ราคาข้าวพุ่งกว่า600 ดอลลาร์ต่อตัน พ่อค้าง้อชาวนาไทยซื้อตุนเก็งกำไร นายกสมาคมผู้ส่งข้าวฯ หวั่นข้าวในประเทศขาดแคลน ชาวนาเผยข้าวราคาแพงแต่ยังเป็นหนี้เหตุปุ๋ยขึ้นตามราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ไม่ได้ทำให้ชาวนาไทยดีขึ้นในระยะยาว ตรงกันข้ามอาจจะมีผลเสียตามมามากมาย
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เปิดเผยว่า
ขณะนี้ราคาข้าวพุ่งสูงจาก 3 เดือนที่แล้วถึง 40% โดยต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ราคาส่งออกข้าวร้อยเปอร์เซ็นต์ ตันละ 350 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์สูงขึ้นเกือบ 500 ดอลลาร์สหรัฐ และในเดือนมีนาคมได้สูงขึ้นกว่า 600 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว ขณะที่ราคาขายในประเทศ 1,100 บาทต่อ 100 กิโลกรัม ก็เพิ่มเป็น 1,700-1800 บาท ทำให้มีโรงสีไปเข้าคิวขอซื้อจากชาวนาถึงแปลงนา บางรายทำจองซื้อล่วงหน้าก่อนเก็บเกี่ยว เนื่องจากโรงสีไม่มีข้าวขาย ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการค้าข้าว ยิ่งไปกว่านั้นยังมีกลุ่มพ่อค้าที่เข้ามาแย่งซื้อจากชาวนา เนื่องจากสามารถซื้อมาขายไปทำกำไรได้ดีในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้กลุ่มพ่อค้าส่งออกข้าวไปต่างประเทศประสบปัญหา ไม่มีข้าวขายให้ลูกค้าต่างประเทศ
สาเหตุที่ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์นั้นนายชูเกียรติ อธิบายว่า
เนื่องจากอินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 รองจากไทย มีการบริโภคข้าวในประเทศมากขึ้น ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 รัฐบาลอินเดียได้ออกมาตรการเข้มงวดกับผู้ส่งออกข้าว เพื่อป้องกันวิกฤติขาดแคลนข้าวในประเทศ จนแทบจะหยุดชะงักการส่งออก ประกอบกับเวียดนามซึ่งส่งข้าวขายเป็นอันดับ 3 ของโลก เกิดภัยธรรมชาติและยังไม่ถึงฤดูเก็บเกี่ยว จึงไม่ปล่อยข้าวเข้ามาขายในตลาดโลก ประเทศไทยจึงขายข้าวได้เพิ่มเป็นเดือนละ 1 ล้านตัน จากเดิมที่ขายได้เพียงเดือนละ 7 แสนตันเท่านั้น
"4-5 ปีที่ผ่านมา ราคาข้าวจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 320-330 ดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ข้าวราคาพุ่งสูงมากถึง 30% แต่ก็ยังไม่มีใครปล่อยข้าวออกมาขาย หวังเก็บไว้เก็งกำไร ตอนนี้ผู้ส่งออกข้าวถึงทางตัน ต้องยอมจ่ายค่าปรับตันละ 100 กว่าดอลลาร์สหรัฐ เพราะไม่สามารถหาข้าวให้ตามออเดอร์ได้ และไม่สามารถทำสัญญาขายล่วงหน้าได้ เพราะไม่รู้ว่าวันนั้นราคาข้าวจะพุ่งสูงถึงเท่าไร หรือจะมีข้าวไปส่งให้ลูกค้าตามที่ทำสัญญาหรือไม่ กลุ่มลูกค้าที่ต้องการสั่งซื้อข้าว คือกลุ่มแอฟริกา ฟิลิปปินส์ อิหร่าน อิรัก ตอนนี้อยากซื้อ แต่พ่อค้าไม่มีข้าวไปขาย ยิ่งทำให้ราคาสูงขึ้นไปอีก ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อประเทศไทยในระยะยาว เพราะอาจเสียลูกค้ากลุ่มนี้ไปได้ และจะทำให้ราคาข้าวในประเทศแพงขึ้นด้วย ตอนนี้เชื่อว่าข้าวสารธรรมดาราคาเพิ่มแล้วกิโลกรัมละ 4 บาท ส่วนข้าวหอมมะลิราคาแพงขึ้นกิโลกรัมละ 8-9 บาท" นายชูเกียรติ กล่าว
นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศคาดการณ์ว่า
หากราคาข้าวสูงขึ้นเรื่อยๆ จะก่อให้เกิดปัญหา 3 ประการคือ
1.ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่จะแย่งซื้อข้าวจากผู้ส่งออกรายย่อย ทำให้ราคาข้าวยิ่งสูงขึ้นไปอีก จนกระทบต่อราคาข้าวที่ขายในประเทศ ทำให้ผู้บริโภคคนไทยเดือดร้อน เวลานี้ผู้ขายข้าวในประเทศหลายรายก็ไม่ปล่อยออกมาสู่ตลาดแล้ว เพราะถูกควบคุมห้ามขายเกินราคา จึงเลือกที่จะขายส่งแทนการขายปลีก
2.ทำให้ตลาดซื้อขายข้าววิกฤติ เพราะถูกแทรกแซงจากกลุ่มพ่อค้าเก็งกำไร ที่ไม่ได้อยู่ในวงการค้าข้าวมาก่อน แต่เห็นช่องทางของกำไร จึงเข้ามาซื้อข้าวไปกักตุน แล้วก็ปล่อยขายพอทำกำไรได้ในระยะสั้น ก็ชักชวนนักธุรกิจเครือข่ายซื้อข้าวกักตุนทำกำไรให้เพิ่มขึ้นไปอีก และ
3.ชาวนาที่เคยขายข้าวตามปกติก็จะเก็บไว้รอให้ราคาสูงขึ้น หากราคาปรับลดลงกะทันหันก็จะได้รับความเดือดร้อน ยิ่งไปกว่านั้นถ้าพ่อค้าที่กักตุนข้าวไว้เก็งกำไรปล่อยข้าวออกมาสู่ตลาดพร้อมกัน ข้าวที่ชาวนาเก็บไว้ก็จะต้องขายขาดทุน
"สาเหตุสำคัญที่ข้าวราคาสูงเพราะมีการกักตุน ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ตอนที่นัดประชุมแก้ไขปัญหานั้น โรงสีก็ไม่ยอมรับว่ากักตุน ส่วนชาวนาก็บอกว่าไม่มีปัญญาเก็บไว้เก็งกำไร เพราะไม่มียุ้งฉาง ตอนนี้รัฐบาลต้องลงมาช่วยกำหนดทิศทางแล้ว หากปล่อยไว้ตลาดซื้อขายข้าวต้องวิกฤติแน่นอน ตอนนี้ทุกฝ่ายไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน หากจำเป็นรัฐบาลต้องนำสต็อกข้าวที่เหลือ 1.8 ล้านตันออกมาขายส่งออก แต่แบ่งขายเพียง 4-5 แสนตันก็พอ ถ้ามีข้าวขายในตลาดกลุ่มผู้เก็งกำไรก็จะรีบปล่อยข้าวออกมา ราคาซื้อขายก็จะปรับเปลี่ยนไป เชื่อว่าราคายังคงสูง เพราะต่างประเทศต้องการ แต่จะไม่มีการเก็บไว้เก็งราคา จนข้าวหายไปหมดตลาดแบบนี้" นายชูเกียรติ กล่าว
ด้านนายสุวรรณคธาวุธ นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า
เป็นครั้งแรกที่ชาวนาสามารถขายได้ 700-800 บาทต่อ 100 กิโลกรัม หรือตันละ 7,000-8,000 บาท โดยปีที่แล้วประกันราคาที่ประมาณ 660 บาทต่อ 100 กิโลกรัม หรือตันละ 6,600 บาท อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวที่พุ่งสูงจากปลายปีที่แล้ว 20-30% นั้นไม่ได้ทำให้ชาวนาร่ำรวยขึ้นแต่อย่างใด เพราะราคาปุ๋ยและสารเคมีก็สูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในเขตสุพรรณบุรี ซึ่งชาวนาปลูกข้าวทั้งปี ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยราคาตันละ 2 หมื่นบาท จากเดิมที่ราคาเพียง 6,000-7,000 บาทเท่านั้น อยากให้หน่วยงานรัฐเร่งแก้ปัญหาปุ๋ย น้ำมัน และวัสดุการเกษตรที่ขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง หากไม่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้แม้ราคาข้าวจะพุ่งสูงขึ้น แต่ชาวนาไทยก็ยังยากจนเหมือนเดิม
"ผมอายุ 72 ปีแล้ว เป็นชาวนาตั้งแต่เกิด ยังไม่เคยเห็นราคาข้าวดีขนาดนี้มาก่อน ขายได้ตันละ 7,000-8,000 บาท หลายปีที่ผ่านมาราคาแค่ 5,000-6,000 กว่าบาท แต่อย่าคิดว่าชาวนาจะปลดหนี้สินได้ เพราะต้องคิดถึงปุ๋ยแพง ค่ายาฆ่าแมลง ค่าน้ำมันขึ้นราคา ทุกวันนี้ชาวนาที่ปลูกข้าวรายใหญ่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี เพราะพื้นที่ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม เหมือนชาวนาที่สุพรรณบุรี ซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวมากสุดในภาคกลาง เรียกว่าปลูกข้าวกันทั้งปี พอเกี่ยวเสร็จก็หว่านแล้วก็เตรียมดิน หมุนเวียนไปตลอดปี หากใช้ปุ๋ยชีวภาพจะไม่ได้ผลผลิตมากพอส่งออก ถ้ารัฐบาลใหม่ยังไม่รีบเข้ามาดูแลราคาปุ๋ย อีกไม่นานจะเกิดปัญหาใหญ่แน่ๆ" นายสุวรรณ กล่าว
ขณะที่นายบุญเลื่อนซุยน้ำเที่ยง ชาวนา อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า
แม้ราคาข้าวปีนี้จะแพงแต่ยังเป็นหนี้อยู่ เพราะขายข้าวหมดตั้งแต่ปีที่แล้ว ขายไปกิโลกรัมละ 9 บาท แต่ตอนนี้ต้องซื้อกินกิโลกรัมละ 25 บาท มีบางคนที่ข้าวเหลืออาจขายได้กิโลกรัมละ 12-13 บาท แต่ส่วนใหญ่ไม่มีข้าวเหลือ เพราะ 2 ปีก่อนน้ำท่วม ส่วนปีที่แล้วฝนแล้ง ข้าวเลยได้น้อยแล้วต้องเอาไปปลดหนี้ ธ.ก.ส.หมด ถึงแม้ราคาดีแต่ไม่มีข้าวขาย
นางลัดดาวัลย์กรรณนุช ผอ.สำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการค้าข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มองว่า
ราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จะไม่นำไปสู่ปัญหาข้าวขาดแคลนหรือราคาสูงขึ้น เนื่องจากเมืองไทยผลิตข้าวเปลือกได้ประมาณปีละ 30 ล้านตัน ส่งออก 15 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศ 13 ล้านตัน และเก็บไว้ในสต็อก 2 ล้านตัน แม้ปัจจุบันจะเหลือข้าวในสต็อกเพียง 1.8 ล้านตัน ก็ไม่น่าจะเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคภายในประเทศ เพราะข้าวที่เก็บในสต็อกคำนวณจากส่วนที่เหลือบริโภคภายในประเทศแล้ว เป็นมาตรการเก็บไว้สำรองหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น เช่น สงครามหรือภัยแล้งรุนแรง
ส่วนปัญหาข้าวในประเทศจะราคาสูงขึ้นนั้นนางลัดดาวัลย์ เชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้น
หากคำนวณราคาข้าวสารที่ขายในประเทศถุงละ 5 กิโลกรัม ปัจจุบันจะขึ้นมาประมาณถุงละ 5 บาทเท่านั้น และคนไทยปกติกินข้าววันละ 300 กรัม หรือมื้อละ 100 กรัม ก็จะจ่ายเพิ่มอีกแค่ 10 สตางค์ต่อมื้อเท่านั้น ถ้าหากพ่อค้าข้าวขึ้นราคาขายข้าวสารในประเทศมากกว่านี้ก็ถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภค สำหรับราคาปุ๋ยที่พุ่งสูงถึงตันละ 2 หมื่นบาทนั้น สืบเนื่องมาจากช่วงที่ผ่านมามีการรณรงค์ให้ปลูกพืชทดแทนพลังงานกันมาก โดยเฉพาะที่อินเดียและอินโดนีเซีย ทำให้ปีนี้ปุ๋ยที่ขายอยู่ทั่วโลกถูกประมูลไปแล้วกว่าร้อยละ 50 เพื่อรองรับตลาดกลุ่มนี้ วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือรณรงค์ให้ใช้ปุ๋ยชีวภาพมากกว่าปุ๋ยเคมี
ทั้งนี้ข้อมูลจากเว็บไซต์สมาคมโรงสีข้าวไทย ระบุรายงานราคาข้าวขายส่งตลาดกรุงเทพฯ ว่า
มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ราคาข้าวขาวร้อยเปอร์เซ็นต์ 1,340 บาทต่อ 100 กก. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ราคา 1,425 บาทต่อ 100 กก. วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ราคา 1,430 บาทต่อ 100 กก. วันที่ 5 มีนาคม ราคา 1,520 บาทต่อ 100 กก. วันที่ 12 มีนาคม ราคา 1,650 บาทต่อ 100 กก. และวันที่ 14 มีนาคม ราคา 1,750 บาทต่อ 100 กก.
ขณะที่ราคาส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศจากเว็บไซต์สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ ระบุราคาข้าวขาวร้อยเปอร์เซ็นต์ส่งออกในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ตันละ 466 ดอลลาร์สหรัฐ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ตันละ 510 ดอลลาร์สหรัฐ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ตันละ 529 ดอลลาร์สหรัฐ วันที่ 5 มีนาคม ตันละ 555 ดอลลาร์สหรัฐ วันที่ 12 มีนาคม ตันละ 604 ดอลลาร์สหรัฐ และวันที่ 14 มีนาคม ตันละ 604 ดอลลาร์สหรัฐ