คุมเข้มเอเน็ต สกัดนร.ทุจริต

ตามที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือสทศ. ระบุว่าพบมีการนำนาฬิกามือถือ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ เข้ามาใช้ทุจริตในการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) โดยเป็นการส่งคำตอบทาง sms นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเมื่อ 5 มี.ค.ว่า

ปัญหาการทุจริตการสอบ สถาบันการศึกษาต่างๆมีความระมัดระวังอยู่แล้ว เข้าใจว่าเรื่องดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ถือเป็นประสบการณ์และบทเรียนให้กับครูผู้คุมสอบว่าไม่ควรประมาท ต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ต้องหาแนวทางป้องกันต่อไป แต่ไม่ใช่วัวหายแล้วล้อมคอก การจัดสอบโอเน็ตคิดว่าไม่ควรนำนาฬิกาเข้าห้องสอบ   แต่เรื่องนี้ให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอชมเชยอาจารย์ผู้คุมสอบว่ามีไหวพริบดี และสังเกตความผิดปกติได้ทัน ไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก เพราะจะส่งผลกระทบกับตัวของนักเรียนเอง ทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษา และอาจหมดอนาคตได้ ส่วนจะมีบทลงโทษกับนักเรียนผู้กระทำผิดอย่างไรนั้น เป็นหน้าที่ของ สทศ.
 

ส่วนนายบุญลือ ประเสริฐโสภา รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า

ยังไม่ได้รับรายงานเพิ่มเติมเรื่องทุจริตการสอบโอเน็ต ม.6 จาก ผอ.สทศ. ในการสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง หรือเอเน็ต ได้กำชับเลขาธิการ กกอ. ให้ดูแลเข้มงวดเป็นพิเศษ กับอุปกรณ์ไฮเทคโนโลยีที่สามารถนำเข้าห้องสอบได้ เช่น นาฬิกา เป็นต้น และขอย้ำให้ผู้เข้าสอบปิดโทรศัพท์มือถือตลอดเวลาที่เข้าสอบ แต่คงไม่ถึง กับห้ามนำเข้า เพราะจะเป็นภาระต่อผู้คุมสอบที่ต้องหาสถานที่เก็บมือถือเพื่อป้องกันการสูญหาย
 

ด้านนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า

 ได้ส่งหนังสือเวียนพร้อมรูปนาฬิกามือถือดังกล่าว ไปยังศูนย์สอบเอเน็ต 18 แห่งทั่วประเทศ ที่จะสอบในวันที่ 8-9 มี.ค.นี้ เพื่อกำชับให้ระมัดระวังการทุจริตที่มาในรูปแบบดังกล่าว และให้ดูแลนักเรียนที่เข้าสอบให้เข้มงวดขึ้น ในอนาคตอาจจะไม่อนุญาตให้ นักเรียนสวมนาฬิกาข้อมือเข้าห้องสอบเลย   เพื่อเป็นการแก้ปัญหา รวมทั้งโทรศัพท์มือถือที่ไม่ควรจะนำเข้าห้องสอบด้วย
 

นางศศิธร อหิงสโก ผอ.กลุ่มรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา กล่าวว่า

คู่มือการคุมสอบ ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีรายละเอียดที่ค่อนข้างรัดกุม โดยระบุว่า นักเรียนจะนำเครื่องมือสื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ เข้าห้องสอบไม่ได้ แต่ก็อะลุ้มอล่วยให้ เพราะโทรศัพท์มือถือแต่ละเครื่องมีราคาแพง หากวางไว้หน้าห้องสอบอาจหายได้ ก็อนุโลมให้นำเข้าห้องสอบ แต่ต้องปิดเครื่องและวางไว้ที่พื้นห้อง แต่หากโทรศัพท์มือถือดังและนักเรียนกดรับ จะถือว่ามีเจตนาทุจริต ก็จะปรับตกวิชานั้นหรือทุกวิชา แล้วแต่กรณีถ้าสายเข้าแต่ไม่รับแล้วแต่กรรมการจะพิจารณาเช่นกัน ในห้องสอบจะมีนักเรียนห้องละ 30 คน กรรมการคุมสอบ 2 คน กรรมการทุกคนก็เป็นผู้มีประสบการณ์เคยคุมสอบมานาน มีความเชี่ยวชาญและสังเกตสิ่งผิดปกติได้ดี
 
สำหรับกรณีนาฬิกามือถือนั้น ขณะนี้มีภาพและข่าวเผยแพร่ไปทั่วประเทศ

 เชื่อว่าครูจะทราบข่าวนี้กันทั่วถึงแล้ว สกอ.จะส่งหนังสือเวียนกำชับศูนย์สอบทั้ง 18 ศูนย์ทั่วประเทศ ให้กำชับกรรมการคุมสอบ ในแต่ละสนามสอบให้ตรวจตราให้เข้มงวดขึ้น พร้อมทั้งดูเรื่องนาฬิกามือถือที่เป็นข่าวด้วย หากพบนักเรียนสวมนาฬิกามือถือมา จะให้ถอดวางไว้ที่พื้นห้อง หรือกรรมการจะสั่งไม่ให้นำเข้าห้องก็ได้ เพราะถือว่าเป็นเครื่องสื่อสารประเภทหนึ่ง ที่ห้ามนำเข้าห้องสอบ
 

นายณัฐดิษฐ์ นันท์วิมลวุฒิ นักเรียน ม.5 โรงเรียนวัดราชบพิธ กล่าวว่า

นาฬิกามือถือรุ่นดังกล่าว กำลังเป็นที่สนใจในหมู่นักเรียน แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก เพราะเพิ่งจะนำเข้ามาในประเทศไทย ที่นักเรียนนำนาฬิกามือถือไปใช้ทุจริตในการสอบ เป็นการใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ผิด แต่ไม่เห็นด้วยหากจะมีการห้ามไม่ให้นักเรียนสวมใส่นาฬิกาเข้าห้องสอบ เรื่องนี้คงต้องให้อยู่ที่จิตสำนึกของเด็กแต่ละคน รวมทั้งการชี้แนะจากผู้ใหญ่ที่ต้องปลูก ฝังให้ลูกหลานเห็นว่า ทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ หากจะไปห้ามไม่ให้นักเรียนใส่เข้าสอบ หรือตัดสัญญาณโทรศัพท์ ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม เพราะอาจเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของนักเรียนคนอื่นๆ  ที่ไม่ได้มีเจตนาทุจริต


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์