ หน่วยป้องกันการขโมย ไว้รับมือกับกลุ่มโจรพวกนี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังจ้างตำรวจนอกเครื่องแบบช่วยในการดูแลและสืบเสาะหาต้นตอแหล่งรับซื้อ เราทำทุกอย่างเพื่อควบคุมปัญหา ซึ่งมาวิเคราะห์กันว่าเกิดจากอะไรบ้างทั้งภายในและภายนอก โดยภายในอาจมีเรื่องของระบบโจรภายใน ลูกค้าในร้าน ภายนอกก็เป็นพวกร้านรับซื้ออีกที อาจเป็นร้านหนังสือมือสองแถวจตุจักร ผมว่าทำกันเป็นเครือข่าย พนักงานเราก็เทรนด์ให้สอดส่องดูแลอย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วย" ผู้บริหารซีเอ็ด กล่าว
นายทนงให้ข้อมูลต่อว่า
ได้ลงทุนซื้อเครื่องมือป้องกัน มูลค่าเกือบ 20 ล้าน ในการจ้างคน ซื้อกล้องซีซีทีวี ติดตั้งสัญญาณกันขโมยก่อนออกจากร้าน การสืบทางลับ เป็นต้น
"เรามีเป็น 10 มาตรการในการป้องกัน กล้องเป็นแค่อุปกรณ์หนึ่งเท่านั้น ที่เราทำอะไรไม่ได้มากส่วนหนึ่งเพราะกฎหมายมีช่องโหว่ เหมือนพวกขโมยสายไฟ ขโมยนอต ทำอะไรไม่ได้มาก บางทีเด็กมาขโมยเราจะทำอะไรได้ ส่งตำรวจก็จะโดนกล่าวหาว่าไม่มีเมตตา พอจับได้เสียค่าปรับ 5 เท่า 10 เท่า ก็มีคนมาจ่ายให้ แล้วยังไงล่ะเด็กพวกนี้ก็ไปขโมยที่อื่น แถมมากขึ้นอีก เพื่อชดเชยค่าปรับ มันเป็นอย่างนี้" นายทนง กล่าวอย่างอ่อนใจและว่า ที่ถูกโจรกรรมมากที่สุดเป็นหนังสือประเภทวรรณกรรมและวรรณกรรมแปลที่ขายดี อย่าง แฮร์รี่พอตเตอร์ หรือหนังสือจากค่ายเนชั่นบุ๊คส์
โจรลอยนวลทำเป็นขบวนการ
ด้านเจ้าของสำนักพิมพ์และเจ้าของร้านขายหนังสือรายหนึ่งบอกว่า แต่ละปีเคยเจอปัญหาหนังสือดิส หรือหนังสือหาย มูลค่านับแสนบาท เมื่อปีที่แล้วมียอดหนังสือหายรวมมูลค่า 4-5 แสนบาท จากหนังสือกว่า 1,000 รายการ เช่น การออกบูธขายหนังสือหน้าโรงเรียนแห่งหนึ่งใน กทม. เพียง 5 วัน หนังสือหายไปมูลค่านับหมื่นบาทแล้ว เป็นการหายอย่างไร้ร่องรอยและจับกุมใครไม่ได้ เชื่อว่าการขโมยหนังสือต้องมีการทำกันเป็นขบวนการแน่นอน
"หนังสือที่ถูกขโมยจะเป็นหนังสือที่มีราคาและเป็นหนังสือขายดีติดอันดับ โดยเฉพาะร้านหนังสือใหญ่อย่างซีเอ็ด นายอินทร์ จะเจอปัญหาหนังสือหายจากร้านจำนวนมาก เกิดจากพนักงาน หรือแก๊งขโมยหนังสือ ส่วนหนังสือของผมที่ถูกขโมยจะเป็นหนังสือที่มีราคา อย่างเรื่อง สามก๊ก เล่มละพันกว่าบาท" เจ้าของสำนักพิมพ์ กล่าว
ปลายทางส่งตลาดมืด-จตุจักร
สำหรับปลายทางของหนังสือที่ถูกขโมยไปนั้นเจ้าของสำนักพิมพ์ มองว่า หนังสือเหล่านี้จะไปสู่ตลาดมืด เช่น ตลาดนัดจตุจักร หรือตามแผงขายหนังสือกลางคืน ที่ผ่านมาเคยซื้อหนังสือใหม่ เล่มละประมาณ 800 บาท แต่ลดราคาถึง 40 เปอร์เซ็นต์ จากเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่ขายหนังสือแผงลอยอยู่แถวท่าช้าง แถมยังสามารถสั่งออเดอร์ซื้อหนังสือใหม่ๆ ในราคาลด 40 เปอร์เซ็นต์ ได้อีกด้วย ทั้งนี้ ยังเป็นเพียงข้อสงสัยเท่านั้นว่า อาจเป็นหนังสือที่ถูกขโมยหรือไม่ เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้
เจ้าของสำนักพิมพ์รายนี้นอกจากจะโดนขโมยหนังสือแล้วยังเคยถูกเสนอให้รับซื้อหนังสือเรื่องแฮรี่พอตเตอร์ ภาคใหม่ล่าสุด 600 ชุด ในราคาลดจากปก 80 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย แต่พอสอบถามถึงที่มาของหนังสือผู้ขายกลับปฏิเสธที่จะพูดถึง และไม่ยอมขายหนังสือให้ สาเหตุที่ต้องสอบถามถึงที่มาเพราะกลัวโดนข้อหารับซื้อของโจร เหมือนร้านขายหนังสือแห่งหนึ่งที่เคยถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการรับซื้อของโจรถึง 300 ล้านบาท
ส่วนกรณีหนังสือเข้าสู่ตลาดมืดนั้นเจ้าของสำนักพิมพ์รายเดิม มองว่า น่าจะเกิดจากปัจจัย 3 อย่าง คือ แก๊งมิจฉาชีพที่ทำกันเป็นขบวนการ พนักงานร้านหนังสือ หรือสำนักพิมพ์และโรงพิมพ์ หรือไม่ก็สายส่ง เป็นผู้ดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือเกินแล้วนำไปขายในตลาดมืด
จตุจักรขายแฮรรี่7 ราคา 480 บาท
ผู้สื่อข่าว"คม ชัด ลึก" ออกสำรวจตลาดขายหนังสือในตลาดนัดจตุจักร เกี่ยวกับปัญหาหนังสือถูกขโมย พบว่า หนังสือที่วางจำหน่ายในแผงหนังสือตลาดนัดจตุจักร มีทั้งตำราเรียน การ์ตูน คอมพิวเตอร์ หนังสือประวัติศาสตร์ ฯลฯ โดยมีทั้งหนังสือเก่าและใหม่ สนนราคาแตกต่างกันไปตามสภาพหนังสือ หากเป็นหนังสือที่ออกใหม่ จะลดราคา 10-40 เปอร์เซ็นต์ เช่น หนังสือแฮรรี่พอตเตอร์ ภาค 7 ราคาปก 559 บาท ขายเพียง 480 บาท
จากการสอบถามเจ้าของแผงหนังสือส่วนใหญ่ยอมรับว่า
มีปัญหาหนังสือถูกขโมยน้อยมาก และหนังสือที่ขโมยไปเป็นเพราะการดูแลไม่ทั่วถึงของพนักงาน ทำให้คนซื้อหยิบหนังสือไปโดยไม่จ่ายเงิน ตรงกันข้ามแผงขายหนังสือที่จตุจักร กลับถูกมองว่าเป็นแหล่งรับซื้อหนังสือที่ถูกขโมยมากกว่า
"นุ้ย" เจ้าของร้านห้าห้าบุคส์ กล่าวว่า
ร้านขายหนังสือในตลาดนัดจตุจักรมักถูกมองว่ารับซื้อของโจร แต่ในความเป็นจริงมันยากที่จะตรวจสอบว่าคนที่นำมาขายให้นั้นขโมยมา หรือซื้อมาอ่านเอง แม้จะมีข้อกำหนดออกมาให้ขอเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนคนขายเก็บไว้เป็นหลักฐาน ก็เป็นเรื่องยุ่งยากมาก บางคนมองว่าการเอาหนังสือมาขายแค่ 2-3 เล่ม ต้องขอดูบัตรประจำตัวประชาชนด้วย ก็จะไปขายให้คนอื่นแทน บางทีมีเด็กเอาหนังสือมาขาย ต้องมองแล้วมองอีกว่าขโมยมาหรือไม่ เพราะหนังสือสภาพดีมาก แต่เมื่อเห็นพลาสติกโลโก้ของร้านเราก็รับซื้ออย่างสบายใจ แต่ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าร้านใหญ่ๆ ที่มีปัญหาหนังสือหายมากๆ ไม่มีระบบป้องกันที่ดีหรืออย่างไร แล้วผลกระทบก็มาตกอยู่ที่ร้านหนังสือของพวกเรา กล่าวหาว่าเป็นแหล่งรับซื้อหนังสือที่ขโมยมา