เลี้ยงสัตว์แปลกเสี่ยงโรคฟันแทะพบทูลารีเมียรายแรก

ทั้งกระต่าย หนู โค สุนัข เข้าสู่ร่างกายคนได้ทุกทาง ระบุผู้ป่วยตายไม่ทราบสาเหตุก่อนส่งเลือดไปตรวจที่สหรัฐ ยืนยันเป็นแบคทีเรียก่อโรคชนิดนี้ ปศุสัตว์ลุยเจาะเลือดสัตว์รอบบริเวณบ้าน หวั่นเชื้อลุกลาม เผยเดิมเป็นโรคแถบอเมริกา-ยุโรป ต้นเหตุเข้าไทยจากพวกนิยมสัตว์นำเข้า

นพ.ธวัชสุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า 

มีการตรวจพบ โรคทูลารีเมีย (Tularemia) เป็นครั้งแรกในเมืองไทย โดยเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2550 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แจ้งมีผู้ป่วยเสียชีวิตติดเชื้อแบคทีเรียฟรานซิสเซลลาทูลาเรนซิส (Francisella tularensis) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัสชนิดหนึ่งซึ่งในเมืองไทยยังไม่เคยพบผู้ป่วยหรือการติดเชื้อชนิดนี้ในคน
 

นพ.ธวัชกล่าวอีกว่า

กรมควบคุมโรคจึงดำเนินการสอบสวนโรค พบว่าผู้เสียชีวิตเป็นชายวัย 35-40 ปีเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ และรับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง เริ่มรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 โดยผู้ป่วยมีไข้เป็นระยะๆประมาณวันที่ 18 กันยายน ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล ต่อมาวันที่25-30 กันยายน ผู้ป่วยเริ่มมีไข้สูงมีอาการขาบวม และเข้ารับการรักษาที่ รพ.ศิริราช

จนวันที่14 ตุลาคมผู้ป่วยมีอาการไม่ดี แพทย์ทำการเจาะเลือด พบเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นบาซิลลัสตัวใด ต่อมาไม่นานผู้ป่วยเสียชีวิตลง แพทย์ได้ส่งเลือดไปตรวจที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ทหาร  รพ.พระมงกุฎเกล้าซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยังไม่ยืนยันผลชัดเจน แต่รู้ว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัสแน่นอน
 

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวอีกว่า

มีการส่งตัวอย่างไปตรวจยืนยันผลทางห้องปฏิบัติการที่สหรัฐอเมริกา ได้รับการยืนยันผลเมื่อไม่นานนี้ว่า มีความเป็นไปได้มากกว่า 99% ที่จะเป็นเชื้อฟรานซิสเซลลาทูลาเรนซิส ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย ถือเป็นครั้งแรกที่พบผู้ป่วยโรคนี้และเชื้อชนิดนี้ในประเทศไทย โดยเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะพบในสัตว์ฟันแทะและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา
 

นพ.ธวัชกล่าวด้วยว่า

หลังทราบผลการตรวจยืนยัน สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ลงไปสอบสวนโรคที่บ้านและครอบครัวของผู้ตายพบว่า ไม่มีประวัติการรับประทานอาหารดิบๆ สุกๆ การเล่นคลุกคลีกับสัตว์ไม่แน่ชัด แต่ในละแวกบ้านมีการเลี้ยงโค สุนัข และมีแมวจรจัดค่อนข้างมาก เบื้องต้นสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำการเจาะเลือดโคและสุนัข ตรวจหาเชื้อ และค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ด้วยการสัมภาษณ์และเจาะเลือด รวมทั้งดักจับหนูทั้งในบ้าน รอบบ้านของผู้ป่วยและเพื่อนบ้าน เพื่อตรวจการติดเชื้อจากตับ ม้าม ปอดของหนูที่ดักได้ เก็บเห็บหมัด และเจาะเลือดเพื่อตรวจวิเคราะห์ โดยจะส่งตัวอย่างทั้งหมดไปตรวจที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ทหารของสหรัฐ คาดว่าจะทราบผลเร็วๆ นี้
 

น.สพ.พลายยงค์สการะเศรณี นายสัตวแพทย์ 9 กลุ่มงานโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนกรมควบคุมโรค กล่าวว่า 

โรคดังกล่าวเดิมพบในสัตว์ฟันแทะ โดยเฉพาะกระต่าย ในต่างประเทศบางครั้งเรียกว่า แรบบิท ฟีเวอร์ หรือไข้กระต่ายซึ่งมีพวกที่นิยมสัตว์เลี้ยงบางกลุ่มนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงในเมืองไทย อาจเป็นไปได้ที่เชื้อจะติดมากับสัตว์ แต่ในเมืองไทยยังไม่มีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจเชื้อดังกล่าวได้ 

น.สพ.พลายยงค์กล่าวด้วยว่า

เมื่อมีคนป่วย ถ้าแพทย์ไม่สงสัยก็จะลงสาเหตุการเสียชีวิตว่า เป็นไข้ไม่ทราบสาเหตุ แต่จริงๆ แล้วอาจเป็นเชื้อชนิดใดก็ได้ สำหรับเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัสชนิดนี้ สามารถเข้าสู่รางกายคนได้หลายทางและจะแสดงอาการตามช่องทางที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย เช่น ถ้าติดมาจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน ก็จะมีอาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย อาเจียน อาหารเป็นพิษอย่างรุนแรง ถ้าติดทางการหายใจ ก็จะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจล้มเหลว ปอดบวม ปอดอักเสบ หรือถ้าติดทางผิวหนัง ก็จะทำให้มีแผลอักเสบ เรื้อรัง รักษาไม่หาย และสุดท้ายเชื้อโรคก็จะเข้าสู่กระแสโลหิต ทำให้โลหิตเป็นพิษ และเสียชีวิต
 

"สิ่งที่อยากจะเตือนบรรดาผู้ที่รักสัตว์ โดยเฉพาะการนำสัตว์เลี้ยงทั้งที่แปลกและไม่แปลกเข้ามาจากต่างประเทศ ควรที่จะต้องมีการป้องกันโดยการตรวจสอบเอกสารรับรองการปลอดโรคของสัตว์ทั้งจากต่างประเทศ และด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศของไทย เพื่อให้แน่ใจว่าสัตว์ที่นำเข้ามานั้นไม่มีเชื้อโรคชนิดใดติดมาด้วย และอย่านิ่งนอนใจ ถ้าเห็นว่าสัตว์ไม่ป่วยจะมีเชื้อโรคได้อย่างไร ตรงนี้ต้องระวังมาก เพราะเชื้อโรคบางอย่างเมื่ออยู่ในตัวสัตว์จะไม่แสดงอาการ แต่เมื่อถ่ายทอดมาสู่คน คนจะมีอาการป่วย การคลุกคลีหรือเล่นกับสัตว์ต้องระมัดระวัง ล้างมือ ทำความสะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ จะทำให้ปลอดภัยมากขึ้น" น.สพ.พลายยงค์กล่าว 


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์