บิ๊กศธ.ชี้สอบโอเน็ต-เอเน็ตคราวหน้า ห้ามใส่เครื่องประดับทุกชนิดเข้าห้องสอบเด็ดขาด หวั่นถูกแอบ แฝงด้วยเทคโนโลยี สมัยใหม่ ด้านรมช.ศธ.เผยส่งรายชื่อ 2 น.ศ.ให้มหา"ลัย ต้นสังกัดลงโทษแล้ว หลังถูกจับโกงข้อสอบ ยันยังไม่ใช้วิธีสแกนตัวผู้เข้าสอบเพราะใช้งบสูง แต่จะป้องกันวิธีอื่น ระบุไปตรวจสนามสอบพบป้องกันดีอยู่แล้ว แต่เด็กก็พยายามโกง ขณะที่สทศ.สรุปยอดผู้ทุจริตสอบโอเน็ตทั่วประเทศจาก 18 แห่ง 7 ราย ที่ศูนย์จุฬาฯ 6 ราย และมอ. 1 ราย
จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) พบนักเรียนทุจริตการสอบการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง หรือเอเน็ต ประจำปีการศึกษา 2550
เมื่อวันที่ 8-9 มี.ค.ที่ผ่านมา 2 ราย ที่สนามสอบโรงเรียนหอวัง และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยผู้สอบที่โรงเรียนหอวังรับเอสเอ็มเอสจากเพื่อนที่สอบอยู่ที่สนามสอบมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในวิชาวิทยาศาสตร์ 2 แต่ถูกเจ้าหน้าที่จับได้ตามที่เสนอไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า
จากการตรวจสอบพบว่าผู้ที่ทุจริตการสอบเอเน็ตทั้ง 2 รายเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ทางกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) จะให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ส่งรายชื่อนักศึกษาทั้ง 2 รายไปยังมหาวิทยาลัยดังกล่าวเพื่อพิจารณาลงโทษ สำหรับการสอบครั้งต่อไปจะนิมนต์พระมาเทศนาเพื่ออบรมขัดเกลาจิตใจให้เด็กรู้ซึ้งถึงศีลธรรมและละอายต่อการกระทำผิด ส่วนการสแกนตัวนักเรียนก่อนเข้าห้องสอบนั้น ต้องใช้งบประมาณสูงมาก จึงอยากให้หาวิธีการป้องกันแบบอื่น เพื่อไม่ต้องใช้งบประมาณสูง และจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม พบว่าแต่ละสนามสอบมีวิธีการป้องกันดีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องหาทางป้องกันจากเด็กมากกว่า เพราะหากมีการพบทุจริตบ่อยครั้งหรือพบตั้งแต่อายุเท่านี้ พฤติกรรมนี้ก็จะติดตัวไปในระดับอุดมศึกษา และชีวิตการทำงานต่อไป การเข้าไปพูดคุยกับเด็กจะทำให้ทราบว่าปัญหาที่แท้จริงในการทุจริตคืออะไร เพื่อเป็นการป้องกันในระยะยาว
นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) กล่าวว่า
สกอ.ได้กำหนดข้อปฏิบัติสำหรับผู้เข้าสอบอย่างชัดเจน และประกาศให้ผู้เข้าสอบทุกคนทราบแล้ว กรณีดังกล่าวเข้าข่ายทุจริต ซึ่งกรรมการคุมสอบหรือคณะกรรมการดำเนินการสอบจะบันทึกไว้ที่กระดาษคำตอบ โดยผู้สอบอาจไม่ทราบก็ได้และจะไม่พิจารณาตรวจกระดาษทุกรายวิชา นอกจากนี้จะตัดสิทธิ์การสมัครเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางหรือแอดมิชชั่น เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งบทลงโทษนั้นมีมติสุดแท้แต่อธิการบดีของมหาวิทยาลัยเอกชนจะดำเนินการตามกฎระเบียบ
ด้านนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวถึงปัญหาการทุจริตการสอบโอเน็ตและเอเน็ตที่เกิดขึ้นว่า
ตนติดตามและพยายามหาทางป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก โดยกำชับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหาแนวทางป้องกันอย่างเข้มงวดแล้ว ซึ่งเด็กทั่วประเทศมีหลายล้านคน และเด็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ในการทุจริตสอบ ดังนั้นถึงแม้จะจับตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ แต่ในใจของผู้กระทำจะเกิดความรู้สึกผิดตลอดเวลา เพราะการสอบผ่านมาด้วยการทุจริต จะไม่มีความภาคภูมิใจแน่นอน ตนไม่อยากให้เด็กทำลายอนาคตตัวเองด้วยวิธีนี้ และอยากฝากถึงครู อาจารย์ และผู้ปกครองให้เร่งปลูกฝังจิตสำนึกของเด็กเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบต่อตนเอง ตลอดจนการมีคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งอยากให้ครูแนะแนวเน้นย้ำถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากนักเรียนทุจริตการสอบ
"หลังจากเกิดปัญหาการทุจริตสอบโอเน็ตและเอเน็ตขึ้น ครูตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวมาก เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่มีมากขึ้นจนทำให้ครูตามไม่ทัน ทั้งนี้คิดว่าต่อไปการสอบโอเน็ต เอเน็ตควรจะห้ามไม่ให้นักเรียนใส่เครื่องประดับ อาทิ ต่างหู กำไล เป็นต้น เข้าห้องสอบอย่างเด็ดขาด เพราะไม่แน่ใจว่าต่อไปอาจจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัยมากกว่าขึ้น" นายสมชายกล่าว
ด้านนางอุทุมพร จามรมาน ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) กล่าวว่า
ขณะนี้ศูนย์สอบทั้ง 18 แห่งรายงานผลสรุปการสอบโอเน็ตมาที่สทศ. แล้ว โดยศูนย์สอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นศูนย์สอบสุดท้ายที่รายงานเข้ามา ซึ่งไม่พบว่าทุจริตแต่อย่างใด ฉะนั้นการจัดสอบโอเน็ตปี 2550 มีทุจริตเพียง 7 ราย ได้แก่ ศูนย์สอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6 ราย และศูนย์สอบมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 1 ราย สำหรับความคืบหน้าการสอบสวนกรณีทุจริตการสอบโอเน็ตโดยใช้นาฬิกามือถือนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ได้ทำหนังสือไปถึงบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เพื่อขอความช่วยเหลือตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่เด็กใช้ทุจริต ส่วนในการจัดสอบโอเน็ตปีหน้าคงจะต้องเข้มงวดให้มากขึ้น โดยจะกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับผู้คุมสอบอย่างชัดเจน และเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งต้องติดตามข่าวสารเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น สร้อยข้อมือ สร้อยคอ ต่างหู เป็นต้น เพราะในอนาคตอาจจะใช้สิ่งเหล่านี้กระทำการทุจริตก็ได้