ปัญหาการระบาดของปลาซัคเกอร์ หรือ ปลาเทศบาล กำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศ ทำให้ปลาในแหล่งน้ำหลายชนิดลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว
แหล่งน้ำธรรมชาติในจังหวัดตาก จำนวนหลายแห่งเต็มไปด้วยปลาซัคเกอร์
ปัญหาเกิดจากผู้เลี้ยงปลาสวยงามเพียงไม่กี่คนเบื่อเลี้ยงปลาชนิดนี้ แล้วนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำเพียงตัวสองตัวจนแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ยิ่งช่วงฤดูฝนเป็นช่วงฤดูน้ำหลากจะระบาดรุนแรง เนื่องจากแหล่งน้ำที่มีช่องทางเดินของระบบน้ำติดต่อกันหลายแห่ง ทำให้ปลาซัคเกอร์แพร่กระจายได้อย่างทั่วถึง แหล่งน้ำที่พบมีการระบาดของปลาซัคเกอร์ ได้แก่ หนองหลวง หนองมณีบรรพต และหนองยายปา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ทุกจุดจะไหลลงสู่แม่น้ำปิง ทำให้การระบาดขยายวงกว้างยากต่อการแก้ไข เช่น ที่หนองยายปา ตั้งอยู่กลางใจเมืองตาก เดิมเป็นแหล่งน้ำเสื่อมสภาพ ผักตบชวาขึ้นอยู่หนาแน่น
ต่อมาทางเทศบาลเมืองตาก ได้พัฒนา ให้เป็นสถานที่พักผ่อน
และทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดจังหวัดตาก ได้นำปลาน้ำจืดนานาชนิดปล่อยลงแหล่งน้ำ เพื่อให้ประชาชนจับไปบริโภค เพียงช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา พบมีการระบาดของปลาซัคเกอร์อยู่ทั่วไป ปลาชนิดอื่นไม่หลงเหลือให้จับ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนา ประมงน้ำจืดจังหวัดตาก เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เร่งหาแนวทางแก้ไข โดยร่วมมือกับประชาชนกำจัดปลาซัคเกอร์ ศัตรูตัวร้ายทำให้ปลาชนิดอื่นใกล้สูญพันธุ์ ด้วยการนำอวนลงไปชักลาก เพียงกว่า 1 สัปดาห์ สามารถจับได้มากกว่า 5 ตัน แต่ก็ยังไม่หมดไป เพราะปลาตัวใหญ่ที่ฝังตัวอยู่ดินโคลนรอดจากแห อวน จำนวนไม่น้อยพร้อมกลับมาระบาดอีกครั้ง
“ปลาซัคเกอร์” มีถิ่นกำเนิดอยู่แอฟริกาใต้ มีการนำเข้ามาเลี้ยงนานกว่า 20 ปี
จัดเป็นประเภทปลาสวยงามชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงกันในหมู่ชื่นชอบปลาหายาก ด้วยลักษณะลำตัวหัวแบนโตเกล็ดแข็ง ครีบและกระโดงแหลมคม วางไข่ครั้งละ 100-200 ฟอง ทนต่อสภาพน้ำที่เป็นกรดด่าง หรือในน้ำเน่าเสีย เจริญเติบโตได้ดีในน้ำทุกลักษณะ แต่เนื่องจากเป็นปลาที่มีเนื้อน้อย จึงไม่นิยมรับประทาน ประชาชนมักนิยมเลี้ยงในตู้ ให้กินตะไคร่น้ำ หรือเลี้ยงไว้เก็บเศษอาหารในตู้ปลา เมื่อตัวยังเล็ก ๆ แลดูสวยงาม แต่เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักมากถึง 2-3 กิโลกรัม ตัวใหญ่เกินกว่าจะเลี้ยงได้ ผู้เลี้ยงมักจะนำไปปล่อยในแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ทำให้แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว
วิกฤติหนัก ซัคเกอร์ ระบาดกินปลาน้ำจืด
“ปลาซัคเกอร์” ที่มีขนาดใหญ่ จะกินไข่ปลา หรือกินแม้กระทั่งลูกปลาวัยอ่อนซึ่งเป็นอาหารโปรดของมัน ทำให้เป็นปัญหาต่อวงจรขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ
นายบรรจง จำนงศิตธรรม ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดจังหวัดตาก เปิดเผยว่า ทางศูนย์ฯ เป็นหน่วยงานที่ดูแลแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ ตลอดจนการปราบปรามผู้ที่กระทำผิด พ.ร.บ.ทรัพยากรทางน้ำ เช่น การจับปลาในฤดูวางไข่ ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สัตว์น้ำทุกชนิด การกำจัดปลาซัคเกอร์ ถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ได้ศึกษาถึงผลกระทบจากปลาชนิดนี้ที่จะทำให้ปลาน้ำจืดชนิดอื่น ๆ มีโอกาสสูญพันธุ์ เนื่องจากทุกปี ทางศูนย์ฯ ได้ปล่อยพันธุ์ปลาลงในแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั่วทั้งจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นปลาตะเพียน ปลาสวาย และปลานิล จำนวนนับล้าน ๆ ตัว เพื่อให้ประชาชนได้จับไปบริโภค และเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปลาน้ำจืดไม่ให้สูญพันธุ์ แต่ปรากฏว่าพันธุ์ปลาที่ปล่อย ได้ลดจำนวนลง บางแห่งไม่พบปลาที่ปล่อยไปเลย โดยประชาชนที่ไปตกเบ็ด หรือทอดแห จะได้แต่ปลาซัคเกอร์เป็นส่วนใหญ่ ปลาชนิดอื่นจับได้น้อยมาก
ซึ่งปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ไม่นิยมรับประทาน พอจับได้ก็จะปล่อยลงในแหล่งน้ำตามเดิม ทำให้ปลาชนิดนี้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงขอความร่วมมือจากประชาชนที่ไม่ต้องการเลี้ยงหรือจับปลาซัคเกอร์ได้ในแหล่งน้ำให้นำไปแลกปลาสวยงาม นำไปเลี้ยง หรือปลาชนิดอื่นที่รับประทานได้ เช่น ปลานิล ปลาสวาย ทางกรมประมง กำลังเร่งศึกษาวิจัยหาทางกำจัดปลาชนิดนี้ให้หมดไป โดยเร็ว
ส่วนอีกแนวทางหนึ่งของศูนย์พัฒนาที่ดิน จังหวัดตาก
ข้อแนะนำให้นำซากปลาซัคเกอร์ไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหรือปุ๋ยชีวภาพ เพื่อไปใช้ในสวนผลไม้ นาข้าว หรือสวนไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งได้ผ่านการวิจัยแล้วได้ผลดีไม่ว่าจะเป็นไม้ผล หรือไม้ประดับ โดยประชาชนทั่วไปสามารถทำใช้เองได้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยเคมีใช้ สูตรการทำก็ไม่ยุ่งยาก ใช้น้ำเปล่าสะอาด 10 ลิตร ปลาซัคเกอร์ 30 กิโลกรัม กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม ผลไม้ 10 กิโลกรัม สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 25 กรัม คนให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ 21 วัน เท่านี้ก็จะได้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพไว้ไช้ เวลานำไปใช้เนื่องจากเป็นปุ๋ยน้ำที่เข้มข้น จึงต้องผสมน้ำให้เจือจางก่อนจึงจะใช้ได้ ซึ่งเป็นปุ๋ยที่ให้ประโยชน์มีฮอร์โมนหลายชนิด เช่น ออกซิน จิบเบอร์เรลลิน และไซโตไคนิน ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของราก และใบพืช ส่งเสริมการออกดอกและติดผลดี เป็นสารช่วยขับไล่แมลงศัตรูพืช สามารถนำไปทำความสะอาดในคอกสัตว์เลี้ยงไม่ให้มีกลิ่นเหม็นได้เป็นอย่างดี
การกำจัดปลาซัคเกอร์ให้หมดไปจากแหล่งน้ำคงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปลาชนิดนี้ระบาดอยู่ทั่วทุกแห่ง แหล่งน้ำจำนวนไม่น้อยที่มีขนาดใหญ่ยากที่จะกำจัดให้หมดไป ต้องระดมให้ความรู้ทั้งภาครัฐ และเอกชนเข้ามาร่วมแก้ไขโดยเร่งด่วนไม่เช่นนั้นปลาน้ำจืดทุกชนิดจะไม่เหลือให้บริโภคอย่างแน่นอน.