ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) พยายามคุมเข้มการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง หรือ เอเน็ต จัดสอบมาตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันนักเรียนกระทำการทุจริตในการสอบ หลังจากที่ก่อนหน้า มีการจับทุจริตการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ไปหมาดๆ ถึง 6 ราย มีการปรับให้ตกทุกวิชา และตกเฉพาะในวิชาที่สอบไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ซึ่งเป็นการสอบเอเน็ตวันสุดท้าย เมื่อการสอบเสร็จสิ้นลงในช่วงเย็น นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า
ภาพรวมการจัดสอบเอเน็ต ประจำปีการศึกษา 2551 มีผู้เข้าสอบจำนวน 194,597 คน ได้รับรายงานว่า พบเหตุทุจริตการสอบ 2 ราย ระหว่างการสอบวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งสอบวันที่ 9 มี.ค. เวลา 08.30-11.30 น.โดยรับส่งเอสเอ็มเอสระหว่างกันจากที่สนามสอบ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ส่งให้กับผู้สอบที่สนามสอบโรงเรียนหอวัง ซึ่งกรรมการผู้คุมสอบที่โรงเรียนหอวัง จับผู้ที่รับเอสเอ็มเอสได้ ซึ่งจากการสอบสวนพบว่า ผู้สอบที่โรงเรียนหอวังสารภาพว่ารับข้อความจากเพื่อนที่อยู่สนามสอบ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งสอบวิชาวิทยาศาสตร์เสร็จ และออกจากห้องสอบก่อน โดยผู้สอบที่โรงเรียนหอวัง นำโทรศัพท์ มือถือเข้าห้องสอบมากกว่า 1 เครื่อง โดยนำเครื่องหนึ่งปิดเครื่อง และวางไว้ใต้เก้าอี้นั่งของตนเองตามระเบียบ ส่วนอีกเครื่องซุกซ่อนไว้ เพื่อรับเอสเอ็มเอสจากเพื่อน เมื่อเพื่อนส่งข้อความมา ก็พยายามหยิบโทรศัพท์มาดูข้อความ ทำให้กรรมการคุมสอบพบว่ามีพิรุธ และจับได้ในที่สุด
เลขาฯ กกอ.กล่าวว่า
กรณีดังกล่าวถือว่าทุจริต โดยทั้งสองคนจะถูกปรับตกทุกวิชาและตัดสิทธิสมัครสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในระบบแอดมิชชั่น 3 ปี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ทำผิดทั้ง 2 คน เป็นนักศึกษาที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยแล้ว กำลังขึ้นชั้นปีที่ 2 ซึ่งคงไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ได้ แต่สำหรับมหาวิทยาลัยเดิมนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณา คงต้องขอเวลาก่อน ส่วนสนามสอบต่างจังหวัด ไม่ได้รับรายงานเหตุผิดปกติ
ส่วนความคืบหน้ากรณีการสืบหาต้นตอและขบวนการโกงการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต
ซึ่งใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นนาฬิกาข้อมือ รับส่งข้อความขนาดสั้นหรือเอสเอ็มเอส และถูกจับได้ แต่เจ้าตัวยังปฏิเสธไม่ยอมบอกว่าใครคือผู้ส่งเอสเอ็มเอสให้ ขณะที่บอร์ด สทศ. มีมติลงโทษปรับตกทุกวิชา และให้มืออาชีพเข้ามาช่วยสืบสาวหาขบวนการโกงสอบโอเน็ตนั้น ในวันเดียวกัน นางอุทุมพร จามรมาน ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์สอบทั้ง 18 ศูนย์รายงานผลการจัดสอบโอเน็ตมาแล้ว 17 ศูนย์ และมีรายงานกรณีทุจริตเพิ่ม 1 ราย ที่ศูนย์สอบ ม.สงขลานครินทร์ เป็นกรณีเปิดโทรศัพท์มือถือและมีสายเรียกเข้า ซึ่งกรรมการคุมสอบพิจารณาแล้วปรับตกในวิชานั้น เนื่องจากได้เตือนก่อนเข้าสอบแล้ว ปีนี้ยอมรับว่าไม่ทราบจริงๆว่า เด็กๆจะใช้เครื่องมือไฮเทคมาโกงการสอบ ซึ่งทำให้เราตื่นตัวมากขึ้น และมีผู้หวังดีเตือนมาว่า ปีหน้าให้ระมัดระวังเครื่องมือสื่อสารที่มาในรูปของสร้อยคอและตุ้มหู ซึ่งหากมีการทำกันถึงขนาดนั้น อาจต้องสแกนตัวนักเรียนก่อนเข้าห้องสอบ ซึ่งไม่อยากให้ต้องถึงขั้นนั้น เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องเร่งสร้างจิตสำนึกให้เด็กเห็นว่าการทุจริตการสอบเป็นเรื่องที่ผิด ทั้งนี้ มีเด็กนักเรียนตั้งกระทู้วิจารณ์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งน่าดีใจที่เด็กๆ ไม่เห็นด้วยและตำหนิพวกโกงข้อสอบ
“สทศ.มอบหลักฐานซึ่งเป็นเอกสารจำนวน 15 หน้าเป็นผลการสอบสวนเด็กเบื้องต้นที่ศูนย์สอบจุฬาฯสอบสวนเด็ก เป็นข้อมูลเกี่ยวกับเบอร์โทรศัพท์ที่ปรากฏบนหน้าจอของเด็ก เวลาที่ได้รับข้อความ ซึ่งขณะนี้ทราบแล้วว่าการส่งข้อความใช้เครือข่ายใดส่ง ก็ได้ประสานไปยังต้นสังกัด ของเครือข่ายนั้น เพื่อขอให้ตรวจสอบจุดที่มีการส่งข้อความ เชื่อว่าจะหาตัวคนส่งข้อความได้แน่นอน โดยผู้ส่งคำตอบจะต้องเป็นคนที่เข้าสอบโอเน็ตด้วย จึงจะเห็นข้อสอบและจำคำตอบออกมาส่ง เนื่องจากเราห้ามไม่ให้นักเรียนนำข้อสอบออกนอกห้องสอบ” นางอุทุมพร กล่าวและว่า นอกจากนี้ เด็กระบุว่าแม่เป็นคนซื้อโทรศัพท์ให้ แต่แม่ ไม่รู้เรื่องนี้ ทั้งบอกว่า เพิ่งได้นาฬิกามือถือมา ใช้ยังไม่ ค่อยเป็น และบอกด้วยว่า ไม่ทราบว่าทำไมมีเอสเอ็มเอสเข้ามา เพราะจู่ๆมีตัวเลขปรากฏขึ้นโดยไม่รู้ที่มา ทั้งนี้ กรรมการที่สอบสวนเบื้องต้นก็ไม่เชื่อ เพราะเอสเอ็มเอสไม่ได้เพิ่งปรากฏในวันที่จับได้ อย่างไรก็ตาม แม้เด็กจะถูกปรับตกทุกวิชา แต่ตนคิดว่า หากเด็กสำนึกผิดและจะไม่ทำผิดอีก สังคมก็ควรให้โอกาส แต่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็คงต้องเข้า ม.เอกชน เพราะไม่มีคะแนนโอเน็ตเพื่อเข้า ม.รัฐแล้ว
ผอ.สทศ.ยังกล่าวถึงกรณีที่อาจารย์จุฬาฯระบุว่าขบวนการโกงสอบโอเน็ตเป็นนิสิตระดับอัจฉริยะของคณะแพทย์และวิศวะ รวมถึงอาจมีการซื้อตัวผู้คุมสอบได้ว่า
เรื่องนิสิตขณะนี้ยังไม่สามารถบอกอะไรได้ และก็มั่นใจกรรมการคุมสอบ ซึ่งมีการคัดเลือกมาเป็นอย่างดี มีการกำกับหลายขั้นตอน จึงคิดว่าผู้คุมสอบไม่น่าจะร่วมทุจริตด้วย สำหรับมาตรการป้องกันการทุจริตการสอบในปีหน้านั้น ผอ.สทศ.กล่าวว่า จะต้องหารือกันทุกฝ่ายทั้งผู้คุมสอบ ฝ่ายไอซีที รวมไปถึงการหารือกับบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ช่วยแจ้งว่าเครื่องมือสื่อสารมีการพัฒนาไปถึงขั้นใดบ้าง พวกเราจะได้ตามทัน ที่สำคัญต้องช่วยกันปลูกฝังค่านิยมให้เด็กรับรู้และเข้าใจว่า สังคมไทยต้องการคนดีมีคุณธรรม มากกว่าคนเก่งแต่โกง และการโกงแม้จะจับไม่ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจ
จับ 2 นศ. โกง เอเน็ต ล้อมคอกเตือนปีหน้าระวังสร้อยคอ-ตุ้มหู
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ จับ 2 นศ. โกง เอเน็ต ล้อมคอกเตือนปีหน้าระวังสร้อยคอ-ตุ้มหู
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!