ธนาคารโลกร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
เปิดตัวรายงานสถานการณ์เยาวชนไทยในปัจจุบัน ที่สถาบัน ศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม โดยระบุสาเหตุของการเสียชีวิตของเยาวชนชายอันดับหนึ่งคือ อุบัติเหตุ รองลงมาคือ ติดเชื้อเอชไอวี ขณะที่เยาวชนหญิงสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง ติดเชื้อเอชไอวี และอุบัติเหตุ โดยเยาวชนมีการเสพสุรา สูบบุหรี่ การใช้ยาเสพติดประเภทต่างๆ และการมีเพศสัมพันธ์ด้วยอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ แต่สถิติการใช้ถุงยางอนามัยมีเพียงร้อยละ 10-30 เท่านั้น ส่งผลให้เยาวชนหญิงมีอัตราการตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้น โดยเยาวชนหญิงอายุ 15-19 ปี ตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นจากในปี 2542 มีร้อยละ 31.8 เป็นร้อยละ 47.3 ในปี 2547
การศึกษารายงานระบุว่า เยาวชนไทยได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และในระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย
แต่คุณภาพของการเรียนการสอนอยู่ในระดับต่ำ ทักษะและความรู้ความเข้าใจต่อวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ยังมีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ผ่าน ส่วนระดับอาชีวะหลักสูตรไม่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน ในรายงานยังเสนอแนะด้วยว่า หน่วยงานรับผิดชอบนโยบายด้านเยาวชนควรมีการประสานงานกัน และปรับปรุงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนให้เป็นนโยบายของภาครัฐ ไม่ใช่เป็นเพียงนโยบายของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง
นางกานดา วัชราภัย รองปลัด พม. กล่าวว่า
ปัจจุบันเด็กไทยอายุ 6-24 ปี จำนวน 15,750,000 คน อยู่ท่ามกลางสังคมแก่งแย่งชิงดี และเกิดความเครียดจากการแย่งกันเรียน แย่งกันสอบ จนลืมคุณธรรมจริยธรรม จากการสำรวจรายงานสถานการณ์เด็กและเยาวชนช่วงปี 2547-2550 ของสำนักส่งเสริมและพิทักษ์เยาวชน พบ อาทิ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่