ปราบตัวเรือดยังไม่หมดรถไฟไทยยังฉาวต่อ เจอฝูงแมลงสาบทำรังอยู่ใต้เบาะที่นั่งบนขบวนอุบลฯ-กรุงเทพฯ ทั้งตู้พัดลม-ตู้นอน ผู้โดยสารโวยเจ้าหน้าที่ทำได้แค่ใช้ยามาฉีด แถมบอกเป็นเรื่องปกติ แถมไปดูในเว็บไซต์พบร้องเรียนกันอื้อ โดยเฉพาะสายขึ้นเหนือ ส่วนสายใต้ก็เจอ
ขณะที่ปัญหาเรื่องตัวเรือดในเบาะที่นั่งบนรถไฟยังไม่ได้รับการแก้ไขจนเรียบร้อยรถไฟไทยก็มีเรื่องชวนขนลุกเกิดขึ้นอีก
ครั้งนี้เป็นฝูงแมลงสาบที่ยึดพื้นที่ใต้เบาะที่นั่งเป็นรัง แล้วออกมาเพ่นพ่านสร้างความรำคาญใจให้แก่ผู้โดยสาร เมื่อคืนวันที่16 มีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มผู้สื่อข่าวสายสิ่งแวดล้อม ที่เดินทางกลับจากการทำข่าววันหยุดเขื่อนโลก และรำลึกการจากไปของ น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ครบ 100 วันที่ จ.อุบลราชธานี ได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยใช้บริการรถไฟขบวนที่ 68 ชั้น 2 อุบลราชธานี-กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นรถนอน ติดพัดลม
ผู้สื่อข่าวกลุ่มดังกล่าวได้เดินทางไปขึ้นรถไฟก่อนรถออกจากสถานีอุบลราชธานีประมาณ45 นาที
ระหว่างนั่งรออยู่ สังเกตเห็นแมลงสาบตัวเล็กๆ 3-4 ตัววิ่งออกมาจากใต้เบาะที่นั่ง จึงพูดล้อเล่นกันว่า รถไฟขบวนนี้ไม่มีตัวเรือดมีแต่แมลงสาบ จากนั้นช่วยกันปัดแมลงสาบ 3-4 ตัวนั้นออกไป แต่ต่อมาอีกไม่นานก็มีแมลงสาบขนาดเท่าเดิมอีก 10-20 ตัววิ่งออกมาจากใต้เบาะที่นั่ง ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งในกลุ่มจึงลงจากรถไฟไปแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าให้ช่วยจัดการแมลงสาบให้ด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็รับปากจะขึ้นไปจัดการให้ แต่รออีกพักใหญ่ก็ยังไม่มีใครมาจัดการ เมื่อไปแจ้งเจ้าหน้าที่อีกครั้งก็ได้รับคำตอบเพียงว่ากำลังดำเนินการแก้ไขอยู่
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า
ขณะที่รออยู่บนรถไฟ เจ้าหน้าที่ก็เดินผ่านไปมาอยู่ตลอด หลังจากเอ่ยปากขอร้องอีกครั้ง ก็มีพนักงานทำความสะอาดเอาไม้กวาดมากวาดแมลงสาบส่วนหนึ่งออกไป แต่เมื่อถูกทักท้วงจากผู้สื่อข่าวและผู้โดยสารคนอื่นว่า มีรังแมลงสาบอยู่ใต้เบาะให้ไปหายามาฉีด เพราะแค่กวาดออกไปเดี๋ยวจะออกมาอีก พนักงานของรถไฟอีกคนที่มาสมทบบอกว่า เป็นเรื่องปกติที่มีแมลงสาบ รถไฟขบวนไหนๆ ก็มีแมลงสาบทั้งนั้น และยังบอกอีกว่า รถไฟขบวนนี้ไปจอดที่สถานีกรุงเทพฯ นาน แมลงสาบอาจจะขึ้นมาจากกรุงเทพฯ ก็ได้
อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้สื่อข่าวได้ถามเจ้าหน้าที่รถไฟย้ำเป็นครั้งที่ 3 ว่า จะมาจัดการแมลงสาบให้หรือไม่
ก็ได้รับคำตอบเช่นเดิมว่ากำลังหาวิธีอยู่ จนกระทั่งรถไฟเคลื่อนออกจากสถานีอุบลราชธานี ก็ยังไม่มีใครมาจัดการ แต่มีเจ้าหน้าที่รถไฟคนหนึ่งมาแจ้งว่า ได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่สถานีถัดไปให้นำยาฆ่าแมลงมาฉีดให้แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
เมื่อรถไฟมาถึงสถานีกันทรารมย์ มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งถือกระป๋องยาฆ่าแมลงมาฉีดไล่แมลงสาบให้จนหมดกระป๋อง ปรากฏว่ามีแมลงสาบตัวเล็กจำนวนมากวิ่งหนีตายออกมาจากเบาะที่นั่ง จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็กลับไป อย่างไรก็ตาม มีผู้โดยสารที่ไปล้างหน้าที่อ่างล้างหน้าบนรถไฟมาบ่นว่า บริเวณอ่างล้างหน้าก็มีแมลงสาบจำนวนมากวิ่งไปวิ่งมาอยู่ด้วย
น.ส.คิมไชยสุขประเสริฐ อายุ 24 ปี ผู้โดยสารขบวนรถไฟเที่ยวเดียวกัน กล่าวว่า
ได้ที่นั่งเลขที่ 25 โบกี้ที่ 8 เป็นรถไฟชั้น 2 ประเภทตู้นอน ได้ที่นอนด้านล่าง ขณะที่นั่งอยู่บนรถไฟเพื่อรอรถไฟออกเดินทางในเวลา 18.30 น. ก็เห็นแมลงสาบวิ่งออกมาจากบริเวณด้านข้างของตู้รถไฟประมาณ 3-4 ตัว ตอนนั้นรู้สึกตกใจกลัวมาก แต่เมื่อตั้งสติได้จึงใช้กระดาษชำระหยิบแมลงสาบและโยนทิ้งออกไปนอกหน้าต่าง ต่อมาขณะรถไฟกำลังจะเคลื่อนขบวนออกเดินทาง พบแมลงสาบอีกประมาณ 10-20 ตัว วิ่งออกมาจากบริเวณด้านข้างของตู้รถไฟ ตนจึงตัดสินใจแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำสถานีอุบลราชธานีให้เข้ามาตรวจสอบและดำเนินการกับแมลงสาบ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบกลับบอกว่า พบแมลงสาบบนรถไฟเป็นเรื่องปกติ
หลังจากแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาจัดการกับแมลงสาบที่พบก็ยังไม่มีใครเข้ามาดำเนินการอะไร
จึงตัดสินใจลงจากรถไฟ เพื่อไปแจ้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสถานีรถไฟอุบลราชธานี ซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่กำลังนั่งคุยโทรศัพท์อยู่ภายในห้อง แต่เมื่อได้บอกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวกลับทำสีหน้าไม่พอใจและบอกว่าจะเร่งดำเนินการให้ หลังจากรถไฟเคลื่อนขบวนออกจากสถานีอุบลราชธานี มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่บนรถไฟนำยาฆ่าแมลงมาฉีดบริเวณด้านข้างของตู้และใต้เบาะนั่ง สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อยากให้เจ้าหน้าที่เอาใจใส่และทำความสะอาดตู้รถไฟให้มากขึ้น เนื่องจากรถไฟถือเป็นทางเลือกอันดับต้นที่ประชาชนใช้บริการในการเดินทาง น.ส.คิม กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
จากการค้นหาข้อมูลจากเว็บบอร์ด www.railway.co.th/seatcheck/guest/webboards ก็มีการโพสต์ข้อความร้องเรียนจากผู้โดยสารจำนวนมาก ว่าในตู้รถไฟมีปัญหาแมลงสาบมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรถไฟสายเหนือ ในขบวนรถไปเชียงใหม่ ส่วนสายใต้ เช่น ขบวนรถที่ไปหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขบวนรถที่ไปยะลา ซึ่งส่วนใหญ่ บอกว่าบนฟูกที่นอนมีลูกแมลงสาบ อีกทั้งยังมีแมลงสาบเพ่นพ่านในขบวนรถด้วย
ส่วนการแก้ปัญหาตัวเรือดในรถไฟนั้นนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคส่งเจ้าหน้าที่ 8 คน มี นพ.ศิริศักดิ์ วรินทราวาท รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นหัวหน้าทีม เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาตัวเรือดในเบาะรถไฟ ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง
"เรื่องนี้ผมมีวิธีการกำจัดที่ดีกว่าการใช้สารเคมีฉีดพ่น เพราะอาจหลงเหลือไข่ของตัวเรือดอยู่ และอาจมีปัญหาขึ้นใหม่ได้ ผมเคยไปดูวิธีกำจัดโดยใช้แก๊สอบ โดยกำหนดอุณหภูมิที่พอเหมาะ จะเป็นวิธีการกำจัดตัวเรือดให้หมดไปได้ดีกว่า กรณีของตู้รถไฟนั้นอาจสร้างเป็นห้องอบแก๊สแบบแคปซูลขนาดใหญ่ และนำตู้รถไฟเข้าไปอบในห้องนั้น ซึ่งจะกำจัดได้ทุกซอกทุกมุมของตัวรถไฟ" นายไชยา กล่าว
นพ.ศิริศักดิ์กล่าวว่า
การกำจัดตัวเรือดครั้งนี้ กรมควบคุมโรคจะเสริมให้ได้ผลดียิ่งขึ้น โดยจะใช้ 2 วิธีควบคู่กัน ได้แก่ การฉีดพ่นสารเคมี และการอบ หรือรมควันด้วยสารเคมี น้ำยาที่ฉีดพ่นจะใช้อัลฟาไซเปอร์เมทริน (Alphacypermetrine) ความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ ผสมน้ำในอัตรา 60 ซีซีต่อน้ำ 7 ลิตรครึ่ง หลังฉีดพ่นตัวเรือดที่สัมผัสสารเคมีจะตายภายในเวลา 2 นาที ฤทธิ์ของยาจะทำลายระบบประสาทของเลือด แต่ไม่สามารถกำจัดเรือดได้ทั้งหมด จะต้องใช้การอบรมควันด้วยสารเคมีที่มีชื่อว่าเดลต้าเมทริน (Deltametrine) ความเข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ โดยผสมกับน้ำมันดีเซล 49 ส่วนต่อสารเคมี 1 ส่วน ใช้อบนาน ครึ่งชั่วโมงจะทำให้ตัวเรือดตาย ขณะอบจะต้องปิดหน้าต่างรถไฟ สารเคมีทั้งสองตัวไม่เป็นอันตรายต่อคน และไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การกำจัดตัวเรือดจะต้องทำทุก 7 วัน และมีการสำรวจทุก 2-4 สัปดาห์ โดยดูทั้งตัวเรือดและไข่ว่ายังมีอยู่หรือไม่ หากยังพบก็ต้องกำจัดต่อไป
รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวด้วยว่า
ตัวเรือดเป็นแมลงขนาดเล็ก ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ตัวเมียวางไข่ได้ประมาณ 150-200 ใบ ตามร่อง หรือรอยแตกของไม้ ไข่มีลักษณะเป็นสีครีม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ที่อุณหภูมิ 23 องศาเซลเซียส การเจริญเติบโตขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ อาหาร และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จะกลายเป็นตัวโตเต็มวัย 8-13 สัปดาห์ ตัวเรือดมีอายุยืนยาว ชอบดูดกินเลือดทั้งคนและสัตว์เป็นอาหาร ออกหากินในเวลากลางคืน ผู้ถูกกัดจะรู้สึกคันบริเวณที่ถูกกัด บางรายเป็นผื่นแพ้ ควรรีบล้างแผลที่ถูกกัดให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ แล้วใช้ยาปฏิชีวนะ หรือครีมทาบริเวณที่ถูกกัด แต่ถ้ามีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์ สำหรับประชาชนทั่วไปขอให้ดูแลรักษาบ้านเรือนให้สะอาดเพื่อป้องกันตัวเรือดอาศัยแหล่งที่พบตัวเรือดมากคือ สถานที่ที่ค่อนข้างสกปรก ตัวเรือดมักอาศัยอยู่ในที่นอน ซอกเตียง เก้าอี้ ซอกหลืบ และรอยแยกตามอาคาร ดังนั้นควรซ่อมแซมบริเวณรอยแตกร้าวของอาคารไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัย